Fiat Chrysler และเจ้าของ Peugeot ประกาศ ควบรวมกิจการ สร้างบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มูลค่า 4.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ใหญ่เป็นอันดับ 3 โลก คาดมุ่งร่วมพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า-รถยนต์ไร้คนขับ
Fiat Chrysler และ PSA Group เจ้าของแบรนด์รถยนต์ Peugeot ได้ประกาศข้อตกลงการ ควบรวมกิจการ ของทั้งสองบริษัท ซึ่งเป็นการสร้างบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก มูลค่ารวม 4.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยดีลนี้ยังถือเป็นการช่วยกระจายต้นทุนในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับอีกด้วย
ผู้ถือหุ้นจากผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสองบริษัทจะครองสัดส่วนหุ้นคนละ 50% ในบริษัทแห่งใหม่ สำหรับผลผูกพันของข้อตกลงจะสามารถสรุปได้ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อตกลงที่สามาถสรุปได้แล้วคือ ผู้ถือหุ้นของ Fiat Chrysler จะได้รับเงินปันผลครั้งเดียวมูลค่า 5.5 พันล้านยูโร (ราว 6.1 พันล้านเหรียญ)
สำหรับบริษัทที่ควบรวมแล้วจะมีฐานหลักอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสำนักงานใหญ่ของ Fiat Chrysler อย่างไรก็ตาม สำนักงานใหญ่ของบริษัทในอเมริกาเหนือซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมือง Detroit ยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ โดย John Elkann ประธานบริษัท Fiat จะดำรงตำแหน่งประธานบริษัทที่ควบรวมแล้ว ขณะที่ Carlos Tavares ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ PSA จะดำรงตำแหน่งซีอีโอ
บริษัทที่ควบรวมนี้จะมีพนักงานราว 4.1 แสนคน และมีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญ โดยยอดขายรวมของ Fiat Chrysler และ Peugeot ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 8.7 ล้านคัน มากกว่าค่าย General Motors หรือ GM ที่มียอดขายอยู่ที่ 8.3 ล้านคัน และเป็นรอง Volkswagen และ Toyota ที่มียอดขายปีที่ผ่านมารายละ 10 ล้านคัน
การ ควบรวมกิจการ ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะที่ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกลดลง ซึ่งอาจยิ่งเลวร้ายลงไปอีกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวหรืออาจตกอยู่ในภาวะถดถอย ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์ต่างดิ้นรนเพื่อลงทุนในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด เพื่อตอบสนองความเข้มงวดในการปล่อยมลพิษในจีนและยุโรป
เทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างยานยนต์ไร้คนขับนั้นอาจเป็นภัยคุกคามต่อโมเดลธุรกิจของอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ขณะที่การเผชิญกับความท้าทายใหม่นั้นจำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาล ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์บางรายต้องหาพันธมิตร และเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการเข้าซื้อกิจการ
Jessica Caldwell กรรมการบริหาร บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ Edmund กล่าวว่า แผนการควบรวมกิจการของ Fiat Chrysler และ PSA “ไม่เกี่ยวข้องกับโปรดักต์หรือการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ” แต่เกี่ยวกับการวิจัยในยานพาหนะแห่งอนาคต
“รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไร้คนขับที่ทุกคนกำลังรอคอยนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการควบรวมกิจการและสร้างพันธมิตรเพื่อแบ่งปันงานวิจัย และหารต้นทุนในการพัฒนาด้วยกัน” เธอกล่าว “ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ Fiat Chrysler และ PSA เป็นการดำเนินงานที่ชาญฉลาด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทของตนจะสามารถดำเนินงานต่อไปได้ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต”
ไม่ใช่แค่สองรายนี้เท่านั้น แต่ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างก็กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลง โดย Volkswagen และ Ford ได้ทำงานร่วมกันในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมนีอย่าง BMW และ Daimler ก็ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ส่วน Honda ได้ลงทุนในรถยนต์ไร้คนขับของ General Motors ด้วย
ประวัติศาสตร์การควบรวม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ PSA ใช้วิธีควบรวมกิจการเพื่อร่วมกับพาร์ทเนอร์ ในปี 2017 บริษัทได้ทุ่มเงิน 2.3 พันล้านเหรียญเพื่อซื้อธุรกิจ GM ในยุโรปซึ่งก็คือแบรนด์ Opel และ Vauxhalls หลัง GM ขาดทุนในตลาดยุโรปไปกว่า 2.24 หมื่นล้านเหรียญตลอด 17 ปีก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Opel และ Vauxhalls สามารถทำกำไรให้กับ PSA ได้แล้ว
การรวมทีมกันในช่วงเวลาอันทุกข์ยากดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์ที่ Fiat คุ้นเคย ที่เริ่มซื้อคู่แข่งในสหรัฐฯ อย่าง Chrysler จากการล้มละลายของแบรนด์นี้เมื่อสิบปีก่อน และควบรวมกิจการสำเร็จใน 5 ปีหลังจากนั้น แต่แม้จะมีดีลนั้น Fiat Chrysler ก็ยังมีขนาดเล็กกว่าคู่แข่งหลายราย ทำให้มีข้อเสียเปรียบบางอย่าง เช่น การกระจายเม็ดเงินออกไปในการวิจัยและพัฒนา
Sergio Marchionne ซีอีโอผู้นำ Fiat และ Chrysler มารวมกัน กล่าวอย่างเปิดเผยถึงความต้องการสร้างดีลกับ GM ของเขาว่า เขายังสนใจควบรวมกิจการกับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Google หรือ Apple ด้วย
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา Fiat Chrysler ได้ทำข้อเสนอควบรวมกิจการกับอีกผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Renault ซึ่งเป็นบริษัทที่มีขนาดพอๆ กับ PSA แต่ข้อเสนอก็ถูกถอนออกไป โดยบริษัทระบุว่า “เป็นที่ชัดเจนว่าสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสไม่สามารถทำให้การควบรวมกิจการเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์”
ทั้งนี้ Renault เป็นบริษัทที่รัฐบาลฝรั่งเศสครองหุ้นอยู่ 15% และถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด โดยรัฐบาลฝรั่งเศสยังถือหุ้นใน PSA อีก 12.2% อีกด้วย ด้านฝรั่งเศสกล่าวว่าจะอนุมัติเฉพาะดีลของ Renault ที่มีการปกป้องตำแหน่งงานและโรงงานในฝรั่งเศสเท่านั้น
ความท้าทายใหม่
นอกจากประกาศควบรวมกิจการแล้ว Fiat Chrysler ยังได้ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 โดยแม้ยอดขายทั่วโลกชะลอตัว แต่ไตรมาส 3 ก็ยังทำกำไรได้ และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายผลประกอบการในปีนี้มีกำไรได้ อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างครั้งนี้ส่งผลให้ไลน์การผลิตรถยนต์บางเซกเมนต์ในยุโรปลดลง และการเปลี่ยนแปลงของแบรนด์ในเครืออย่าง Alfa Romeo นั้นทำให้ผลประกอบการสุทธิของไตรมาสนี้ขาดทุน
อย่างไรก็ตาม ข่าวการควบรวมกิจการนั้นส่งผลให้หุ้นของ Fiat Chrysler ได้เพิ่มขึ้น 14% ตั้งแต่ต้นสัปดาห์จนถึงวันพุธที่ผ่านมา
กระนั้น แม้การควบรวมจะสำเร็จเสร็จสิ้น แต่ Fiat Chrysler และ PSA ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อทั้งคู่ต่างพยายามอย่างยิ่งที่จะบุกตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยอดขายรถยนต์ในจีนช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ลดลงกว่า 10% ขณะที่ยอดขายครึ่งปีแรก 2019 ของ Fiat Chrysler ลดลงถึง 1 ใน 3 และยอดขายของ PSA ลดลงมากกว่า 50%
นอกจากนี้ PSA ยังเป็นแบรนด์ที่ไร้ตัวตนในตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก ขณะที่ยอดขายของสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ของ Fiat ที่ลดลง ได้แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการนำแบรนด์ยุโรปเข้ามาตีตลาดสหรัฐฯ
“ทั้ง Fiat Chrysler และ PSA มีรถยนต์จำนวนมากที่ไม่สามารถเพิ่มเติมหรือดัดแปลงให้ตอบโจทย์สิ่งผู้บริโภคสหรัฐฯ ต้องการในตอนนี้ได้” Caldwell กล่าว
ที่มาไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine