5 เทรนด์ธุรกิจใหม่ที่น่าลงทุน - Forbes Thailand

หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวลงจากเหตุการณ์ COVID-19 แพร่ระบาด จนมาสู่การฟื้นตัวรีบาวด์ของสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกขึ้นมาในระยะสั้น จนเกิดเป็นคำถามที่นักลงทุนตั้งข้อสงสัยก็คือ การฟื้นตัวของราคาสินทรัพย์ทั่วโลกนั้นเป็นเพียงการปรับตัวรีบาวด์หรือเป็นขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง?

โดยทาง KTBST คาดว่าในปัจจุบัน ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวขึ้นจากสาเหตุ 3 ประการ

1.ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะที่มีแรงขายสูงจนเกินไป (Oversold) และการอัดฉีดสภาพคล่องของภาครัฐ

2.ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

3.การคาดการณ์การเปิดเศรษฐกิจให้กลับมาทำการใหม่อีกครั้ง (Reopening Economy)

จากประเด็นดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ย 20% จากจุดต่ำสุดจากประเด็นทั้ง 3 ข้อข้างต้น ประเด็นที่สำคัญต่อจากนี้ก็คือ ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่?

สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตราสารทุนนั้นจะถูกขับเคลื่อนมาจากผลกำไรของหุ้นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งปัจจุบันจากสถานการณ์ COVID-19 นั้นพบว่าธุรกิจในโลกนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้อย่างชัดเจนดังนี้

โดยทาง KTBST คาดว่าการประเมินการเจริญเติบโตนั้นจะแตกต่างกันออกไปในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 โดยใน 2 กลุ่มแรก คือ

1.) กลุ่มที่เสียประโยชน์ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งกล่าวดังกล่าวมีความจำเป็นจะต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาเปิดประเทศ (Reopening) เนื่องจากอิงรายได้จากนักท่องเที่ยว

ขณะที่ 2.) กลุ่มที่ต้องปรับตัว อย่างเช่นธุรกิจธนาคาร ค้าปลีกที่ไม่มีการทำการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) นั้น แม้ว่าจะมีการเติบโตตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่การถูกเปลี่ยนเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Disrupt) นั้นอาจไม่กระทบรุนแรงเท่ากับในกลุ่มแรก เนื่องจากมีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานทางระบบสารสนเทศไปบ้างแล้วในบางส่วน ดังนั้นในระยะสั้น-กลางจำเป็นจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อป้องกันภาวะการชะงักงันทางการเจริญเติบโตหากเกิดการปิดเศรษฐกิจ (Lock down) ขึ้นอีกครั้ง

สำหรับกลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์โดยตรงนั้นจะเป็นกลุ่มที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ “New economy” ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักกับกลุ่มธุรกิจที่ต้องปรับตัวและผลิตสินค้าตลอดจนบริการต่างๆ ให้กับผู้บริโภค (End-User) โดยประกอบไปด้วย

1.Work from home provider : กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนในระบบโปรแกรมการทำงาน (Software) สำหรับการทำงานที่บ้าน (Work from home) มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้าน Software, Cloud server ตลอดจนระบบการทำงานแบบออนไลน์บนระบบ Cloud

2.Mobilization workspace Trend : กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนในเครื่องมือและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ (Hardware) สำหรับทำงานที่บ้านมากยิ่งขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์, ระบบความปลดภัยด้านไอที (IT securities), ระบบโครงสร้างการสื่อสาร (Communication infrastructure)

3.E-commerce & Retailing : กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการถูกล็อคดาวน์ และมีการทำธุรกิจ (Business model) เป็นแบบสร้างรายได้ด้วยการพึ่งพากัน (Economics sharing) ตลอดจนภาคการขนส่ง

4.Digital healthcare & tech : กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากแพร่ระบาดของ COVID-19 จะมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแพลตฟอร์ม (Platform) และกลุ่มที่ทำอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ตลอดจนยารักษา และสินค้าจำพวกอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable device) เพื่อใช้ร่วมกับการติดตามอาการของโรคในอนาคตเพิ่มเติม

5.Lock-down leisure : กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจกรรมนอกบ้านที่ไม่ได้มาพร้อมกับภาคการบริโภค โดยจะอยู่ในรูปแบบของแพลตฟอร์ม และสตรีมมิ่งผ่านการให้บริการด้วยระบบอินเทอร์เน็ต

โดยปัจจุบันพบว่าในช่วงที่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวรีบาวด์ขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตราสารทุนในกลุ่มเทคโนโลยี (ภาพล่าง) นั้นยังคงมีราคา (Valuation) ถูกกว่าตราสารทุนทั่วไปโดยเปรียบเทียบ (MSCI ACWI:ภาพด้านบน) และรูปแบบการปรับฐานมีลักษณะคล้ายกับช่วงปี 2008

อย่างไรก็ดี ทาง KTBST SEC มีมุมมองว่า แม้ว่าหุ้นในกลุ่มดังกล่าวจะดูมีราคาที่ถูกกว่าตราสารทุนโดยรวม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการปรับฐานในระยะสั้นหลังจากช่วงของการรายงานผลประกอบการสิ้นสุดลง ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะเกิดขึ้นได้หลังจากช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปหากไม่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซ้ำอีกครั้ง

ดังนั้น การลงทุนในเดือนพฤษภาคมทาง KTBST SEC ยังแนะนำให้ลงทุนในตราสารทุนน้อยกว่าตราสารหนี้ โดยเน้นลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเมื่อมีการปรับฐานและเน้นในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี คือ ตลาดหุ้นจีนในดัชนี A-share ซึ่งเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างจำกัด

โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ตลอดจนหลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตตามวัฏจักร (Cyclical sector)

ส่วนสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้แนะนำให้ลงทุนเท่ากับตลาด โดยเน้นการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดที่พัฒนาแล้ว และเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ตั้งแต่ระดับที่สามารถลงทุนได้ หรือ Investment grade ขึ้นไป ตลอดจนหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทที่ให้ผลตอบแทนสูงหรือ High yield

ขณะที่การลงทุนทางเลือก (Alternative asset) แนะนำลงทุนในทองคำ หากราคามีการปรับตัวลงในระดับที่ต่ำกว่า 1,700 เหรียญ จากผลบวกของนโยบายการอัดฉีดแบบไร้เพดาน (Unlimited QE) ของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ แนะนำให้นักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุนแบบป้องกันเงินต้น โดยเน้นการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ 65%-75% ในขณะที่ตราสารทุนนั้นไม่ควรมากกว่า 15-20% และสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ไม่ควรมากไปกว่า 5%-10%

    โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST SEC)
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine