ข้างมหาเศรษฐีหน้าใหม่ที่เข้าอันดับใหม่รวม 5 คน อาทิ ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ จากอีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป และนายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ ที่โรงพยาบาลในเครือจุฬารัตน์ของเขาให้บริการรักษาคนไข้ในเขตอุตสาหกรรมของประเทศ
เรื่อง: Naazneen Karmali เรียบเรียง: คมสัน แกมทอง รายงานเพิ่มเติมโดย: Megha Bahree, Caroline Chen, Sean Kilachand, Suzanne Nam, Phisanu Phromchanya and Anuradha Raghunanthan
อันดับ28
ตระกูลวิริยะพันธุ์
3.034 หมื่นล้านบาท
ธุรกิจ: ประกันภัย
ครอบครัวเบื้องหลังบริษัท วิริยะประกันภัย บริษัทรับประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในไทย และเชี่ยวชาญในการขายประกันภัยรถยนต์ติดอันดับของเราเป็นครั้งแรก เล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้ล่วงลับ ก่อตั้งกลุ่มบริษัทธนบุรีพานิช เมื่อปี 2484 เป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศที่ได้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อต่างๆอาทิ Mercedes-Benz ภายใต้การบริหารงานของพากเพียร ลูกชายคนโตที่เสียชีวิตแล้วกลุ่มบริษัทได้เริ่มประกอบรถบรรทุก ก่อนหันไปจับธุรกิจประกันภัยในปี 2490 โดยรับประกันวินาศภัยและประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเลต่อมาได้ขยายงานครอบคลุมธุรกิจประกันรถยนต์ หลังการเสียชีวิตของเล็กในปี 2543 มีการแบ่งมรดกแก่ลูกๆ ทั้งหกคน
อันดับ31
ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์
2.552 หมื่นล้านบาท
ธุรกิจ: พลาสติก
64 ปี
พี่ชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 10 คนเริ่มช่วยงานธุรกิจยางของครอบครัวตั้งแต่ในวัยหนุ่ม และก่อร่างสร้างอาณาจักรเครือธุรกิจอีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จนเติบโตสร้างรายได้ปีละกว่า 194 ล้านเหรียญ บริษัทเป็นผู้ผลิตยางสังเคราะห์สำหรับอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชั้นนำของประเทศราคาหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นมากกว่า 2 เท่านับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และหนุนให้เขาติดอันดับบุคคลร่ำรวยที่สุดของประเทศเป็นครั้งแรก
อันดับ39
กำพล พลัสสินทร์
2.016 หมื่นล้านบาท
ธุรกิจ: โรงพยาบาล
65 ปี/สมรส/บุตร 2 คน
เริ่มต้นจากโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ตั้งขึ้นใจกลางเขตอุตสาหกรรมทางตะวันออกของกรุงเทพฯ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว นายแพทย์กำพลเดินหน้าพัฒนา บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ซึ่งมีโรงพยาบาลในเครือ 7 แห่งและคลินิก 7 แห่งและได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ราคาหุ้นของโรงพยาบาลทะยานขึ้น 50% ในปีที่ผ่านมาส่งผลให้เขาติดอันดับมหาเศรษฐีไทยเป็นครั้งแรก รพ.จุฬารัตน์ยังเป็นบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งกลุ่ม Asia’s Best Under A Billion Companies ตามการจัดอันดับของ Forbes กำพลมุ่งหน้าขยายธุรกิจโดยได้เข้าซื้อโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมูลค่า3.3 ล้านเหรียญเมื่อไม่นานมานี้
อันดับ46
บัญชา องค์โฆษิต
1.767 หมื่นล้านบาท
ธุรกิจ: อิเล็กทรอนิกส์
64 ปี/สมรส/บุตร 3 คน
อดีตผู้บริหารบริษัทโฆษณาผู้ก่อตั้งบริษัท เคอีซี อีเลคโทรนิคส์ ผู้ผลิตและส่งออกแผ่นวงจรพิมพ์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ติดอันดับของเราเป็นครั้งแรกในปีนี้ บริษัทที่เดิมมีชื่อว่าควงเจริญ อีเลคโทรนิคส์ ซึ่งตั้งตามชื่อพ่อของเขา ประสบภาวะวิกฤตในปี 2540 ก่อนจะฟื้นตัวในเวลาต่อมาปัจจุบันบริหารงานโดยพิธาน ลูกชายซึ่งเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ และรับตำแหน่ง CEO ตั้งแต่ปี 2556 เขาได้ขยายกำลังการผลิตจนส่งผลให้บริษัทมีรายได้และผลกำไรเพิ่มขึ้น บัญชารักการแล่นเรือเป็นชีวิตจิตใจและเพิ่งซื้อเรือยอชท์หรูสัญชาติอิตาเลียน Azimut
อันดับ49
จุน วนวิทย์
1.481 หมื่นล้านบาท
ธุรกิจ: พัดลม
79 ปี/สมรส/บุตร 4 คน
ผู้ก่อตั้งบริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค เริ่มต้นจากร้านซ่อมพัดลม ก่อนจะได้สัญญาผลิตพัดลมให้กับแบรนด์ญี่ปุ่นหลายราย จากนั้นจึงเริ่มทำการผลิตภายใต้ตราสินค้าของตัวเองฮาตาริผลิตชิ้นส่วนร้อยละ 90 เอง โดยทำยอดขายพัดลมสำหรับใช้ในบ้านและอุตสาหกรรมในประเทศปีละ 8 ล้านเครื่อง จุนยังถือหุ้นส่วนน้อยของโฮมโปร ธุรกิจโฮมเซ็นเตอร์รายใหญ่ซึ่งมีอนันต์ อัศวโภคิน (อันดับที่ 26) บริหารกิจการอยู่
คลิ๊กอ่าน "50 อันดับมหาเศรษฐีไทย" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ June 2016
