ดีป้า ผุดโครงการยักษ์ ‘ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์’ ดันไทยสู่ “ฮับ” อาเซียน - Forbes Thailand

ดีป้า ผุดโครงการยักษ์ ‘ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์’ ดันไทยสู่ “ฮับ” อาเซียน

PR / PR NEWS
22 Feb 2019 | 10:52 AM
READ 6570

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ “depa” ผุดโครงการยักษ์ใหญ่ ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ และ สถาบันไอโอที ทุ่มงบราว 5 พันล้านบาท หรือ 160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดึงนักลงทุนต่างประเทศพัฒนาประเทศไทยศูนย์กลางนวัตกรรมและดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เผยถึงแผนของ depa ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และขับเคลื่อนแผนแม่บทดิจิทัลโดยรวม และแผนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย "Thailand 4.0 คือจุดประสงค์และเป้าหมายหลัก เพื่อผลักดัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเกี่ยวข้องกับการขยับจากการผลิตดั้งเดิมในแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) ไปยังการผลิต และการให้บริการในรูปแบบที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ODM (Original Design Manufacturer) หรือ การเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา (“IP”)” เป้าหมายของ ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ และ สถาบันไอโอที คือการสร้างระบบนิเวศเพื่อขับเคลื่อนความคิด และชูนวัตกรรม ผ่านเครื่องมือ ทรัพยากร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยวางแผนการใช้พื้นทื่ 600 ไร่ เพื่อเป็นที่ตั้ง ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ และสถาบันไอโอที ในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก “EEC” ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวเป็นฐานของการผลิตยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่เข้ามาตั้งรกรากในการผลิต รวมถึงเป็นฐานของอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และโรงไฟฟ้าที่มีมานานกว่า 30 ปี ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ กล่าวต่อ “เรามีเป้าหมายที่จะสร้างนักพัฒนา (developer) ด้านดิจิทัลกว่าแสนคน ในประเทศไทย ซึ่งนอกจากโปรแกรมเมอร์แล้ว ยังต้องการการสนับสนุนจากธุรกิจอื่นๆ ที่อาจไม่ได้มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี เช่น ที่ปรึกษาทางธุรกิจด้านกลยุทธ์ องค์กรที่บริหารการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล และ ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันระบบดิจิทัลและแผนในครั้งนี้”

หนุน 5 อุตสาหกรรม S-Curve

Depa เองได้ตั้งเป้าหนุน 5 อุตสาหกรรม S-Curve ที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาของประเทศไทย ได้แก่ Software, Digital Content เช่น ภาพยนตร์ เกม, Data Service, Cloud, Smart Devices & Hardware, Smart Telecoms และ Digital Services "ดีป้า เน้นการให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนในหมวดหมู่ที่เฉพาะเจาะจง เช่น Robotics & Cobotics Artificial Intelligence (“AI”), Machine Learning, Internet of Things (“IoT”), Content & Cloud Based Services, Data Analytics, Megatronics และ Autonomous Vehicle โดย depa จะดำเนินโครงการส่งเสริมผ่านสถาบันไอโอที” Depa เองเตรียมแผนลงทุนสร้าง 4 อาคารใน ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ที่จะช่วยเผยแพร่และผลักดันนวัตกรรมในพื้นที่ ทั้งนี้ อาคารหลังแรก ซึ่งมีโครงสร้างจำนวน 5 ชั้น จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ปี 2562 ผู้เช่ารายแรกๆ ของอาคารประกอบไปด้วยนักลงทุนและผู้ประกอบการด้าน AI, Makers, Data Labs, Educational Facilities, Tools & Software สำหรับ Startups และ SMEs ในการใช้งาน ฝึกอบรม เรียนรู้ และทดสอบ เช่น sandbox สำหรับทดสอบระบบ 5G และแพลตฟอร์มอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ จากการเดินทางไปพบปะ พูดคุย หารือกับนักลงทุนและบริษัทเป้าหมายในต่างประเทศอาทิ อเมริกา จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และไต้หวันในปีที่ผ่านมา ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) อย่างต่อเนื่อง มากกว่า 30 รายการ กับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับโลกซึ่งสืบเนื่องมาจากการเข้าร่วม Big Bang Conference เมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา “เป้าหมายของสถาบันไอโอที คือการจัดแสดงนวัตกรรมของประเทศไทยและพันธมิตรชาวต่างชาติเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมงานและก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป เราเชื่อว่าเป้าหมายหลักที่สำคัญคือการพัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบที่สมบูรณ์ รวมถึงการช่วยสร้างและเชื่อมโยงเครือข่าย กลุ่มพันธมิตร เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคตลาด 4.0 มุ่งช่วยให้เจ้าของกิจการ นักประดิษฐ์ และนักลงทุนประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เข้าถึงตลาดในประเทศไทย และขยายไปสู่ตลาดในอาเซียนได้” ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ กล่าว “ดีป้า คาดว่า ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ จะสามารถเพิ่มมูลค่าจีดีพีกว่า 0.2% ต่อปี โดยแผนดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่มาตรการที่จะช่วยเพิ่มขีดความก้าวหน้าของประเทศไทย แต่ยังจะช่วยนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตอีกด้วย โดยทาง depa จะแถลงข่าวความคืบหน้าด้านความร่วมมือจากงาน International Roadshow ในปี 2561 และกิจกรรมอื่นๆ ที่ผ่านมา ในโอกาสต่อไป”

ปลดล็อกช่วยผู้ประกอบการไทย-เทศ

ด้าน ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล ได้กล่าวถึงการนำเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8–13 ปี รวมถึงการยกเว้นอัตราภาษีบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 17% สำหรับชาวต่างชาติ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดความแตกต่างอย่างชัดเจน “เราได้ทำการคัดเลือกบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ระดับโลก ที่มีความแข็งแกร่งในด้านเทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา การฝึกอบรมทักษะความรู้ ให้เกิดความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ PPP, joint venture, grants, partnership กับ depa เพื่อให้บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านี้ สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาระบบดิจิทัลและเศรษฐกิจของประเทศไทย” ดร.มนต์ศักดิ์กล่าวและเสริมว่า "แม้ว่าประเทศไทยยังขาดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ แต่ประเทศไทยยังคงมีข้อได้เปรียบหลายด้าน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ และต้นทุนแรงงานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีตลาดที่สามารถรองรับการขยายโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม”