คณะบัญชี จุฬาฯ เชิญ 3 ซีอีโอและศิษย์เก่าแบ่งปัน แนวคิดบริหารธุรกิจ จากวิกฤต - Forbes Thailand

คณะบัญชี จุฬาฯ เชิญ 3 ซีอีโอและศิษย์เก่าแบ่งปัน แนวคิดบริหารธุรกิจ จากวิกฤต

PR / PR NEWS
28 Apr 2020 | 04:00 PM
READ 2065

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญ 3 ซีอีโอขององค์กรชั้นนำและศิษย์เก่าของคณะฯ ในงานสัมมนา ได้แก่ นวลพรรณ ล่ำซำ แห่งเมืองไทยประกันภัย ขัตติยา อินทรวิชัย แห่งธนาคารกสิกรไทย และ ผศ.ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ แห่งเสนาดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมแบ่งปันแนวคิด

รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะบัญชีฯ จุฬาฯ เผยถึงวิกฤตในครั้งนี้ไม่ได้กระทบแค่ผู้ที่ได้รับเชื้อร่วม 3,000 คน หากแต่ได้ส่งผลกระทบไปถึงทุกๆ คน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ เราจึงต้องมี Co-Strategy เพื่อสู้ Covid-19 จึงเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสัมมนาออนไลน์ฟรี “พิชิตวิกฤตธุรกิจโควิด-19” โดยวิทยากรผู้บริหารชั้นแนวหน้าระดับประเทศร่วมแชร์ประสบการณ์และแนวคิด โดยถือเป็นโมเดลนำร่องของคณะฯ ในการทำ DSR (Digital Social Responsibility) ในการช่วยเหลือสังคมผ่านดิจิทัล “เหตุการณ์ครั้งนี้เป็น Sudden Shock และมีความไม่แน่นอน ต้องอาศัยปฏิภาณไหวพริบ แก้โจทย์วันต่อวัน กลยุทธ์ต้องไม่แน่นอนปรับเปลี่ยนให้ทัน สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ก็ต้องคิดและทำ และเมื่อธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อไป จำเป็นที่จะต้องมีการ Re-Business และทัศนคติการลดพนักงานคือการมองว่าพนักงานเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่หากมองพนักงานเป็นสินทรัพย์ที่มาร่วมมือกัน เพื่อนำมาสร้างมูลค่าใหม่ และถ้าจำเป็นต้อง Re-Target เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเดิมที่ไม่ได้ผลแล้ว นอกจากนั้นผู้นำจะต้อง Re-Think เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินต่อไปได้ Re-Process เปลี่ยนวิธีการดำเนินการธุรกิจในรูปแบบใหม่ และ Reunite ด้วยการร่วมมือกันระหว่างบริษัท จึงจะเป็นการ Co-Strategy อย่างแท้จริง วันนี้คนส่วนใหญ่อยู่บ้าน เราจึงอาศัยดิจิทัลในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น (Digital Life) เกิดความคุ้นเคยแบบใหม่ และมีข้อมูล (Data) ที่มากมายสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาธุรกิจ สร้างความแตกต่าง นอกจากนั้นการเว้นระยะห่าง (Distance) จะทำให้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่นักธุรกิจต้องร่วมมือกัน พึ่งพาอาศัย และ ค้าขายกันเองให้มากขึ้น (Domestic) โดยในอนาคตอาจมีคลื่นลูกใหม่ สิ่งที่ทำได้เพื่อรับมือคือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากประสบการณ์ให้ทันท่วงที”   นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เผยว่า “วิกฤตที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่กลัวที่จะติดโรค แต่จากการสำรวจพบว่า คนกลัวการตกงาน การไม่มีรายได้มากกว่า ความยากของวิกฤตครั้งนี้คือความไม่แน่นอน ฉะนั้นจะผ่านพ้นต้องอาศัยความเป็น Team Player คือ ทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน สร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพ กับ เศรษฐกิจ ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ด้วยการคิดนอกกรอบและมองทุกมุมให้ครบทุกด้าน และต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ทำอะไรในสิ่งใหม่ๆ เชื่อมั่นว่าจะมีหลายธุรกิจ หลายอาชีพ กลับมาได้ในช่วงวิกฤตนี้ และเชื่อว่าจากวิกฤตนี้หลายคนเปลี่ยนแนวความคิดมุมมองไปสู่การเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาอาศัย ให้ความเอื้ออาทร อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก มีอาชีพที่มีความสุข และมีความยั่งยืน วัดดัชนีความสำเร็จด้วยความสุขโดยที่จะไม่มองว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอีกต่อไป”   ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า มีโอกาสได้เห็นวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาหลายครั้ง แต่สิ่งที่เห็นจากการเกิดวิกฤตมาโดยตลอดคือ เราจะมีความแกร่งขึ้น เก่งขึ้น เตรียมพร้อมรับมือมากขึ้น เพราะในทุกวิกฤตจะสอนให้เราได้เรียนรู้ เช่นเดียวกับวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ หากเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งมีความแตกต่าง คือกว้างกว่า ไปทุกประเทศ ยาวกว่า คือยาวนานกว่า ลึกกว่า คือกระทบไปทุกอุตสาหกรรม และทุกระดับ คือกระทบกันหมดทุกระดับชั้น ในฐานะผู้นำที่จะต้องนำพาทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ พนักงานและครอบครัวต้องมีความปลอดภัย โมเดลของการทำงานต้องชัดเจน ในขณะเดียวกันเรื่องการสื่อสารกับพนักงานต้องบ่อยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจ ในส่วนของลูกค้าต้องไม่ฉวยโอกาสในการขึ้นราคา การเจรจาต่อรองต่างๆ ต้องตรงไปตรงมา เวลานี้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ธนาคารต้องเป็นสื่อกลางในการถ่ายโอนความช่วยเหลือนี้ไปยังลูกค้าให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด หลังจากโควิด-19 ต้องนำพาองค์กรกลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด และ reimagine กลับมาใหม่ภายใต้บริบทใหม่ โดยใช้หลัก 2M 6P คือ Market เข้าใจภาวะการตลาดต่างๆ รวมถึงลูกค้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร Product Price Place Promotion People Productivity และไม่ลืม Make It Happen ทำให้เกิดขึ้น ให้ครอบคลุม คล่องตัว ยืดหยุ่น และแข็งแกร่งในคราวเดียวกัน   ผศ.ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า “วิกฤตครั้งนี้รุนแรงเป็นเหมือนผลกระทบวิกฤตน้ำท่วมผสมกับวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่สิ่งที่ยากในวิกฤตครั้งนี้คือความไม่แน่นอนที่คาดเดาได้ยาก การแก้ต้องเริ่มจากในองค์กร ใช้แนวทาง CAP (Cope, Adjust, Positioning) โดยที่บริษัทใช้ Cope กับการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยให้การช่วยเหลือแก่ลูกค้า คือกลุ่มคนที่กำลังจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงลูกบ้าน และคู่ค้า ให้เขาสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นที่สุด และพนักงานที่บริษัทต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงาน ทั้งในแง่สุขภาพกายใจ Adjust การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การขายอสังหาฯ ผ่านออนไลน์ ซึ่งปกติลูกค้าที่จะตัดสินใจซื้ออสังหาฯ จะเข้ามาชมประมาณ 3 ครั้ง การขายทางออนไลน์ให้เสมือนกับการชมในรอบแรกของลูกค้าช่วยลดต้นทุนไปได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องระดมสมอง เรื่องของ Positioning หลังโควิดเราอยากเห็นตัวเราเป็นอย่างไร เป็นการมองไปในระยะไกล โดยมีการจัดทำ Business Process ขึ้นเพื่อนำไปสู่สิ่งที่คิดไว้ โดยต้องอยู่ภายใต้ความเป็นจริงของกลไกตลาด ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ต้องอยู่บนจุดยืน และคุณค่าขององค์กร โดยคำนึงถึงลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และสภาพคล่องของบริษัท ปิดท้ายเหล่าผู้บริหารชั้นนำเห็นตรงกันว่าดัชนีความสุข ความสมดุล และความเชื่อมั่นองค์กร และประเทศชาติ รวมถึงการปรับเปลี่ยนตัวเอง และมีความยืดหยุ่น จะนำเรารอดจากวิกฤตในครั้งนี้ “เราไม่ได้เป็นสถาบันที่สอนเน้นแค่การทำกำไร เพราะท้ายสุดธุรกิจต้องการความยั่งยืน จึงต้องมีกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ถึงแม้ในช่วงวิกฤตนี้ เราไม่สามารถทำ CSR ได้แต่เราสามารถกระทำได้ผ่าน DSR (Digital Social Responsibility) โดยใช้ออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ” รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะบัญชีฯ จุฬา ฯ กล่าวปิดท้าย