จับตาสตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิก จากทำเนียบ ‘100 to Watch’ ตอนที่ 3 - Forbes Thailand

จับตาสตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิก จากทำเนียบ ‘100 to Watch’ ตอนที่ 3

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Mar 2022 | 07:30 AM
READ 2706

ทำเนียบ ‘100 to Watch’ ของ Forbes Asia จัดทำขึ้นเป็นปีแรกเพื่อนำเสนอเรื่องราวของบริษัทขนาดย่อมและธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีความโดดเด่นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ตั้งแต่โดรนดำน้ำไปจนถึงระบบขับเคลื่อนดาวเทียมและอื่นๆ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องดิ้นรนอย่างหนักทั่วโลกจากการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทเหล่านี้กลับมีความปราดเปรียวมากพอที่จะเติบโต ส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีชื่ออยู่ในทำเนียบนี้คือ ความสามารถในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงการจราจรในเมืองใหญ่ที่แออัด การขยายโอกาสเชื่อมต่อในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงได้ในราคาย่อมเยา หรือการป้องกันไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้ง สำหรับบริษัทในทำเนียบนั้นมาจากประเทศและดินแดนต่างๆ รวม 17 แห่ง อยู่ในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพและการดูแลสุขภาพ อี-คอมเมิร์ซและค้าปลีก อาหารและธุรกิจบริการ และการศึกษาและการสรรหาบุคลากรมากที่สุด อินเดียและสิงคโปร์เป็นชุมชนธุรกิจสตาร์ทอัพที่คึกคักที่สุด โดยมีบริษัทเข้ามาติดอันดับ 22 และ 19 แห่งตามลำดับ ขณะที่ฮ่องกงส่งเข้าร่วม 10 แห่ง และอินโดนีเซีย 8 แห่ง ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่มีรายชื่อบริษัทเข้ามาเพียง 4 แห่ง เนื่องจากหลายรายมีรายได้หรือการสนับสนุนทางการเงินสูงกว่ากำหนด (และสามารถติดตามรายงานฉบับเต็มได้ทาง forbes.com/100toWatch)
  • วิธีการคัดเลือก: การคัดเลือกธุรกิจสำหรับจัดทำ “ทำเนียบ 100 to Watch” นั้น Forbes Asia ได้ขอให้มีการจัดส่งข้อมูลออนไลน์ พร้อมเชิญบรรดาองค์กรบ่มเพาะผู้ประกอบการ องค์กรที่ให้การสนับสนุนธุรกิจ SME มหาวิทยาลัยผู้ร่วมลงทุน ฯลฯ ให้เสนอชื่อบริษัทเข้ารับการพิจารณาจนได้บริษัท 100 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกจากข้อมูลบริษัทที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 900 ราย
  • สำหรับคุณสมบัติของบริษัทนั้น: ประกอบไปด้วยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอายุกิจการไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นบริษัทเอกชนที่มุ่งหวังผลกำไร และมีรายได้ประจำปีล่าสุดหรือได้รับการสนับสนุนทางการเงินรวมจนถึงเดือนสิงหาคมไม่เกิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทีมงานของเราได้ประเมินบริษัทแต่ละแห่งที่มีการเสนอชื่อเข้ามาโดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น ผลกระทบทางบวกที่มีต่อภูมิภาคหรืออุตสาหกรรม มีหลักฐานแสดงรายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง หรือสามารถดึงดูดการสนับสนุนทางการเงินได้ มีรูปแบบธุรกิจหรือตลาดลูกค้าที่มีอนาคต และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ บรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการถอดถอนหรือแทนที่บริษัทหรือบุคคลใดก็ตามในทำเนียบหากพบข้อมูลใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าขาดคุณสมบัติ
 

พบอีก 10 สตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิกจากทำเนียบ ‘100 to Watch’ ที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองดังต่อไปนี้

 
  1. AROMA BIT
ประเทศ: ญี่ปุ่น กลุ่มธุรกิจ: เทคโนโลยี ปีที่ก่อตั้ง: 2014 ซีอีโอ: Shunichiro Kuroki นักลงทุนหลัก: Seiko Epson, Kyocera Aroma Bit คือ ผู้พัฒนาชิปสำหรับการระบุและทำให้ข้อมูลกลิ่นอยู่ในรูปแบบดิจิทัล เมื่อเดือนมกราคม ปี 2021 Aroma Bit เปิดตัวเซนเซอร์ตรวจวัดกลิ่นขนาดกะทัดรัดและใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ทั้งการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร การดูแลสุขภาพ และการตรวจจับโรค ผู้สนับสนุนของบริษัทมีทั้งบริษัทเทคโนโลยีในญี่ปุ่นอย่าง Seiko Epson และ Kyocera  
  1. CONICLE CO.
ประเทศ: ไทย กลุ่มธุรกิจ: การศึกษาและการสรรหาบุคลากร ปีที่ก่อตั้ง: 2014 ซีอีโอ: นกรณ์ พฤกษ์พิพัฒน์เมธ นักลงทุนหลัก: Intouch Holdings Conicle (โคนิเคิล) คือ ผู้พัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรให้แก่บริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกใบรับรอง การจัดทำหลักสูตรรายวิชา และการประเมินผล มีลูกค้าระดับองค์กรกว่า 500 แห่งกระจายอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้งานกว่า 500,000 คน โดยในปี 2021 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 1.7 ล้านเหรียญในปีก่อนหน้า  
  1. DEKORUMA
ประเทศ: อินโดนีเซีย กลุ่มธุรกิจ: อี-คอมเมิร์ซและค้าปลีก ปีที่ก่อตั้ง: 2015 ซีอีโอ: Dimas Harry Priawan นักลงทุนหลัก: Foundamental, InterVest, OCBC NISP Ventura Dekoruma ขยายแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซจากที่เคยจำหน่ายเพียงเฟอร์นิเจอร์สู่การเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับบ้านและที่อยู่อาศัยครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสถาปัตยกรรมและการประกาศขายที่อยู่อาศัย เมื่อปี 2020 พวกเขาระดมทุนรอบพรี-ซีรีส์ C ได้จาก InterVest, Foundamental, OCBC NISP Ventura, Skystar Capital และนักลงทุนรายอื่นๆ โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่า  
  1. GLOBAL GENE CORP.
ประเทศ: สิงคโปร์ กลุ่มธุรกิจ: เทคโนโลยีชีวภาพและการดูแลสุขภาพ ปีที่ก่อตั้ง: 2013 ซีอีโอ: Sumit Jamuar Global Gene ช่วยเพิ่มความหลากหลายให้ฐานข้อมูลพันธุกรรมซึ่งเก็บตัวอย่าง 80% มาจากประเทศพัฒนาแล้วด้วยการทำแผนที่ DNA ของประชากรในอนุทวีปอินเดีย ข้อมูลที่ดีขึ้นจะช่วยให้ผู้ผลิตยาคิดค้นสูตรยาที่เหมาะสมกับพันธุกรรมแต่ละแบบได้ บริษัทสิงคโปร์แห่งนี้มีศูนย์วิจัยและพัฒนาอยู่ในสหราชอาณาจักร  
  1. HYPER ANNA
ประเทศ: ออสเตรเลีย กลุ่มธุรกิจ: เทคโนโลยี ปีที่ก่อตั้ง: 2016 ซีอีโอ: Natalie Nguyen นักลงทุนหลัก: IAG, Sequoia Capital ซอฟต์แวร์ Hyper Anna คือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลในโลกเสมือนซึ่งจะใช้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลอย่างรวดเร็วเพื่อเขียนเป็นชาร์ตและคำอธิบาย เช่น อินโฟกราฟิกให้ลูกค้าธุรกิจได้โดยอัตโนมัติ บริษัทออสเตรเลียแห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่าง IAG และ Sequoia Capital บริษัทกล่าวว่า สามารถระดมทุนได้รวม 13 ล้านเหรียญและบรรดาลูกค้าที่มีก็คือ Microsoft และ Singtel  
  1. NALAGENETICS
ประเทศ: สิงคโปร์ กลุ่มธุรกิจ: เทคโนโลยีชีวภาพและการดูแลสุขภาพ ปีที่ก่อตั้ง: 2016 ซีอีโอ: Levana Sani นักลงทุนหลัก: East Ventures, Intudo Ventures Nalagenetics เป็นบริษัทด้านการตรวจสอบพันธุกรรมที่เน้นกลุ่มประชากรชาวเอเชีย บริษัทร่วมตอบโต้โรคระบาดด้วยการช่วยโรงพยาบาลในอินโดนีเซียสร้างห้องแล็บตรวจโควิด-19 และออกชุดตรวจชนิดใช้น้ำลายซึ่งตรวจได้เร็วกว่า และราคาถูกกว่า PCR เมื่อเดือนกรกฎาคม Nalagenetics นำรายได้จากโควิด-19 มาทุ่มให้งานด้านเภสัชพันธุศาสตร์ที่ศึกษาว่ายีนของแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่อยาอย่างไรบ้าง บริษัทคาดว่ารายได้ต่อปีจะโต 80% ในปี 2022 ซึ่งบางส่วนเป็นเงินชดเชยที่ได้จากบริษัทประกันภัยและเงินค่าสิทธิการใช้ข้อมูลที่ได้จากบริษัทยา -- Jonathan Burgos  
  1. PLANYS TECHNOLOGIES
ประเทศ: อินเดีย กลุ่มธุรกิจ: การก่อสร้างและวิศวกรรม ปีที่ก่อตั้ง: 2015 ซีอีโอ: Tanuj Jhunjhunwala นักลงทุนหลัก: IIT Madras, Kris Gopalakrishnan โดรนใต้น้ำของ Planys ให้บริการลูกค้าหลากหลายในอินเดีย ตั้งแต่การค้นหาคนงานที่ติดอยู่ในเหมืองไปจนถึงการตรวจสอบท่าเรือและโรงไฟฟ้านอกชายฝั่ง สตาร์ทอัพแห่งนี้ได้รับการ บ่มเพาะจาก Indian Institute of Technology Madras (IIT Madras) และมีนักลงทุนซึ่งรวมถึง Kris Gopalakrishnan ผู้ก่อตั้ง Infosys ร่วมสนับสนุน
  1. RAGLAN FOOD
ประเทศ: นิวซีแลนด์ กลุ่มธุรกิจ: อาหารและธุรกิจบริการ ปีที่ก่อตั้ง: 2014 ซีอีโอ: Latesha Randal นักลงทุนหลัก: Entrepreneur First, Lumis Partners, SOSV Raglan เป็นที่รู้จักจากการผลิตโยเกิร์ตที่ใช้กะทิแทนนม บริษัทกล่าวว่า สามารถขายได้ 25,000 ขวดต่อสัปดาห์ทั้งในนิวซีแลนด์และผ่านผู้จัดจำหน่ายในจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ บริษัทที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์แห่งนี้ใช้ผลิตภัณฑ์ปราศจากนมของบริษัทช่วยสนับสนุนอาหารที่ผลิตจากพืช
  1. SAFEPAY
ประเทศ: ปากีสถาน กลุ่มธุรกิจ: การเงิน ปีที่ก่อตั้ง: 2019 ซีอีโอ: Raza Naqvi นักลงทุนหลัก: Stripe, Soma Capital Safepay ซึ่งได้รับการอบรมจาก Y Combinator ได้ช่วยให้ร้านค้าออนไลน์ในปากีสถานประมวลผลการจ่ายเงินผ่านเว็บไซต์และแอปของร้านได้ บริษัทกล่าวว่า ได้ค่าคอมมิชชั่น 2.5% จากการทำธุรกรรม และบริษัทประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า ได้เงินทุน 7 หลักมาจากรอบการระดมทุนซึ่งมีบริษัทฟินเทค Stripe ร่วมด้วย  
  1. SEE-MODE TECHNOLOGIES
ประเทศ: สิงคโปร์ กลุ่มธุรกิจ: เทคโนโลยีชีวภาพและการดูแลสุขภาพ ปีที่ก่อตั้ง: 2017 กรรมการบริษัท: Milad Mohammadzadeh, Sadaf Monajemi นักลงทุนหลัก: Cocoon Capital, Entrepreneur First, SGInnovate โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายอันดับต้นๆ และ See-Mode ก็ช่วยคาดการณ์โรคนี้ได้ด้วยซอฟต์แวร์ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งวิเคราะห์ผลสแกนอัลตราซาวด์หลอดเลือดได้ใน 1 นาทีด้วยการคลิกปุ่มเดียว See-Mode กล่าวว่า ซอฟต์แวร์นี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในออสเตรเลีย ยุโรป สิงคโปร์ และสหรัฐฯ และระดมทุนมาได้ 8 ล้านเหรียญจนถึงวันนี้   บรรณาธิการ: JEANHEE KIM กับ JOHN KANG รายงาน: Jonathan Burgos, Rina Caballar, Ramakrishnan Narayanan, Danielle Keeton-Olsen, Amit Prakash, James Simms, Yue Wang และ Ardian Wibisono เรียบเรียง: รัน-รัน และ ธรรดร โสติอำรุง อ่านเพิ่มเติม:
หรือคลิกอ่านฉบับเต็ม “จับตาสตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิกจากทำเนียบ ‘100 to Watch’” และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในรูปแบบ e-magazine