"ความเครียด" มีประโยชน์ที่คุณอาจไม่เคยรู้ - Forbes Thailand

"ความเครียด" มีประโยชน์ที่คุณอาจไม่เคยรู้

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Nov 2020 | 10:30 AM
READ 3820

“ความเครียด” เป็นความรู้สึกที่หลายๆ คนก็คงรู้สึกไม่อยากเข้าใกล้ และมักนึกถึงผลกระทบในแง่ลบว่า ความเครียดนำภัยร้ายมาให้กับเรา และผลกระทบเชิงลบที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ การนอนไม่หลับสะสมความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมีมากขึ้น ความดันโลหิตสูง หรือแม้กระทั่งโรคซึมเศร้า

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง “ความเครียด” ก็อาจจะไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป เพราะความเครียดยังมีประโยชน์ในการใช้ชีวิตและการทำงาน วันนี้เราจึงขอนำาเสนอแง่มุมและประโยชน์จากความเครียดที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน   1.ความเครียดช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายและโฟกัส หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์สมองโปร่งใส ไอเดียพรั่งพรูเมื่อการทำงานใกล้ถึงวัน deadline ทั้งๆ ที่การทำงานมีเวลาน้อย ความกดดันสูง แต่ผลงานกลับออกมาดีกว่าการเริ่มต้นทำงานตั้งแต่ช่วงแรกๆ และสิ่งที่สนับสนุนให้เป็นแบบนั้นก็คือ “good stress” หรือความเครียดที่ดีซึ่งความเครียดที่ดีนั้นเป็นความเครียดในระดับปานกลางที่เกิดขึ้นในระยะสั้น และ “เราจัดการได้” คำว่า “เราจัดการได้” นั้น หมายถึงการที่เรามีความรู้ความสามารถและทักษะในการทำงานนั้นให้สำเร็จลุล่วง แม้ว่าจะมีความกดดันและความเครียดอยู่ตรงหน้าแต่เมื่อบวกกับความสามารถของเราแล้วความเครียดกลับกลายเป็นความท้าทายในระดับพอดี ที่ช่วยให้สมองส่วนหน้าหรือ prefrontal cortex ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสั่งการในด้าน executive function (EF) ต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้เราโฟกัสไปที่เป้าหมายเพิ่มความสามารถในด้านความจำและการตัดสินใจรวมถึงทำให้เรามีสมาธิ ไม่วอกแวก เหมือนเราได้อยู่ใน flow state ที่เรารู้สึกว่า การทำงานลื่นไหล ไม่มีสะดุด และเมื่อละความสนใจจากงานมาดูนาฬิกาอีกครั้งเราจะรู้สึกว่าเวลาช่างผ่านไปรวดเร็ว และเมื่อเราสามารถเอาชนะความเครียดแบบ “good stress” ที่ผลักดันช่วยให้เราทำงานจนสำเร็จแล้ว เราจะรู้สึกพึงพอใจและผ่อนคลาย   2.ความเครียดช่วยให้เรา Connect กับคนรอบข้างได้ดีขึ้น การพยายาม connect กับคนรอบข้างเป็นหนึ่งในข้อดีที่ได้จากความเครียดซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ และมักไม่ได้รับการพูดถึง Kelly McGonigal นักจิตวิทยาและอาจารย์มหาวิทยาลัย Stanford ได้พูดถึงประโยชน์ของความเครียดในแง่มุมนี้ว่า นอกจาก oxytocin หรือ love hormone จะถูกปล่อยออกมาจากต่อมใต้สมองเมื่อมีการสัมผัสทางด้านร่างกาย (physical contact) เช่น การกอด หรือแสดงออกถึงความรักกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงแล้ว oxytocin ยังถูกปล่อยออกมาเมื่อเราเผชิญหน้ากับความเครียดอีกด้วย และเมื่อฮอร์โมนนี้ถูกปล่อยออกมา เราจะมีความรู้สึกอยากที่จะ connect พูดคุย และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เราไว้ใจเราอาจจะอยากระบายถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรืออยากอยู่ใกล้ชิดกับคนเหล่านั้นเพื่อต้องการกำลังใจความพยายามติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างจะทำให้เราได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนที่เราไว้วางใจมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่มีโอกาสพบปะพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ หรือแชร์เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมากนัก ดังนั้นหากเรารู้สึกอยากมีใครสักคนที่ไว้ใจมาพูดคุยเพื่อปรับทุกข์เวลาเรารู้สึกเครียด ขอให้เข้าใจว่าความต้องการนั้นเป็นความต้องการตามธรรมชาติ และเราไม่ควรปฏิเสธ หรือมองว่าการระบายความทุกข์จะทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเราอ่อนแอ กลับกันการที่เราแสดงออกถึงความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงกับคนที่เราไว้ใจจะช่วยสร้างการเปิดใจ และทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากความเครียดจะช่วยให้เรา connect กับผู้อื่นได้ดีขึ้นแล้ว ฮอร์โมน oxytocin ที่หลั่งออกมาในระหว่างที่เรารู้สึกเครียดนั้นยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามี empathy หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเราทำให้เราเข้าใจมุมมองของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น รู้สึกแคร์และสนใจสุขทุกข์ของผู้อื่น รวมถึงเกิดความเต็มใจที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือแม้ว่าเราเองจะยังเผชิญอยู่กับความเครียดก็ตาม   3.ความเครียดช่วยสร้าง Resilience หรือความสามารถในการฟื้นตัว วิธีคิดที่เรามีต่อความเครียดเมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน มีความเกี่ยวเนื่องกับผลกระทบที่เราจะได้รับจากความเครียดนั้นๆ โดยหากเรามองความเครียดในแบบเดิมและคิดถึงแต่ผลในเชิงลบ และความยากลำาบากที่เราจะได้รับจากสถานการณ์ความเครียดที่อยู่ตรงหน้า ฮอร์โมน cortisol ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะ burnout และโรคภัยต่างๆ ก็จะมีปริมาณสูงขึ้น แต่หากเราฝึกฝนการเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อความเครียด หาประโยชน์และเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้นความเครียดก็คือ อีกสิ่งหนึ่งที่จะมาช่วยฝึกฝนให้เรามีความสามารถในการฟื้นตัวเพราะฮอร์โมน DHEA หรือฮอร์โมนต้านความเครียด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดความกังวล และทำให้เราจัดการความเครียดได้ดีขึ้นจะถูกปล่อยออกมา และฮอร์โมนนี้เองจะช่วยให้สมองของเราสร้างวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์ความกดดันที่เจอ จดจำบทเรียนเพื่อนำไปต่อยอกเมื่อเจอเหตุการณ์ยากๆ แบบนี้อีกครั้งในอนาคต ซึ่งก็จะทำให้เรามีความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) ได้ดีขึ้น หากปราศจากซึ่งความเครียด หรือแรงกดดัน ที่ทำหน้าที่เป็นบทเรียนชั้นดีในการฝึกฝนความสามารถต่างๆ ในการรับมือกับความเครียดแล้ว ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมีโอกาสสร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถเหล่านั้น ซึ่งยิ่งเราสามารถค้นหาประโยชน์และเรียนรู้จากสถานการณ์ความเครียดเหล่านั้นได้มากเท่าไร เราก็จะสามารถพัฒนาและฟื้นตัวจากสถานการณ์ความเครียดได้เร็วขึ้นเท่านั้นในการทำงานและใช้ชีวิตในแบบยุค new normal ที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนของสถานการณ์โดยรอบ สิ่งที่เป็นไปได้และสำคัญอาจไม่ใช่แนวคิดที่ว่า “เราจะไม่ล้มหรือผิดพลาด” แต่เป็นแนวทางที่ว่า “หากล้มแล้วต้องลุกให้เร็ว” และเราต้องเรียนรู้ว่า จะทำอย่างไรเราจึงจะ “ไม่ล้มท่าเดิม” เข้าทำนองประโยคที่ผู้บริหารในยุค new normal มักพูดว่า “fail fast, learn faster” การที่เรามีความเข้าใจในประโยชน์ของความเครียดมากขึ้นนั้น ไม่ใช่เพื่อให้เราเปลี่ยนแปลงความคิดว่า ความเครียดเป็นสิ่งที่ดีไปเสียหมด แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่คนเรามีโอกาสเผชิญกับความเครียดจากทุกทิศทาง การเห็นอีกด้านของความเครียดจะช่วยให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ และเห็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงหยิบสิ่งที่เราอยากหลีกหนีหรือ “ศัตรู” มาเป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโตและสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่เราจะสามารถอยู่กับความเครียดได้อย่างเป็นมิตรและเข้าใจ เพราะวิธีคิดที่เรามีต่อความเครียดจะเป็นหนึ่งในตัวกำาหนดว่า เราจะได้รับผลกระทบจากความเครียดนั้นๆ มากน้อยเพียงใด   ตวามเครียด บทความโดย รัตนันล์ เกลียวปฏินนท์ Managing Director บริษัท พลัสซีทีฟ จำกัด
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจจากผู้บริหารระดับสูงได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine "ความเครียด"