การเกิดวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ในปี 2563 นี้เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ควรนำมาพิจารณาเป็นอย่างยิ่งเพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการเกิดโรคระบาดจนส่งผลกระทบไปทั่วโลก และไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการถดถอยของเศรษฐกิจ แต่เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกันคือ ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว ภาวะหนี้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นทั่วโลกถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ประมาณร้อยละ 1-2 ซึ่งนับว่าน้อยกว่าโรคระบาดในอดีต แต่การที่มันแพร่ได้ง่ายและผู้ป่วยไม่ค่อยแสดงอาการทำให้การล็อกดาวน์เกิดขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่แล้วยิ่งทรุดลงมากยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่มีการระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกผลกระทบที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การปรับตัวลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นทั่วโลกราคาน้ำมัน หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์อย่างตราสารหนี้เองก็ถูกนักลงทุนเทขายออกมาแสดงให้เห็นถึงการขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของนักลงทุน เพราะสินทรัพย์ทางการเงินเหล่านี้มักเล่นบนความคาดหวังของนักลงทุน หากมีการล็อกดาวน์ก็ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ นั้นหยุดชะงักส่งผลกระทบถึงรายได้และกระแสเงินสดของธุรกิจ เมื่อสินทรัพย์ที่เป็นกระแสหลักได้รับผลกระทบแบบนี้ ส่งผลต่อความมั่นคงของนักลงทุนที่จะลดลงไปตามการปรับตัวลงของสินทรัพย์ด้วย ทำให้นักลงทุนเองเริ่มมองหาสินทรัพย์อื่นเพื่อลงทุน ซึ่ง Cryptocurrency ก็เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ทางเลือกหนึ่งในการลงทุน (alternative investment) ที่นักลงทุนให้ความสนใจในช่วงที่สินทรัพย์ทางการเงินกระแสหลักของโลก เช่น หุ้นตราสารหนี้ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แบบนี้ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความเฉพาะตัว และทิศทางของราคาไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับสินทรัพย์กระแสหลัก สถานการณ์ต่อมาที่เกิดขึ้นคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจในทุกประเทศ และการดำเนินชีวิตของคนทุกคนจากรายได้และกำลังซื้อ (purchasing power) ที่ลดลงอย่างฉับพลันดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า โควิด-19 ได้สั่นคลอนเศรษฐกิจอย่างมาก ส่งผลให้เกิดวิกฤตทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานพร้อมกันอีกทั้งวิกฤตดังกล่าวเป็นตัวเร่งในการเกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค อาทิ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงและภาคการเงิน (real sector vs financial sector) นั่นทำให้หลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึงเรื่องการเงิน บริการทางการเงิน หรือแม้กระทั่งเข้าถึงโลกของการลงทุน เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นโควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งให้หลายสิ่งบนโลกที่น่าจะเกิดขึ้น ในอนาคตอีกหลายสิบปีเกิดขึ้นทันทีภายในปีนี้ปีเดียว ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดเช่น เรื่องสังคมไร้เงินสด Internet of Things และการทำกิจกรรมทุกอย่างได้โดยไม่ต้องออกจากที่พักอาจต้องเรียกว่า ทำกิจกรรมทั้งหมดได้ผ่านโน้ตบุ๊กหรือสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว ใครที่ติดตามเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องจะเห็นภาพมากขึ้น ภาพฝันดังกล่าวมีนักวิเคราะห์พยายามคาดการณ์ว่า ลักษณะการใช้ชีวิตที่ปราศจากเงินสด การทำกิจกรรมส่วนใหญ่ในชีวิตได้ โดยไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้านขอเพียงมีอินเทอร์เน็ตจะเกิดขึ้นแน่นอนแต่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งซึ่งทุกวันนี้ได้เกิดขึ้นแล้วคล้ายกับโลกหมุนเร็วขึ้น 10 ปี แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมแม้ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก็คือ ระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการทางการเงินในรูปแบบเดิมนั้นไม่เพียงพอ และไม่ตอบโจทย์ความเร็วของโลก รวมถึงไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นทุกวันนี้นั่นจึงเป็นที่มาของการยอมรับสิ่งใหม่ที่เรียกว่า สินทรัพย์ดิจิทัล ก่อนหน้านี้การจะยอมรับสินทรัพย์ชนิดใดก็ตามต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก เช่น ทองคำ ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองเป็นพันปีกว่าจะมีวันนี้ ต่างกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือกำเนิดมาเพียงสิบกว่าปี แต่กลับเป็นที่สนใจจากนักลงทุน ประชาชนคนธรรมดา หรือแม้กระทั่งภาครัฐทั่วโลก เพราะคุณสมบัติที่แตกต่างอีกทั้งยังหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้ง่าย ที่สำคัญยังสามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปให้กับทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม- แนวโน้มใหญ่ที่ไม่อาจฝืน
- “B.GRIMM” พันธกิจศตวรรษใหม่แห่งองค์กร 143 ปี
- เกาหลีใต้เผย วัคซีน ASTRAZENECA และ PFIZER ป้องกันโควิดได้กว่าร้อยละ 86
- โควิดระลอก 3 กระทบหนัก กนง. คงดอกเบี้ย หนุนเร่งกระจายวัคซีน
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine