ปี 2021 เป็นปีที่ 'คริปโต' กลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณหนีไม่พ้น เมื่อท่าทางสกุลเงินใหม่นี้จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคริปโตตัวไหนกันนะที่มาแรงที่สุด
สองปีที่แล้ว บิตคอยน์ได้เข้ากุมตลาดสกุลเงิน 'คริปโต' โดยกลืนมูลค่าไปถึงร้อยละ 70 แต่ตอนนี้สินทรัพย์คริปโตไปทะยานไปจนมีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว ทำให้ตลาดนั้นก็ได้แตกตัว และวันนี้ ส่วนแบ่งของบิตคอยน์มีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 40 อีกทั้ง เครือข่ายคริปโตใหม่ๆ ก็มีโผล่ขึ้นมาให้ได้เห็นทุกๆ วัน
หนึ่งในวิธีที่จะตัดความยุ่งเหยิงและดูว่าวงการนี้จะไปทางไหนคือตามนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหลายที่เป็นผู้สร้าง และผู้ดูแลเครือข่ายคริปโตไปนั่นเอง
“เหล่านักพัฒนามักจะค่อนข้างสมเหตุสมผล หากมีอะไรที่พวกเขาเล่นแล้วสามารถนำมาใช้จริงๆ ได้ พวกเขาก็มีคสามสามารถที่จะไปตามหาสิ่งนั้น” Avichal Garg หุ้นส่วนผู้จัดการ ณ Venture Firm ที่ให้ความสนใจกับ 'คริปโต' เป็นพิเศษอย่าง Electric Capital กล่าว โดยเขามองว่าตัวเลขนักพัฒนาที่ทำงานกับเครือข่ายคริปโตเป็น “ตัวชี้หลักว่ามูลค่าจะถูกสร้างขึ้นตรงไหน และเพิ่มขึ้นตรงไหนใน 10 ปีข้างหน้า”
Garg ได้ร่วมเขียนรายงานกับ Maria Shen หุ้นส่วนของ Electric Capital โดยได้เผยว่าแพลตฟอร์มสกุลเงินคริปโตไหนที่ดึงดูดเหล่านักพัฒนาได้มากที่สุดในปี 2021 พวกเขาใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่นักพัฒนาทั้งหลายเลือกใช้ในการเก็บโค้ดอย่าง GitHub ในการประมาณตัวเลขว่ามีวิศวกรกี่คนบนแต่ละแพลตฟอร์ม
แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะตีตัวเลขนักพัฒนาทั้งหมดต่ำเกินไป เนื่องจากข้อมูลของพวกเขานั้นไม่ได้รวมถึงโค้ดที่เขียนขึ้นมาเองส่วนตัว หรือ วิศวกรคนอื่นๆ ที่ทำงานกับบริษัทต่างๆ เช่น Coinbase เป็นต้น
จากการค้นคว้าขอพวกเขา พบว่ามีนักพัฒนาอยู่ 18,000 คน (ทั้งที่ทำแบบเต็มเวลา และพาร์ทไทม์) ที่กำลังทำงานเกี่ยวกับแพลตฟอร์มสกุลเงินคริปโต เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีอยู่ 10,000 คน และ Garg มองว่าตัวเลขที่พุ่งขึ้นนี้เป็นตัวยืนยันว่าวงการนี้จะโตและคงอยู่ต้องไป โดย Kinjal Shah นักลงทุนจาก Blockchain Capital ก็เห็นด้วย เธอกล่าวว่า “เมื่อผู้คนโหวตด้วยการกระทำและเวลาของเขา นั่นเป็นสัญญาณชัดมากที่บ่งชี้ให้เราเห็นว่าพวกเขากำลังสร้างอะไรสำหรับระยะยาวอยู่”
คริปโต โตเร็ว
งานวิจัยของ Electric Capital วิเคราะห์โค้ดกว่า 500,000 เซ็ตและกว่า 160 ล้านการอัพเดตของโค้ด โดยพวกเขาเทียบระหว่างเดือนธันวาคม 2020 จนถึงธันวาคม 2021 เพื่อที่จะคำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้น และในลิสต์ด้านล่างนี้ จะนับนักพัฒนาคนนั้นๆ เป็นนักพัฒนาเต็มเวลาหากบุคลลดังกล่าวได้อัพเดตซอฟต์แวร์อย่างน้อย 10ครั้งใน 1 เดือน
แพลตฟอร์มโตเร็วทั้งหลายก็ล้วนถือเป็นคู่แข่งของ Ethereum เครือข่ายคริปโตที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 หลังจากเปิดตัวไปในปี 2015 โดยมีนักพัฒนาถึง 1,300 ทำงานเต็มเวลาในการสร้างแอปต่างๆ บนเครือข่ายนี้ Ethereum เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์กระจายศูนย์กลางที่สามารถสร้างแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ และถูกดูแลโดยมากกว่า 5,000 ‘โหนด’ หรือ คอมพิวเตอร์ทั้งหลายที่ช่วยยืนยันการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อเสียของการที่เครือข่ายนี้แพร่หลายไปกว้างขวางก็คือ Ethereum สามารถทำธุรกรรมได้เพียง 15 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น (ตลาดหุ้น Nasdaq สามารถทำธุรกรรมได้โดยเฉลี่ย 20,000 ธุรกรรมต่อวินาที) และค่าธุรกรรมครั้งหนึ่งบางทีก็เกิน 100 เหรียญอีกด้วย
เครือข่ายคริปโตที่โตเร็วเหล่านี้ล้วนมีวิธีการที่แตกต่างจาก Ethereum ในการกระจายศูนย์กลาง และการจัดการกับ ‘consensus’ หรือตัวอัลกอริทึมในการจัดการและยืนยันธุรกรรมก็ต่างไปด้วย โดยพวกเขาจัดการกับธุรกรรมต่างๆ ได้เร็วกว่า และมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า และส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้กระจายศูนย์กลางได้เท่ากับ Ethereum
Terra จากเกาหลีที่ถูกก่อตั้งโดยนักธุรกิจวัย 30 อย่าง Do Kwon ได้เปิดตัวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และเหรียญ UST ที่จัดเป็น ‘stable coin’ ซึ่งก็คือสกุลเงินคริปโตที่อิงอยู่กับมูลค่าเหรียญสหรัฐฯ ก็โตขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่าตลาดถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ ทำให้กลายเป็น 1 ใน 5 stablecoin อันดับแรกๆ ของโลก โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Messari เว็บไซต์ข้อมูลคริปโต
ทาง Solana จาก San Francisco เองก็ได้ทำให้เหล่าเซียนคริปโตทั้งหลายต้องประหลาดใจไม่ใช่น้อยในช่วงปีที่แล้วหลักจากสามารถดึงดูดนักพัฒนานับร้อย และมหาเศรษฐีที่ออกมาสนับสนุนอย่าง Sam Bankman-Fried ได้สำเร็จ
อีกทั้งยังมีแอปมากมายที่สร้างอยู่บน Solana ไม่ว่าจะเป็นแอปแลกเปลี่ยนคริปโต, ยืมผลิตภัณฑ์ จนไปถึงแอปเพลงต่างๆ ก็ได้รับความนิยมมากทีเดียว ส่งผลให้โทเคน SOL ของ Solana พุ่งขึ้นจากมูลค่า 1.85 เหรียญเมื่อเดือนมกราคม 2021 ไปเป็น 170 เหรียญในท้ายปีนั้น จนมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านเหรียญ
Near เครือข่ายที่เกิดขึ้นบริเวณ Bay Area เมื่อปี 2017 ที่เปิดตัวโดยมี Alexander Skidanov และ Illia Polosukhin สองวิศวกรที่เคยทำงานในระบบฐานข้อมูลแบบกระจายที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่าง MemSQL และ TensorFlow แพลตฟอร์ม machine learning ของ Google เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทั้ง Solana และ Near ถูกเขียนขึ้นโดยใช้ Rust ภาษาโปรแกรมยอดนิยมที่ถูกใช้มากกว่า Solidity ที่เป็นภาษาโปรแกรมของ Ethereum ซะอีก
Solana และ Near ก็ต่างออกหน้ามากเป็นพิเศษว่าพวกเขาพร้อมมอบเงินสนับสนุนให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์หากพวกเขาตกลงที่จะสร้างแอปพลิเคชันบนระบบของพวกเขาเหล่านี้ โดย Near ได้เปิดตัวโปรแกรมเงินสนับสนุน 800 ล้านเหรียญเมื่อเดือนตุลาคม และ Marieke Flament อดีต CMO แห่ง Circle ก็ขึ้นเป็น CEO แห่ง Near Foundation ในปีนี้อีกด้วย
หนึ่งแพลตฟอร์มที่นักพัฒนาโบกมือลาไปเป็นจำนวนมากคือ EOS ซึ่งจากที่มีนักพัฒนาอยู่ 125 คน (ทั้งแบบเต็มเวลาและพาร์ทไทม์) เมื่อเดือนธันวาคม 2020 ลดเหลือเพียง 80 คนในปีต่อมานี้
เป็นที่รู้กันว่าเมื่อปี 2018 ทาง EOS ได้เปิดขาย ‘Initial Coin Offering’ มูลค่า 4 พันล้านเหรียญเพื่อเป็นการระดมทุน และต่อมา ก็ได้โดน SEC ปรับไปถึง 24 ล้านเหรียญในข้อหาเสนอขายหลักทรัพย์ที่ยังไม่ลงทะเบียน ซึ่งทางบริษัทเองก็ไม่ได้มีออกมายอมรับ หรือปฏิเสธข้อหาดังกล่าว
นอกเหนือจากรายชื่อเครือข่ายโตเร็วเหล่านี้แล้ว ในรายงานของ Electric Capital ยังแสดงให้เห็นว่าใครมีนักพัฒนาร่วมงานด้วยมากที่สุด ซึ่ง Ethereum ก็คว้าตำแหน่งนี้ไปครองไว้ได้นานที่สุด โดย 1 ใน 4 นักพัฒนาคริปโตหน้าใหม่ที่ก้าวเข้าวงการทั้งหลายก็ต่างเลือกที่จะสร้างสื่งต่างๆ บนระบบ Ethereum
แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ The 10 Fastest-Growing Cryptocurrency Ecosystems In 2021 เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม: Forbes Halo 100: บริษัทผู้สร้างแบรนด์ขวัญใจมหาชน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine