จับตาสตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิก จากทำเนียบ ‘100 to Watch’ ตอนที่ 2 - Forbes Thailand

จับตาสตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิก จากทำเนียบ ‘100 to Watch’ ตอนที่ 2

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Mar 2022 | 07:33 AM
READ 2644

ทำเนียบ ‘100 to Watch’ ของ Forbes Asia จัดทำขึ้นเป็นปีแรกเพื่อนำเสนอเรื่องราวของบริษัทขนาดย่อมและธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีความโดดเด่นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ตั้งแต่โดรนดำน้ำไปจนถึงระบบขับเคลื่อนดาวเทียมและอื่นๆ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องดิ้นรนอย่างหนักทั่วโลกจากการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทเหล่านี้กลับมีความปราดเปรียวมากพอที่จะเติบโต ส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีชื่ออยู่ในทำเนียบนี้คือ ความสามารถในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงการจราจรในเมืองใหญ่ที่แออัด การขยายโอกาสเชื่อมต่อในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงได้ในราคาย่อมเยา หรือการป้องกันไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้ง สำหรับบริษัทในทำเนียบนั้นมาจากประเทศและดินแดนต่างๆ รวม 17 แห่ง อยู่ในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพและการดูแลสุขภาพ อี-คอมเมิร์ซและค้าปลีก อาหารและธุรกิจบริการ และการศึกษาและการสรรหาบุคลากรมากที่สุด อินเดียและสิงคโปร์เป็นชุมชนธุรกิจสตาร์ทอัพที่คึกคักที่สุด โดยมีบริษัทเข้ามาติดอันดับ 22 และ 19 แห่งตามลำดับ ขณะที่ฮ่องกงส่งเข้าร่วม 10 แห่ง และอินโดนีเซีย 8 แห่ง ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่มีรายชื่อบริษัทเข้ามาเพียง 4 แห่ง เนื่องจากหลายรายมีรายได้หรือการสนับสนุนทางการเงินสูงกว่ากำหนด (และสามารถติดตามรายงานฉบับเต็มได้ทาง forbes.com/100toWatch)
  • วิธีการคัดเลือก: การคัดเลือกธุรกิจสำหรับจัดทำ “ทำเนียบ 100 to Watch” นั้น Forbes Asia ได้ขอให้มีการจัดส่งข้อมูลออนไลน์ พร้อมเชิญบรรดาองค์กรบ่มเพาะผู้ประกอบการ องค์กรที่ให้การสนับสนุนธุรกิจ SME มหาวิทยาลัยผู้ร่วมลงทุน ฯลฯ ให้เสนอชื่อบริษัทเข้ารับการพิจารณาจนได้บริษัท 100 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกจากข้อมูลบริษัทที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 900 ราย
  • สำหรับคุณสมบัติของบริษัทนั้น: ประกอบไปด้วยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอายุกิจการไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นบริษัทเอกชนที่มุ่งหวังผลกำไร และมีรายได้ประจำปีล่าสุดหรือได้รับการสนับสนุนทางการเงินรวมจนถึงเดือนสิงหาคมไม่เกิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทีมงานของเราได้ประเมินบริษัทแต่ละแห่งที่มีการเสนอชื่อเข้ามาโดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น ผลกระทบทางบวกที่มีต่อภูมิภาคหรืออุตสาหกรรม มีหลักฐานแสดงรายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง หรือสามารถดึงดูดการสนับสนุนทางการเงินได้ มีรูปแบบธุรกิจหรือตลาดลูกค้าที่มีอนาคต และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ บรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการถอดถอนหรือแทนที่บริษัทหรือบุคคลใดก็ตามในทำเนียบหากพบข้อมูลใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าขาดคุณสมบัติ
 

พบกับ 10 สตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิกจากทำเนียบ ‘100 to Watch’ ในตอนที่ 2 ที่น่าจับตามองดังต่อไปนี้

 
  1. ALESCA LIFE TECHNOLOGIES
ประเทศ: จีน กลุ่มธุรกิจ: เกษตรกรรม ปีที่ก่อตั้ง: 2013 ซีอีโอ: Stuart Oda Alesca ของ Stuart Oda อดีตทำงานด้านวาณิชธนกิจที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการให้บริการลูกค้าทั่วโลกในการทำเกษตรกรรมภายในอาคาร บริษัทกล่าวว่า ฐานอุปกรณ์การเกษตรสำเร็จรูปครบวงจรของพวกเขาขยายตัว 200% ในปี 2019 ก่อนจะเติบโตอย่างต่อเนื่องอีก 750% ในปีต่อมา อานิสงส์จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุปทานอาหาร ทำให้เกิดความต้องการผลผลิตภายในประเทศ และผู้บริโภคยังหันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย  
  1. BOBOBOX
ประเทศ: อินโดนีเซีย กลุ่มธุรกิจ: อาหารและธุรกิจบริการ ปีที่ก่อตั้ง: 2017 ซีอีโอ: Indra Gunawan นักลงทุนหลัก: Alpha JWC Ventures, Horizons Ventures Bobobox Mitra Indonesia ให้บริการที่พักราคาย่อมเยาในรูปแบบโรงแรมแคปซูล มีสาขา 14 แห่งกระจายทั่วอินโดนีเซีย เมื่อลูกค้าจ่ายที่พักในราคาต่อคืนแล้วก็จะสามารถเช่าห้องพักตามสาขาต่างๆ เป็นรายชั่วโมงได้อีกด้วย ต่อมา Bobobox ขยายกิจการจากโรงแรมแคปซูลเป็นบ้านพักในป่าชื่อว่า Bobocabin และรถตู้แคมป์ปิ้ง Bobovan  
  1. CLASSUM
ประเทศ: เกาหลีใต้ กลุ่มธุรกิจ: การศึกษาและการสรรหาบุคลากร ปีที่ก่อตั้ง: 2018 ซีอีโอ: Chaerin Lee นักลงทุนหลัก: Pearl Abyss, Smilegate Classum อำนวยความสะดวกในการสื่อสารในชั้นเรียนให้กับบรรดาครูอาจารย์และผู้ฝึกสอนระดับองค์กร โดยจัดให้มีทั้งวิดีโอ การสนทนาผ่านการแชท และเครื่องมือการเรียนรู้รวมอยู่ในแพลตฟอร์มเดียว สตาร์ทอัพแห่งนี้บอกว่า จนถึงวันนี้ระดมทุนได้แล้ว 7.5 ล้านเหรียญ ไม่ว่าจากนักลงทุนอย่างหน่วยธุรกิจเพื่อการร่วมลงทุนของบริษัทเกมต่างๆ ได้แก่ Pearl Abyss และ Smilegate  
  1. DOCTORONCALL
ประเทศ: มาเลเซีย กลุ่มธุรกิจ: เทคโนโลยีชีวภาพและการดูแลสุขภาพ ปีที่ก่อตั้ง: 2016 ซีอีโอ: Maran Virumandi นักลงทุนหลัก: Conny & Co. DoctorOnCall เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการดูแลสุขภาพ ให้บริการคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงร้านขายยาออนไลน์พร้อมบริการจัดส่ง และการนัดหมายแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ DoctorOnCall บอกว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานราว 3 ล้านรายทั่วประเทศ และยังวางแผนที่จะก่อตั้งคลินิกเคลื่อนที่เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ชนบทมีโอกาสเข้าถึงการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น  
  1. GAMEZOP
ประเทศ: อินเดีย กลุ่มธุรกิจ: บันเทิงและสื่อ ปีที่ก่อตั้ง: 2015 ซีอีโอ: Yashash Agarwal นักลงทุนหลัก: Bitkraft Ventures Gamezop เป็นแพลตฟอร์มเกมที่ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นเกมโปรดได้โดยไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเฉพาะของแต่ละเกม Gamezop เผยว่า Advergame Technologies ซึ่งเป็นบริษัทแม่สามารถระดมทุนได้ 4.3 ล้านเหรียญ ซึ่งในกลุ่มนักลงทุนนั้นรวมถึง Bitkraft Ventures โดย Gamezop คาดว่าในปี 2020-2021 รายได้จะเพิ่มเป็นอีกเท่าตัวเป็น 3.2 ล้านเหรียญ  
  1. HOOZING
ประเทศ: เวียดนาม กลุ่มธุรกิจ: การเงิน ปีที่ก่อตั้ง: 2015 ซีอีโอ: Hai Le แอปของ Hoozing มีรีวิวจากผู้ใช้งานเครื่องมือคำนวณราคา และทางเลือกการจ่ายเงินแบบดิจิทัลที่ช่วยให้การปล่อยเช่าและขายอสังหาฯ ทำได้รวดเร็วขึ้น ซีอีโอ Hai Le กล่าวว่า แม้ในช่วงโรคระบาด Hoozing ก็ยังมีรายได้ 1.1 ล้านเหรียญในปี 2020 และเสริมว่า บริษัทจะเริ่มทำกำไรได้ภายในสิ้นปี 2021 จากรายได้ 2 ล้านเหรียญ  
  1. IMMEDIATION
ประเทศ: ออสเตรเลีย กลุ่มธุรกิจ: เทคโนโลยี ปีที่ก่อตั้ง: 2017 ซีอีโอ: Laura Keily นักลงทุนหลัก: Thorney Investments สตาร์ทอัพเทคโนโลยีเพื่องานกฎหมายรายนี้ก่อตั้งโดย Laura Keily ทนายความบริษัทและเนติบัณฑิต โรคระบาดทำให้ความต้องการเครื่องมือสื่อสารและการประชุมผ่านวิดีโอที่ปลอดภัยของบริษัทพุ่งขึ้นมาก เพราะมันช่วยให้ศาลทำงานออนไลน์ได้ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์และข้อจำกัดอื่นๆ Immediation กล่าวว่า ระดมทุนได้ 2.8 ล้านเหรียญเมื่อเดือนธันวาคม ซึ่งรวมถึงเงินทุนจาก Thorney Investments  
  1. LOCA
ประเทศ: ลาว กลุ่มธุรกิจ: โลจิสติกส์และการขนส่ง ปีที่ก่อตั้ง: 2018 ซีอีโอ: Souliyo Vongdala Loca เป็นผู้ให้บริการเรียกรถรายแรกในลาวและเป็นผู้นำตลาด บริษัทเพิ่งเพิ่มบริการใหม่ๆ ลงในแพลตฟอร์ม เช่น การโฆษณานอกบ้าน บริการจัดหารถบรรทุกและการบริการสั่งซื้อสินค้าของชำ Loca กล่าวว่า ก่อนเกิดโรคระบาดลูกค้าส่วนใหญ่คือ นักท่องเที่ยว แต่เมื่อขยายตลาดสู่ผู้ใช้งานในท้องถิ่นก็ช่วยให้กิจการโตเดือนละ 30%  
  1. RASPECT INTELLIGENCE INSPECTION
ประเทศ: ฮ่องกง กลุ่มธุรกิจ: การก่อสร้างและวิศวกรรม ปีที่ก่อตั้ง: 2017 ซีอีโอ: Harris Sun นักลงทุนหลัก: Alibaba Entrepreneurs Fund, Hong Kong Innovation and Technology Venture Fund ของฮ่องกง RaSpect ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าใช้ทั้งปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเซนเซอร์ IoT และหุ่นยนต์เพื่อตรวจสอบอาคาร ค้นหาจุดอันตราย โดยบริษัทกล่าวว่า วิธีนี้แม่นยำ รวดเร็ว และประหยัดกว่าการตรวจสอบแบบดั้งเดิม RaSpect กล่าวว่า บริษัทจะขยายไปสู่งานบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์สำหรับลิฟต์ บันไดเลื่อน ระบบทำความร้อน และระบบอื่นๆ ภายในอาคารด้วย คาดว่าปี 2021 รายได้จะโต 275% เป็น 3 ล้านเหรียญ ทั้งนี้บริษัทยังได้เงินทุนจาก HKSTP, MindWorks และกองทุนบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ParticleX ด้วย นอกเหนือจาก Alibaba Entrepreneurs Fund และ Innovation and Technology Venture Fund ของฮ่องกง -- John Kang  
  1. PENTESTER ACADEMY
ประเทศ: สิงคโปร์ กลุ่มธุรกิจ: การศึกษาและการสรรหาบุคลากร ปีที่ก่อตั้ง: 2018 ซีอีโอ: Vivek Ramachandran นักลงทุนหลัก: Sequoia Surge Pentester Academy ของ Binary Security จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ให้หน่วยงานรัฐและบริษัทต่างๆ ซีอีโอของบริษัทนี้เป็นที่รู้จักเพราะเขาค้นพบปัญหาความปลอดภัยในเครือข่าย WiFi บริษัทกล่าวว่า ยอดขายเพิ่มเป็นเท่าตัวในช่วงโรคระบาด   บรรณาธิการ: JEANHEE KIM กับ JOHN KANG รายงาน: Jonathan Burgos, Rina Caballar, Ramakrishnan Narayanan, Danielle Keeton-Olsen, Amit Prakash, James Simms, Yue Wang และ Ardian Wibisono เรียบเรียง: รัน-รัน และ ธรรดร โสติอำรุง ติดตามสตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วอื่นๆ ได้ในตอนต่อไป… อ่านเพิ่มเติม:
หรือคลิกอ่านฉบับเต็ม “จับตาสตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิกจากทำเนียบ ‘100 to Watch’” และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในรูปแบบ e-magazine