ดูเหมือนจะไม่จบง่ายๆ สำหรับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างทั้งความตื่นตระหนกให้ผู้คนทั่วโลกและความปั่นป่วนในตลาดการเงิน
คนทั่วไปหันมาปรับวิถีการใช้ชีวิตอย่างไม่ทันตั้งตัว ไม่มีใครคิดว่าหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ ตลอดจนคำแนะนำการปฏิบัติตัวให้แข็งแรงจะเป็นเทรนด์ที่มาแรงในปีนี้
แน่นอนว่าการใช้ชีวิตด้วยความกังวลส่งผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ ปัจจัยเฉพาะของ COVID-19 คือเกิดขึ้นในช่วงท้ายวัฏจักรการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เริ่มรับรู้ในช่วงตรุษจีนและในประเทศจีนซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
เห็นได้ชัดถึงการคาดการณ์ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับการค้าขายระหว่างประเทศ เพราะจีนเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายรายใหญ่ การบริโภคในประเทศที่มีการแพร่ระบาด การท่องเที่ยวและเดินทาง ตลอดจนจิตวิทยาการลงทุน
สิ่งที่ยังไม่รู้คือการแพร่ระบาดจะขยายขอบเขตไปถึงไหน และจบลงเมื่อไหร่ รวมทั้งผลกระทบจริงๆ ต่อหน่วยเศรษฐกิจจะมากน้อยแค่ไหน
กระนั้นก็ตาม ความกลัวสะท้อนชัดๆ บนกระดานหุ้นทั้งโลกที่ราคาตกต่ำบนการคาดการณ์ว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนจะลดลง สวนทางกับราคาทองคำและพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี และ 30 ปี ลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับทองคำที่ราคาพุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สำนักข่าว CNN จัดทำ Fear & Greed Index ใช้วัดว่าตลาดหุ้นกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยความหวาดกลัว (Fear) ซึ่งจะนำไปสู่แรงเทขายหรือความโลภ (Greed) ที่จะช่วยหนุนราคาหุ้น จากเกณฑ์ 0-100 โดย 0 คือนักลงทุนกลัวที่สุด 50 คือค่ากลาง และ 100 คือ นักลงทุนมีความโลภสูงสุด
ปัจจุบัน Fear & Greed Index อยู่ที่กรอบ 20-25 บ่งชี้ถึงแนวโน้มราคาหุ้นโลกมีโอกาสย่อตัวลงจากความกลัว สอดคล้องกับ VIX Index ที่ใช้วัดความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ แตะระดับ 44.6 เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังห่างกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 (80.9)
ทั้งนี้ หากใช้ราคาหุ้นเป็นมาตรวัดความรุนแรง การปรับลดลงในช่วง 5-15% ยังนับไม่ได้ว่านักลงทุนกลัวไปถึงวิกฤต แต่แสดงถึงความคาดหวังต่อแรงกระตุ้นเชิงนโยบายโดยเน้นไปที่เครื่องมืออย่างเต็มรูปแบบจากรัฐบาลจีน การลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก
รวมทั้งมาตรการสนับสนุนทางการคลัง ไม่ว่าจะเป็น งบใช้จ่ายภาครัฐหรือการลดภาษี ซึ่งตราบเท่าที่การแพร่ระบาดยังไม่หยุด นักลงทุนคงยังไม่วางใจ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสเกิดวิกฤตยังมีอยู่ ตลาดจะดิ่งลงหรือฟื้นขึ้นได้แรงตามข่าวรายวัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประสิทธิภาพของการรักษา คำเตือนเรื่องผลประกอบการ การกล่าวถึงเศรษฐกิจถดถอย และนโยบายจากธนาคารกลางและภาครัฐฯ
ไม่รู้ว่า COVID-19 จะถูกบันทึกเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2020 หรือไม่ ที่รู้คือ COVID-19 เป็นบททดสอบระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนหนึ่งๆ จะรับได้
หากที่ผ่านมานักลงทุนเลือกจัดพอร์ตตามผลงานของสินทรัพย์ที่สร้างกำไรดีในปีก่อนหน้า ต้นปีนี้ พอร์ตคงเต็มไปด้วยหุ้น ซึ่งภายในเวลาเพียง 9 วัน ตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) ลดลงทางเดียวถึง 11.5%
หากในช่วงเวลานั้น นักลงทุนปราศจากความกังวลและวันนี้ยังมีความสบายใจที่จะถือลงทุนต่อหรือซื้อเพิ่ม นับว่าเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและพร้อมรับผลตอบแทนเมื่อตลาดหุ้นฟื้น
อย่างไรก็ตาม หากในช่วงนี้มีหลากหลายคำถามวนไปมาในหัว เช่น ตลาดจะตกอีกมากไหม ตกถึงเมื่อไหร่ ถ้าตลาดฟื้นจะได้ทุนคืนไหม ขายก่อนดีไหม ถ้าไม่มีใครบอกได้ว่าจะเห็นจุดต่ำสุดเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงพอร์ตที่ถืออยู่มีความเสี่ยงเกินตัวนักลงทุน และถึงเวลาที่ต้องทบทวนคาถาบทสำคัญของการลงทุน อันได้แก่
1) มีสภาพคล่องให้เพียงพอ
2) จัดพอร์ตลงทุนในกรอบความเสี่ยงที่เหมาะสมที่จะทำให้ไม่ตื่นตระหนกในช่วงตลาดผันผวนสูง และสบายใจที่จะถือลงทุนได้ในระยะยาวเพื่อสะสมผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง
3) มีการลงทุนส่วนหนึ่งในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้สม่ำเสมอ
4) วางเงินลงทุนส่วนหนึ่งในสินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ เพื่อลดภาวะอ่อนไหวจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาดระยะสั้นๆ
ปัจจุบัน ความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ตลอดจนเครื่องมือและกลยุทธ์ทางการเงินใหม่ๆ ล้วนสนับสนุนให้นักลงทุนที่ไม่พร้อมเรื่องข้อมูลและเวลา หรือไม่ต้องการกังวลกับการติดตามและตัดสินใจลงทุน เลือกใช้ผู้เชี่ยวชาญในการบริหารความมั่งคั่งเชิงรุก สร้างหรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีกลไกจัดการความเสี่ยงให้เหมาะสมกับภาวะตลาดและตัวนักลงทุน
- อ่านเพิ่มเติม COVID-19 กับการถดถอยของเศรษฐกิจไทย
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine