รองเท้าสนีกเกอร์ทรงหนาดีไซน์ย้อนไปในยุค 1990s ที่ปัจจุบันกลายเป็นรองเท้าโปรดของชาวมิลเลนเนียล ซึ่งความหลงใหลในรองเท้าสไตล์เรโทรนี้ได้ปลุก แบรนด์ Fila ให้ฟื้นชีพ และยังส่งให้ Yoon Yoon-soo ร่ำรวยขึ้นมาอย่างไม่คาดคิด
Yoon Yoon-soo หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า Gene ถูกประเมินว่ามีความมั่งคั่งอยู่ราว 830 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าจากจำนวนหุ้นที่เขาถืออยู่ในบริษัท Fila Korea อดีตผู้ถือลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายสินค้า แบรนด์ Fila ในเกาหลีใต้ ที่เข้าซื้อบริษัทแม่และบริษัทผู้แทนจำน่ายทั่วโลกได้ในปี 2007 จนสื่อเกาหลีตั้งฉายาให้เหตุการณ์ซื้อกิจการครั้งนี้ว่า “กุ้งกลืนวาฬ”
Yoon เข้าไปดูแลกิจการของ Fila และฟื้นฟูการดำเนินงานของบริษัทจนดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้หุ้นของบริษัทของเขาเติบโตขึ้นด้วย
หัวใจสำคัญที่ทำให้สินค้ากีฬาแบรนด์นี้ฟื้นชีพขึ้นมาได้ คือการดึงสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของยุค 90 กลับมาทำตลาดอีกครั้ง โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าสไตล์คลาสสิก
ตัวอย่างคือรองเท้าผ้าใบรุ่น Disruptor 2 ที่ถูกหยิบขึ้นมานำเสนออีกครั้งในปี 2017 ซึ่งแพลตฟอร์มแฟชั่นชื่อดังระดับโลกอย่าง Lyst จัดให้เป็นหนึ่งในรองเท้าผู้หญิงที่ได้รับความนิยมสูงสุดของปี 2018 และ Fila ประมาณการว่าในเดือนมกราคม 2018 รองเท้ารุ่นนี้ถูกขายออกไปมากกว่า 10 ล้านคู่
อย่างไรก็ตาม Yoon ในวัย 73 ปี ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ เขากล่าวกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเกาหลีใต้เมื่อปี 2017 ว่า สำหรับเขาแล้ว Fila เป็นมากกว่าแค่แบรนด์สินค้ากีฬา “มันเป็นลูกคนหนึ่งที่ผมมีตอนอายุ 45 ปลายๆ” เขากล่าว
เซเลบฯ บวกราคาทำยอดขายโตกระฉูด
การกลับมาโด่งดังอีกครั้งของแบรนด์กีฬานี้ยังเป็นผลมาจากการที่บรรดาเซเลบริตี้สวมใส่สินค้าของแบรนด์ โดยนางแบบสหรัฐฯ อย่าง Kendall Jenner และนักร้องสาว Rihanna ยังสวมใส่เสื้อผ้าที่เผยให้เห็นถึงโลโก้ของแบรนด์ที่ประกอบไปด้วยสีแดง, น้ำเงิน และขาว นอกจากนี้ Fila ยังเป็นแบรนด์ที่ราคาสินค้าไม่สูงมากนัก ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นด้วย
“Fila เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายลูกค้าจากช่วงอายุ 30 และ 40 ปีให้เป็นกลุ่มวัยรุ่นขึ้น ด้วยการหั่นราคาสินค้าลงมา” Na Eun-chae นักวิเคราะห์จาก Korea Investment & Securities Co. บริษัทโบรกเกอร์ในกรุง Seoul กล่าว “นอกจากนี้ แบรนด์ยังมุ่งโฟกัสไปที่สินค้ากลุ่มรองเท้าเป็นหลัก ซึ่งนั่นได้ผลดีทีเดียว”
มูลค่าหุ้นของ Fila ทะยานขึ้นถึง 400% (เปรียบเทียบระหว่างช่วงปลายปี 2018 และกลางปี 2019) มูลค่าของบริษัทในตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 พันล้านเหรียญ ขณะที่ Yoon และครอบครัวครองสัดส่วนหุ้นอยู่ราว 20%
Yoon เป็น late bloomer คนหนึ่งที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยในช่วงอายุ 30 เขาเริ่มทำงานที่ Fila ในปี 1991 ด้วยตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายธุรกิจเกาหลีใต้ แม้จะได้รับเงินเดือนสูงถึง 1.5 ล้านเหรียญ แต่เขามีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ในเดือนมกราคม ปี 2007 เขาเป็นหัวหอกในการกู้เงิน 400 ล้านเหรียญ เพื่อเข้าซื้อกิจการจากบริษัทแม่รวมถึงบริษัทในเครือทั้งหมด และในปี 2010 เขาได้พาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้
ทั้งนี้ Fila ก่อตั้งขึ้นในอิตาลีเมื่อปี 1911 ก่อนจะถูกซื้อโดยบริษัท private equity สัญชาติสหรัฐฯ อย่าง Cerberus Capital Management ในปี 2003 ความรุ่งเรืองของแบรนด์นี้สิ้นสุดลงในยุค 2000 หลังบริษัทประสบกับยอดขายที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนค่าบริหารจัดการทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายมากเกินไป กระทั่งถึงยุคการบริหารของ Yoon ที่ทำให้สินค้ากีฬาแบรนด์นี้ฟื้นชีพจากความตายขึ้นมาเฉิดฉายอีกครั้ง
กลยุทธ์หนึ่งของ Yoon ที่ถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญคือการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทผู้ผลิตลูกกอล์ฟแบรนด์ Titleist อย่างบริษัท Acushnet Holdings Corp ในปี 2011 โดย Acushnet สามารถจดทะเบียนในตลาดฯ New York ได้ในปี 2016 ซึ่งสามารถสร้างรายได้อย่างงามให้กับ Fila Korea โดยในปี 2018 รายได้รวมของแบรนด์กีฬาแบรนด์นี้อยู่ที่ 3 ล้านล้านวอน (2.6 พันล้านเหรียญ) ซึ่ง 61% เป็นรายได้ที่มาจาก Acushnet
ขณะที่ยอดขายรองเท้าและเครื่องแต่งกายแบรนด์ Fila (ไม่รวม Acushnet) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านวอนในปี 2018 หรือเพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำหรับ Yoon เขาไม่เคยคิดว่าจะทำอาชีพเกี่ยวกับรองเท้าสไตล์วินเทจหรือลูกกอล์ฟมาก่อน แม่ของเขาเสียชีวิตด้วยโรคไทฟอยด์หลังจากเขาเกิดได้ไม่นานนัก เขาพบกับความสูญเสียอีกครั้งเมื่อพ่อของเขาจากไปด้วยโรคมะเร็งขณะเขาเรียนชั้นมัธยมปลาย ทำให้เขามีความคิดอยากเป็นหมอ แต่ก็ไปไม่ถึงฝันนั้นเมื่อเขาล้มเหลวกับการสอบเข้าคณะแพทย์ถึง 3 ครั้ง เขาจบเส้นทางการเรียนด้วยการจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์และการทูต
ด้วยความที่เรียบจบเมื่ออายุมากแล้ว ทำให้เขาเป็นผู้สมัครที่ไม่น่าสนใจสำหรับงานระดับเริ่มต้นของบริษัทส่วนใหญ่ หลังจากพยายามอยู่หลายครั้ง เขาก็ได้เข้าทำงานที่ J.C. Penney Co. ซึ่งเป็นบริษัทนำสินค้าจากเกาหลีไปขายที่สหรัฐฯ เขาได้พบกับ Fila ในสหรัฐอเมริกา และถูกชักชวนให้เข้ามาทำงานในบริษัทผลิตรองเท้าในเกาหลีใต้ จากนั้นเขาก็ถูกขอให้จัดตั้งและเป็นผู้นำของการดำเนินธุรกิจในเกาหลี กระทั่งเขาสามารถซื้อบริษัทแม่และทำให้แบรนด์นี้กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกได้ในที่สุด
ปัจจุบัน Fila ดำเนินงานในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายตลาด เช่น จีน ที่ซึ่ง Fila Korea ถือหุ้น 15% ในกิจการร่วมค้ากับ Anta Sports Products Ltd.
ส่วน Yoon ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยกล่าวว่าเขาต้องการให้คำจารึกบนหลุมฝังศพพูดถึงว่าเขาทำงานหนักแค่ไหน ดูเหมือนเป็นบุคคลที่เราไม่สามารถตัดสินความสำเร็จของเขาด้วยความมั่งคั่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“การสะสมทรัพย์สมบัติที่ได้มาด้วยความไม่ชอบธรรมนั้นไม่มีความหมาย” เขากล่าวกับ Chosun Ilbo หนังสือพิมพ์เกาหลี “เราต้องมองย้อนกลับไปว่าเราสร้างความมั่งคั่งของเราขึ้นมาได้อย่างไร”
อ่านเพิ่มเติม แปลและเรียบเรียงจาก The Man Who Brought Fila Back From Dead Is Worth $830 Million