ทำเนียบ '100 to Watch' ของ Forbes Asia จัดทำขึ้นเป็นปีแรกเพื่อนำเสนอเรื่องราวของบริษัทขนาดย่อมและธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีความโดดเด่นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ตั้งแต่โดรนดำน้ำไปจนถึงระบบขับเคลื่อนดาวเทียมและอื่นๆ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องดิ้นรนอย่างหนักทั่วโลกจากการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทเหล่านี้กลับมีความปราดเปรียวมากพอที่จะเติบโต ส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีชื่ออยู่ในทำเนียบนี้คือ ความสามารถในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงการจราจรในเมืองใหญ่ที่แออัด การขยายโอกาสเชื่อมต่อในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงได้ในราคาย่อมเยา หรือการป้องกันไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้ง
สำหรับบริษัทในทำเนียบนั้นมาจากประเทศและดินแดนต่างๆ รวม 17 แห่ง อยู่ในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพและการดูแลสุขภาพ อี-คอมเมิร์ซและค้าปลีก อาหารและธุรกิจบริการ และการศึกษาและการสรรหาบุคลากรมากที่สุด อินเดียและสิงคโปร์เป็นชุมชนธุรกิจสตาร์ทอัพที่คึกคักที่สุด โดยมีบริษัทเข้ามาติดอันดับ 22 และ 19 แห่งตามลำดับ ขณะที่ฮ่องกงส่งเข้าร่วม 10 แห่ง และอินโดนีเซีย 8 แห่ง ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่มีรายชื่อบริษัทเข้ามาเพียง 4 แห่ง เนื่องจากหลายรายมีรายได้หรือการสนับสนุนทางการเงินสูงกว่ากำหนด
(และสามารถติดตามรายงานฉบับเต็มได้ทาง forbes.com/100toWatch)
- วิธีการคัดเลือก: การคัดเลือกธุรกิจสำหรับจัดทำ "ทำเนียบ 100 to Watch" นั้น Forbes Asia ได้ขอให้มีการจัดส่งข้อมูลออนไลน์ พร้อมเชิญบรรดาองค์กรบ่มเพาะผู้ประกอบการ องค์กรที่ให้การสนับสนุนธุรกิจ SME มหาวิทยาลัยผู้ร่วมลงทุน ฯลฯ ให้เสนอชื่อบริษัทเข้ารับการพิจารณาจนได้บริษัท 100 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกจากข้อมูลบริษัทที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 900 ราย
- สำหรับคุณสมบัติของบริษัทนั้น: ประกอบไปด้วยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอายุกิจการไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นบริษัทเอกชนที่มุ่งหวังผลกำไร และมีรายได้ประจำปีล่าสุดหรือได้รับการสนับสนุนทางการเงินรวมจนถึงเดือนสิงหาคมไม่เกิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทีมงานของเราได้ประเมินบริษัทแต่ละแห่งที่มีการเสนอชื่อเข้ามาโดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น ผลกระทบทางบวกที่มีต่อภูมิภาคหรืออุตสาหกรรม มีหลักฐานแสดงรายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง หรือสามารถดึงดูดการสนับสนุนทางการเงินได้ มีรูปแบบธุรกิจหรือตลาดลูกค้าที่มีอนาคต และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ บรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการถอดถอนหรือแทนที่บริษัทหรือบุคคลใดก็ตามในทำเนียบหากพบข้อมูลใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าขาดคุณสมบัติ
พบกับ 10 สตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิกจากทำเนียบ ‘100 to Watch’
ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
- AUTOCRYPT
ประเทศ: เกาหลีใต้
กลุ่มธุรกิจ:
โลจิสติกส์และการขนส่ง
ปีที่ก่อตั้ง: 2019
ซีอีโอ: Daniel Kim
นักลงทุนหลัก: Hyundai, Ulmus Investment
จำนวนการใช้ยานยนต์ไร้คนขับที่เพิ่มขึ้นทำให้ความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์มีความสำคัญยิ่งขึ้นเช่นกัน Autocrypt ซึ่งแยกตัวออกมาจาก Penta Security Systems จาก Seoul ได้
ให้บริการระบบความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ บริษัทกล่าวว่า สามารถระดมทุนได้ 15 ล้านเหรียญจากบรรดานักลงทุนรายต่างๆ ซึ่งรวมถึงหน่วยธุรกิจร่วมลงทุนของ Hyundai และ Ulmus Investment บริษัทได้รับการประเมินมูลค่าอยู่ที่ราว 45 ล้านเหรียญ และคาดว่าจะทำรายได้ 8.5 ล้านเหรียญในปี 2021 จากที่เคยทำได้ 3.4 ล้านเหรียญในปี 2020 นอกจากเกาหลีใต้แล้ว Autocrypt ยังมีสำนักงานตั้งอยู่ในแคนาดา จีน และญี่ปุ่น พร้อมมีแผนจะขยายกิจการไปยังยุโรป สิงคโปร์ และสหรัฐฯ
-- John Kang
- BIONICM
ประเทศ: ญี่ปุ่น
กลุ่มธุรกิจ:
เทคโนโลยีชีวภาพและการดูแลสุขภาพ
ปีที่ก่อตั้ง: 2018
ซีอีโอ: Sun Xiaojun
นักลงทุนหลัก: Japan Science and Technology Agency, University of Tokyo
หลังจากที่ Sun Xiaojun ต้องใช้ไม้เท้าพยุงตัวในประเทศจีนนานถึง 15 ปี ในที่สุดเขาก็มาได้ขาเทียมที่ญี่ปุ่น Sun ย้ายมาศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมจาก University of Tokyo จากนั้นจึงก่อตั้ง
BionicM เพื่อพัฒนาอวัยวะเทียมที่มีความเป็นธรรมชาติและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงหัวเข่าและข้อเท้าเทียมที่ใช้แบตเตอรี่ขับเคลื่อน เช่น ขาเทียมในส่วนข้อเท้าและเท้าจะสามารถดันตัวขึ้นจากพื้นและก้าวข้ามสิ่งกีดขวางได้ Sun บอกว่า ปี 2021 BionicM จะเริ่มวางจำหน่ายหุ่นยนต์ขาเทียมในราคาประมาณ 45,000 เหรียญ ซึ่งถูกกว่าขาเทียมในลักษณะเดียวกันที่มาจากสหรัฐฯ หรือยุโรป เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2020 BionicM บอกว่า สามารถระดมทุนในรอบซีรีส์ A ได้ 4 ล้านเหรียญ จากบรรดานักลงทุน เช่น Japan Science and Technology Agency และส่วนงานด้านการลงทุนของ University of Tokyo หรือมากกว่าเงินทุนรวมของตัวเองเกือบเท่าตัว
-- James Simms
- CAPTAIN FRESH
ประเทศ: อินเดีย
กลุ่มธุรกิจ:
อี-คอมเมิร์ซและค้าปลีก
ปีที่ก่อตั้ง: 2019
ซีอีโอ: Utham Gowda
นักลงทุนหลัก: Accel Partners, Matrix Partners India
Captain Fresh คือ ผลงานการพัฒนาของ Infifresh Foods พวกเขาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพอุตสาหกรรมอาหารทะเลอินเดียมูลค่า 3 หมื่นล้านเหรียญที่แบ่งออกเป็นส่วนธุรกิจต่างๆ บริษัทบอกว่า แพลตฟอร์ม B2B แบบเรียลไทม์ของบริษัททำงานด้วยระบบ AI เพื่อช่วยให้ร้านค้าปลีก 550 ราย (ซึ่งเติบโตกว่า 500% ในเวลาเพียงปีเดียว) สามารถจับคู่คำสั่งซื้อของลูกค้าเข้ากับชาวประมงและฟาร์มประมงต่างๆ Utham Gowda ผู้ก่อตั้งกล่าวว่า พวกเขามีแบบจำลองการคาดการณ์เพื่อเฟ้นหาแหล่งปลาที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าได้ตั้งแต่ก่อนที่ลูกค้าจะส่งคำสั่งซื้อเข้ามาเสียอีก และยังมีบริการจัดส่งเวลากลางคืนในเมืองบางแห่งด้วย เมื่อเดือนกรกฎาคม Captain Fresh บอกว่า สามารถระดมทุนได้ 12 ล้านเหรียญในรอบซีรีส์ A ซึ่งนำโดย Accel Partners และ Matrix Partners India
-- Amit Prakash
- EN-TRAK
ประเทศ: ฮ่องกง
กลุ่มธุรกิจ:
การก่อสร้างและวิศวกรรม
ปีที่ก่อตั้ง: 2013
ซีอีโอ: Vincent Chow
นักลงทุนหลัก: Alibaba Entrepreneurs Fund, CLP
ซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ของ
En-trak สามารถตั้งค่าอุณหภูมิห้องและแสงสว่างในอาคารสำนักงานเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานมากที่สุด พร้อมกับประหยัดพลังงานไปพร้อมๆ กันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของบริษัทช่วยให้ลูกค้าลดการใช้พลังงานในระบบทำความร้อน ระบบระบายอากาศ และระบบปรับอากาศลงได้ 20% สำหรับผู้สนับสนุน En-trak มีทั้ง Alibaba Entrepreneurs Fund และ CLP ของฮ่องกง
- KAMI
ประเทศ: นิวซีแลนด์
กลุ่มธุรกิจ:
การศึกษาและการสรรหาบุคลากร
ปีที่ก่อตั้ง: 2013
ซีอีโอ: Hengjie Wang
นักลงทุนหลัก: Right Click Capital
เครื่องมือดิจิทัลสำหรับห้องเรียนออนไลน์ของบริษัทนี้ได้คลื่นยักษ์ของการเรียนออนไลน์ช่วยส่งเสริมเมื่อโรคระบาดทำให้โรงเรียนต้องปิดและปรับตัวมาเรียนทางไกล ซึ่งเครื่องมือของบริษัทรุ่นที่เป็นส่วนขยายใน Google Chrome มีผู้ใช้งานกว่า 4 ล้านคน
- OKRA SOLAR
ประเทศ: กัมพูชา
กลุ่มธุรกิจ:
เทคโนโลยี
ปีที่ก่อตั้ง: 2016
ซีอีโอ: Afnan Hannan
นักลงทุนหลัก: Greenway Grid Global, Schneider Electric
ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของ Okra Solar ผลิตไฟฟ้าให้หมู่บ้านต่างๆ นอกโครงข่ายไฟฟ้าปกติ Okra Solar กล่าวว่า บริษัทช่วยให้ชาวบ้าน 2,500 คนจาก 26 หมู่บ้านใน 4 ประเทศ ได้มีไฟฟ้าใช้โดยมีผู้สนับสนุนคือ Schneider Electric และ Greenway Grid Global ปัจจุบันบริษัทกำลังหาทางระดมทุน 6.5 ล้านเหรียญในรอบซีรีส์ A
- LHAMOUR
ประเทศ: มองโกเลีย
กลุ่มธุรกิจ:
อี-คอมเมิร์ซและค้าปลีก
ปีที่ก่อตั้ง: 2014
ซีอีโอ: Khulan Davaadorj
หลังจากเป็นผื่นแพ้ Khulan Davaadorj จึงสร้าง
แบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากธรรมชาติของเธอเองซึ่งปัจจุบันมีสินค้ากว่า 40 รายการ และใช้วัตถุดิบที่จัดหาในประเทศอย่าง
น้ำนมจามรี บริษัทที่มีแนวทางลดขยะเหลือศูนย์แห่งนี้กล่าวว่า สินค้าของบริษัทมีขายตามห้างในมองโกเลีย และมีผู้จัดจำหน่ายและร้านขายอยู่ทั่วโลก
- PAYMONGO PHILIPPINES
ประเทศ: ฟิลิปปินส์
กลุ่มธุรกิจ:
การเงิน
ปีที่ก่อตั้ง: 2019
ซีอีโอ: Francis Plaza
นักลงทุนหลัก: Y Combinator
PayMongo ซึ่งมีแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ช่วยให้ร้านค้ารับชำระเงินออนไลน์ได้ทุกรูปแบบ กล่าวว่า บริษัทให้บริการลูกค้าประมาณ 7,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดจิ๋ว เล็ก และกลาง ที่กำลังขยับจากร้านค้าแบบมีหน้าร้านไปสู่ อี-คอมเมิร์ซ PayMongo มีผู้สนับสนุนคือ Y Combinator และกล่าวว่า บริษัทระดมทุนได้แล้ว 14.7 ล้านเหรียญ
- WADA BENTO
ประเทศ: ฮ่องกง
กลุ่มธุรกิจ:
อาหารและธุรกิจบริการ
ปีที่ก่อตั้ง: 2018
ซีอีโอ: Jason Chen
นักลงทุนหลัก: Mizuho
Wada Bento ช่วยนำอาหารร้อนๆ จากผู้ให้บริการอาหารมาขายผ่านตู้อัตโนมัติ สตาร์ทอัพรายนี้กล่าวว่า ถึงวันนี้ระดมทุนได้แล้ว 1.1 ล้านเหรียญจากนักลงทุน ซึ่งรวมถึง Mizuho Crowd Brain โครงการพัฒนาสตาร์ทอัพของธนาคารญี่ปุ่น Mizuho
- MYCLOUDFULFILLMENT
ประเทศ: ไทย
กลุ่มธุรกิจ:
อี-คอมเมิร์ซและค้าปลีก
ปีที่ก่อตั้ง: 2014
ซีอีโอ: Gobi Partners, Siam
นักลงทุนหลัก: Commercial Bank
MyCloudFulfillment ของ E-Empowerment
ช่วยรับคำสั่งซื้อ บรรจุ และจัดส่งสินค้าให้ร้านอี-คอมเมิร์ซ รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าให้ร้านด้วย เมื่อปี 2020 บริษัทประกาศว่า มีรายได้ 3.8 ล้านเหรียญและมีเป้าหมายจะเพิ่มอีกเท่าตัวในปี 2021 และในเดือนตุลาคมบริษัทได้เงินมา 2 ล้านเหรียญในการระดมทุนซีรีส์ A จากนักลงทุนซึ่งรวมถึง Gobi Partners และหน่วยธุรกิจร่วมลงทุนของธนาคารไทยพาณิชย์
บรรณาธิการ: JEANHEE KIM กับ JOHN KANG รายงาน: Jonathan Burgos, Rina Caballar, Ramakrishnan Narayanan, Danielle Keeton-Olsen, Amit Prakash, James Simms, Yue Wang และ Ardian Wibisono เรียบเรียง: รัน-รัน และ ธรรดร โสติอำรุง
ติดตามสตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วอื่นๆ ได้ในตอนต่อไป...
อ่านเพิ่มเติม:
หรือคลิกอ่านฉบับเต็ม "จับตาสตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิกจากทำเนียบ ‘100 to Watch’" และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในรูปแบบ e-magazine