สงครามการค้าทำ "จีดีพีจีน" ไตรมาส 3 โตต่ำสุดในรอบ 27 ปี คาดชะลอตัวต่อเนื่อง - Forbes Thailand

สงครามการค้าทำ "จีดีพีจีน" ไตรมาส 3 โตต่ำสุดในรอบ 27 ปี คาดชะลอตัวต่อเนื่อง

จีดีพีจีน ไตรมาส 3/2562 โตต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี พิษสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีจีน ในไตรมาส 3 ของปีนี้ (ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2562) เติบโตเพียง 6% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2535 โดยลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตที่ 6.2% และน้อยกว่าโพลที่นักวิเคราะห์จาก Refinitiv คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเติบโตที่ 6.1%

แรงตึงเครียดจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกายังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและการลงทุน แม้จะมีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศก็ตามChaoping Zhu นักยุทธศาสตร์การตลาดโลกจาก JP Morgan Asset Management ระบุ

ตัวเลขที่เลวร้ายกว่าที่คาดนี้ถูกประกาศออกมาใน 1 สัปดาห์หลังจากที่สหรัฐฯ และจีนเข้าสู่การพักรบชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดเพิ่มขึ้นต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดโลก 2 ประเทศ

การเจรจาอย่างต่อเนื่องอาจมีผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีดีลเล็กๆ เกิดขึ้น แต่ภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ ก็ยังมีอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนมาก Zhu กล่าว

สำหรับการเจรจาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้นรวมถึงการหยุดขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีผลยังคับใช้ในต้นสัปดาห์นี้ โดยประธานาธิบดี Donald Trump กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ในข้อตกลงนั้นรวมถึงสินค้าที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา, บริการทางการเงิน และสินค้าทางการเกษตรด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายดูเหมือนจะยังไม่มีทีท่าว่าจะครอบคลุมสินค้าทุกประเภท และประกาศที่ออกมาล่าสุดก็ไม่ได้รวมถึงสินค้าที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในสงครามนี้เลยด้วยซ้ำ

 

การฟื้นตัวในเดือนกันยายนอาจ "มอดลง"

ข้อมูลจากจีนแสดงให้เห็นว่ามีภาคธุรกิจบางส่วนเติบโตขึ้นในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมการผลิตเติบโตขึ้นจาก 4.4% ในเดือนสิงหาคม เป็น 5.8% ในเดือนที่แล้ว ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกมียอดขายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 7.8% นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนยังระบุอีกว่า รัฐบาลเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมไปถึงการลดภาษีและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมาตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ในเดือนกันยายนจะดูดีขึ้น แต่ Julian Evans-Pitchard นักเศรษฐศาสตร์จีนอาวุโสจาก Capital Economics กล่าวว่า แรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจทวีความรุนแรงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

แม้ภาคการผลิต, ธุรกิจค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเติบโตขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า แรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจ “ทวีความรุนแรงขึ้น” ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า (Photo by STR / AFP)

ดีมานด์ทั่วโลกที่ลดลงจะยังคงมีน้ำหนักต่อการส่งออกและนโยบายการเงิน ซึ่งหมายถึงการใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐานจะจางหายไปในระยะสั้น และการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังบูมในปัจจุบันก็จะชะลอตัวลงเขาระบุในงานวิจัย

ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนจาก Nomura คาดการณ์ว่า จีดีพีของจีนจะร่วงลงสู่ 5.8% ในไตรมาส 4 เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังต่อเนื่องอยู่

เราคาดว่าสถานการณ์ในเดือนตุลาคมที่ดูมั่นคงขึ้นนี้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น และคาดว่าหลังจากนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงเขาระบุ

 

เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเพิ่ม

Mao Shengyong เจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศจะยังเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่รุนแรงและซับซ้อนซึ่งคาดว่ารัฐบาลจีนจะเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า โดยมาตรการกระตุ้นที่มีแผนจะออกมานั้น เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม โดยยังคงการสนับสนุนการบริโภคในประเทศและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี

ทั้งนี้ การบริโภคในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 60.5% ของ จีดีพีจีน ใน 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่การลงทุนและการส่งออกสร้างมูลค่าเป็นสัดส่วน 19.8% และ 19.6% ตามลำดับ

ด้าน Julia Wang นักเศรษฐศาสตร์จีนแผ่นดินใหญ่จาก HSBC กล่าวว่า ข้อมูลจีดีพีที่เพิ่งประกาศนี้จะนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการใช้เงินของภาครัฐที่มากขึ้น

เราคาดว่ารัฐจะผ่อนคลายนโนบายทางการเงินและการคลังมากขึ้นในรูปแบบของการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่เพื่อไม่ให้อยู่ในแนวโน้มชะลอตัว รัฐควรต้องออกนโยบายผ่อนคลายที่เด็ดขาดมากขึ้นเธอกล่าว

  ที่มา
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine