เศรษฐกิจจีน เติบโต 6.2% ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2019 ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่น้อยที่สุดในรอบ 27 ปี คาดเดาได้เลยว่า Donald Trump จะต้องไม่รอช้าในการอ้างชัยชนะ แต่จริงหรือที่ว่า “สงครามการค้า” ส่งผลต่อการเติบโตของจีน และแดนมังกรกำลังเจอภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ
แปลและเรียบเรียงจาก China's Economy Grows At Slowest Pace In Nearly 30 Years, But Is The Trade War To Blame? เขียนโดย Yuwa Hedrick-Wong อาจารย์ต่างชาติเต็มเวลาจาก Lee Kuan Yew School of Public Policy มหาวิทยาลัยประจำชาติสิงคโปร์Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทวีตผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของเขาเมื่อคืนวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “...กำแพงภาษีของสหรัฐฯ กำลังส่งผลหนักต่อหลายบริษัทจนพวกเขาต้องการตีจากประเทศจีนไปสู่ประเทศที่ไม่มีกำแพงภาษี บริษัทหลายพันแห่งกำลังจากไป...”
https://twitter.com/realDonaldTrump/status/1150717474624692224?s=20แต่ความจริงก็คือ ตัวเลขจีดีพีรายไตรมาสล่าสุดของจีนในปีที่สองของสงครามการค้าโลกนี้ กลับเป็นภาพสะท้อนถึงเศรษฐกิจจีนที่แข็งแรงและยืดหยุ่นยิ่งกว่าเดิม
ตัวเลขการเติบโต 6.2% (YoY) นี้ต่ำกว่าไตรมาสแรกที่มีการเติบโต 6.4% (YoY) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และที่สำคัญยิ่งกว่าคือรายละเอียดเบื้องหลังตัวเลขการเติบโต
เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปในตัวเลขจีดีพีจีน ถึงแม้ว่าภาคส่งออกจะชะลอตัวลง แต่ทั้งการบริโภคภายในประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตกลับยิ่งแข็งแรง ส่งผลให้ตัวเลขรายได้ครัวเรือนของประชากรจีนยังคงเติบโต นำไปสู่ยอดขายที่ดีของธุรกิจรีเทล
ท่ามกลางบริบทการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในระดับนี้ นี่ถือเป็นข่าวอันยอดเยี่ยมที่ภาคธุรกิจบริการและการบริโภคภายในประเทศคือแรงผลักดันสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ธุรกิจส่งออก
กล่าวโดยสรุปก็คือ ทั้งผู้บริโภคชาวจีนและบริษัทที่มุ่งเน้นดีมานด์ในประเทศต่างไม่ให้ความสนใจสงครามการค้าของ Donald Trump พวกเขายังคงดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างสงบ
'เศรษฐกิจจีน' เลิกพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก
เศรษฐกิจจากการบริโภคภายในประเทศของจีนสามารถทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัวลงได้สำเร็จ เพราะดีมานด์ในประเทศมีขนาดใหญ่พอที่จะทำเช่นนั้นได้ ปัจจุบันภาคธุรกิจบริการกลายเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในจีดีพีของจีน และกำลังปฏิรูปด้านนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว พร้อมตอบสนองการขยายตัวของชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง
CLSA บริษัทโบรกเกอร์และการลงทุนจากฮ่องกง วิจัยพบว่า ค่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขการส่งออกกับการเติบโตของจีดีพีจีนมีเพียง 0.3 เท่านั้น (หมายถึง หากภาคส่งออกมีการขยายตัว 1% จะทำให้จีดีพีเติบโต 0.3%) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และต่ำกว่ามากหากเทียบกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย
จีนเป็นประเทศผู้นำของโลกในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ, mobile-payment และระบบชำระเงินแบบไร้เงินสด เพราะผู้บริโภคชาวจีนมีนิสัยกล้าเสี่ยงและชื่นชอบการทดลองประสบการณ์ใหม่ด้วยอุปกรณ์ล้ำสมัย ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นเหมือนพันธมิตรของนักลงทุนผู้ทะเยอทะยานในวงการเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตลาดขนาดมหึมาของประเทศจีนยังหมายถึงศักยภาพการขยายตัว (scale up) ของสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในภาคบริการ สู่การเป็นแรงขับเคลื่อนทรงพลังของแหล่งงานและการสร้างรายได้ในเจนเนอเรชันนี้ โดยเมื่อสิ้นปี 2018 ภาคบริการของจีนมีการจ้างงานมากกว่า 350 ล้านตำแหน่ง มากยิ่งกว่าภาคอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงาน 100 ล้านตำแหน่ง และเทรนด์นี้คาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ผ่อนคลายทางการเงินกระตุ้นธุรกิจในประเทศ
สิ่งที่เราได้เห็นขณะนี้เป็นเพียงภาพตัวอย่างของหนังม้วนยาว เพราะเทรนด์โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจรูปแบบดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น วัฏจักรธุรกิจในจีนเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากนโยบายการเงินการคลังของจีนที่เริ่มผ่อนคลายขึ้น
หากมองย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน การขันน็อตของรัฐบาลจีนนั้นรุนแรงกว่าที่คาด การบีบคั้นสินเชื่อทางการเงินนั้นส่งผลอย่างหนักต่อบริษัทที่พึ่งพิงระบบธนาคารเงา (Shadow Banking) เป็นแหล่งทุน หลังจากที่ระบบธนาคารเงาได้หดตัวลง ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ถูกจัดระเบียบ ในที่สุดปีนี้สถานการณ์จัดระเบียบทางการเงินได้เข้าสู่จุดสมดุลและกำลังจะเป็นขาขึ้น
ในหลายเดือนข้างหน้า สินเชื่อเงินกู้จะกลับสู่ระบบอีกครั้งและมุ่งเป้าไปยังภาคเอกชนที่กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ไม่เหมือนกับในอดีตที่ภาครัฐมุ่งเป้าไปยังภาคการส่งออก
ตอนจบของหนังเรื่องนี้คือการสับเปลี่ยนการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณเป็นการเติบโตด้วยคุณภาพของการลงทุนที่มีอยู่แล้ว และจีนจะต้องการการลงทุนใหม่ๆ น้อยลงกว่าในอดีต ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนที่มาจากกำลังซื้อภายในประเทศจะปรากฏให้เห็นชัดในอีกไม่กี่ปีจากนี้
บริษัทต่างชาติไม่ยอมถอย
ในทางตรงข้ามกับทวีตของ Trump บริษัทต่างชาติไม่ได้เข้าคิวกันถอยออกจากตลาดจีน จากการสำรวจของ Financial Times พบว่า บริษัทต่างชาติที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงินในประเทศจีนยังคงมีความสุขดีกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น รายได้บริษัทต่างชาติเติบโตขึ้น 20% ในปี 2018 สูงขึ้นจากการเติบโต 13% ในปี 2017 และดูเหมือนว่าเทรนด์นี้จะยังเติบโตต่อไปในปี 2019
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บริษัทต่างชาติหลายแห่งต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งท้องถิ่นในจีนที่ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ตลาดจีนซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจขนาดยักษ์ที่โตเร็วที่สุดในโลกนั้นยังคงยั่วยวนใจอย่างยิ่งสำหรับบริษัทอเมริกัน
ปีที่ผ่านมา บริษัทอเมริกันทำรายได้จากการดำเนินงานในประเทศจีนรวมกันประมาณ 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาสนใจในตอนนี้คือการปกป้องฐานตลาดในจีนจากผลกระทบของสงครามการค้า พวกเขาต้องการค้นหาวิธีที่จะทำให้รายได้เติบโตยิ่งขึ้น ไม่ใช่การโบกมืออำลาจากแดนมังกร
แปลโดย: พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล / Online Business Writerไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine