5 โครงสร้างพื้นฐานขับเคลื่อนไทยสู่ "ASEAN Digital Hub" - Forbes Thailand

5 โครงสร้างพื้นฐานขับเคลื่อนไทยสู่ "ASEAN Digital Hub"

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Feb 2020 | 10:30 AM
READ 6366

เมืองไทยถ้าอยากเป็น ASEAN Digital Hub เราต้องขับเคลื่อนเข้าสู่อุตสาหกรรม s-curve พร้อมใช้จุดแข็งของประเทศไทยในการเป็นนักออกแบบ ใช้จุดแข็งของประเทศไทยในการเป็นนักพัฒนาเทคโนโลยี เป็นฮับในการทำด้าน product and service design จะไม่เน้น mass production ไม่เน้นให้เมืองไทยทำงานเป็น OEM แต่เน้นให้เมืองไทยทำงาน high end ในอนาคต

หลังรัฐบาลไทยประกาศความพร้อมในการเป็น ASEAN Digital Hub เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยต้องมีการพัฒนา 5 โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่ “Digital Park Thailand” พื้นที่รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม บนเนื้อที่รวมกว่า 800 ไร่ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP)

โดยต้องผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่าง “Thailand Digital Valley” ศูนย์รวมในการสร้างสรรค์ออกแบบพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ระหว่าง Digital Startup กับนักลงทุนบนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ใน Digital Park Thailand รวมพื้นที่ใช้สอยกว่า 100,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสำคัญของ 5G, AI, IoT, software design, AR/VR/MR, smart device, design center และ maker space

พร้อมขับเคลื่อน “Digital Startup Hub ของ ASEAN” ด้วยศักยภาพของประเทศไทยซึ่งมีเทคโนโลยีที่ได้เปรียบในด้านทรัพยากรที่หลากหลาย จึงต้องเร่งพัฒนา Digital Startup ทั้ง 6 ด้าน คือ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech), เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (HealthTech), เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและอาหาร (AgTech), เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (TravelTech), เทคโนโลยีเพื่อการบริการภาครัฐ (GovTech) และเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech)

นำไปสู่การสร้างตลาดให้นักลงทุน และ Digital Startup” ผ่านโครงการ Smart City เป็นตลาดทดลองเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เช่น โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ระบบเฝ้าระวังภัยสำหรับนักท่องเที่ยวหาดบางแสน โครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ซึ่งได้พัฒนาเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (smart port) ด้วยระบบขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility) สามารถดึงดูดนักลงทุนให้เพิ่มมากขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาบริการด้านดิจิทัลใหม่ๆ จาก Digital Startup

และสิ่งสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ คือ การพัฒนากำลังคนดิจิทัลตอบโจทย์ตลาดโดยตั้งเป้าพัฒนากำลังคนที่มีทักษะด้านดิจิทัล 40,000 คนต่อปี ด้วยการ re-skill, up-skill, และ new-skill มุ่งพัฒนาทักษะในสาขาที่ประเทศขาดแคลน ได้แก่ IoT, AI, big data, robotic และ programming

จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 องค์ประกอบ ในอดีตประเทศไทยต่างคนต่างทำ ซึ่งดีป้าคือหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาททำหน้าที่ในการประสาน เชื่อมโยงให้เกิดระบบนิเวศทำให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ กำหนดแนวทางการดำเนินงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยดีป้าจะเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหา อุดช่องโหว่ของอุปสรรคต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวเข้าสู่พื้นที่ ASEAN Digital Hub อย่างเต็มที่สุดความสามารถ แต่จะสำเร็จเมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับประชาชนคนไทยทุกคนจะร่วมมือกันหรือไม่ เพราะมันคืออนาคตของประเทศไทยเรา

 

พร้อมดัน! Smart City หนุนรับ ASEAN Digital Hub

จากสถานการณ์การแข่งขันในโลกของการค้า สะท้อนให้เห็นว่ามีการแข่งขันค่อนข้างเป็นผลกระทบ อย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทั่วโลกต่างมุ่งหาโอกาสใหม่ๆ โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศตัวเอง เป็นศูนย์กลางครบวงจรในทุกมิติ ด้วยการบริหารจัดการสินค้าฝั่งขาออก (outbound)

ส่วนทางฟากฝั่งนักลงทุนชาวอเมริกันจำเป็นต้องมีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ เพราะถูกบีบจากประเทศมหาอำนาจ ทำให้ต้องกระจายความเสี่ยง มุ่งหาพื้นที่ในการสร้างฐานการผลิต โดยเฉพาะในโซนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีทั้งประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ผืนแผ่นดินของประเทศเหล่านี้ได้รับการจับตามองจากนักลงทุนต่างชาติ พร้อมที่จะเข้ามาขยายฐานการผลิต

ประเทศไทยคือ ประเทศที่เข้าสู่เส้นทางของอาเซียน ดังนั้น การชิงไหวชิงพริบจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อผลักดันให้เมืองไทยกลายเป็น paradise จนกระทั่งเข้าสู่การเป็น ASEAN Digital Hub ดีป้าจึงดำเนินงานด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการออกแบบ สร้างความต้องการในตลาดขึ้นมา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเหล่านั้นหันมาลงทุนในไทย เพราะนอกจากนักลงทุนจะได้สร้างฐานการผลิต ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรที่หลากหลาย เมืองไทยยังมีตลาดในการรองรับนักลงทุนผ่านโครงการ Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ

ซึ่งโครงการ Smart City จะช่วยขับเคลื่อนครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนาเมืองด้วยการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุดทำให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ ตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy), ขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility), พลังงานอัจฉริยะ (smart energy), สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment), การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (smart living), พลเมืองอัจฉริยะ (smart people), และการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (smart governance)

โดยภายในงาน Digital Thailand BigBang 2019 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ASEAN Connectivity เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ และความภูมิใจของดีป้า ที่มุ่งผลักดันให้เกิดเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ด้วยการประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะไปแล้ว 27 เขต ใน 21 จังหวัด แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคเหนือ กลุ่มภาคกลางและตะวันตก กลุ่มภาคใต้ มุ่งเน้นในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองเดิมน่าอยู่ (livable city) และกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มภาคตะวันออก มุ่งเน้นในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองเดิมน่าอยู่ และเป็นเมืองใหม่ที่ทันสมัย (new city)

ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะนำประเทศไทยสู่การเป็นประเทศรายได้สูงที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญไปทั่วทุกภูมิภาค ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการ โดยหนึ่งในวาระเร่งด่วนคือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไปทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มเมืองเดิมที่ต้องปรับปรุงให้น่าอยู่และอัจฉริยะมากขึ้น ตลอดจนกลุ่มเมืองใหม่ที่จะต้องออกแบบให้สมบูรณ์ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ

ดีป้ายังคงเดินหน้าสุดความสามารถในการผลักดันโครงการ Smart City ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศภายในปี 2565 เพื่อสร้างโอกาสสำหรับนักลงทุนในการขยายฐานธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยจะกลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญของนักลงทุนทั่วโลก

  โดย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)
คลิกเพื่อติดตามบทความทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกุมภาพันธ์ 2563 ในรูปแบบ e-Magazine