investments of Passion - Forbes Thailand

investments of Passion

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Apr 2016 | 03:14 PM
READ 4195

เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี /ภาพ: เอกพล ภารุณ

 บางสินทรัพย์ ไม่ได้สูงค่าเพียงราคาแต่ทรงคุณค่ายิ่งกว่าหากสามารถเสาะหามาครอบครอง และยังนำไปสู่การตีมูลค่าที่สูงขึ้นเมื่อสินทรัพย์เหล่านั้นมีจำนวนน้อยแต่ เป็นที่ชื่นชอบของผู้มีกำลังซื้อ ด้วยเหตุนี้การลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาแพงและพรั่งพร้อมด้วยคุณค่าทางจิตใจ ในรูปแบบที่เรียกว่า Investments of Passion จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่กำลังทวีความนิยมยิ่งขึ้น ทั้งในแง่จำนวนผู้สนใจและความหลากหลายในการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (Asset Class)

แต่การวางแผนลงทุนให้ได้ดอกผลงอกเงยดังเป้าหมายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ และศิลปะแห่งการลงทุนอย่างเข้มข้น ดังเช่นนักลงทุนผู้เจนสนามทั้งในบทบาทการทำงานและการบริหารสินทรัพย์ส่วนตัว อย่างผู้บริหารหนุ่มโสดวัย 41 ปี...กฤษณ์ จันทโนทก รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กฤษณ์ เป็นผู้ที่เทใจให้การลงทุนฝั่ง Investments of Passion อย่างสุดตัว เพราะจัดสรรพอร์ตให้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนทั้งหมด ต่างจากนักลงทุนทั่วไปที่เลือกแบ่งใจให้เพียง 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตเท่านั้น สำหรับ Asset Class ที่มีรากฐานมาจากความชื่นชอบส่วนตัวซึ่งสะสมอยู่ในพอร์ตของเขาขณะนี้ ได้แก่ นาฬิกา, ภาพเขียน, รถยนต์คลาสสิก และมอเตอร์ไซค์ “เมื่อ ลงทุนทางเลือก ผมไม่เคยแคร์ว่าในบัญชีผมมีเลข 0 กี่ตัว เพราะถ้าตายวันนี้ 0 นั้นผมไม่ได้ใช้ แต่ถ้าหากลงทุนทางเลือกผมได้ใช้ทุกชิ้น สิ่งที่เป็น passion แค่เพียงได้มาก็กำไรแล้ว ผมก็เคยขาดทุนแต่น้อยมาก” เสน่ห์ ของการลงทุนทางเลือกในมุมมองของเขามี 3 จุดหลัก หนึ่งคือในหลักเกณฑ์ทั่วไปดูไม่ต่างจากการลงทุนตามปกติ ที่ได้ประโยชน์จากการใช้สอยทรัพยากรในลักษณะต่างๆ โดยหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับมามากกว่าที่ลงไปในอัตราที่พอใจภายใต้ความ เสี่ยงที่เหมาะสม ต่อมาคือหากเป็นการลงทุนบนความเข้าใจทั่วไป ก็จะ ได้มาซึ่งดอกเบี้ยหรือผลกำไรจากการลงทุนนั้น แต่การลงทุนทางเลือก หากบริหารจัดการบนความเข้าใจจะได้ทั้งผลกำไรในเชิงตัวเลขและยังได้ผลกำไรทาง จิตใจด้วย ท้ายสุดคือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ทั้งความสุขจากการศึกษาสินทรัพย์ใหม่ และในหลายๆ ครั้งยังได้เพื่อนใหม่จากต่างวงการ พร้อมๆ กับเป็นการเก็บออมและลงทุนไปด้วยในตัว หากมีความเชี่ยวชาญในการซื้อ ดูแลรักษา และขายสินทรัพย์นั้น จุดเริ่มต้นก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางสินทรัพย์ทางเลือกของกฤษณ์ คือ การสะสมดวงตราไปรษณียากรและเหรียญมาตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถม ซึ่งเป็นความชอบที่เขาได้ซึมซับมาจากบิดาและส่งต่อความชื่นชอบสู่นาฬิกาซึ่ง เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์สุดโปรดว่าเกิดขึ้นในช่วงที่เรียนมัธยมศึกษา ด้วยวัยและกำลังทรัพย์ในตอนนั้นเขาจึงมีนาฬิกา Swatch เป็นแบรนด์ในดวงใจ การ ซื้อขายที่สร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทางใจที่กฤษณ์สะสมไว้เริ่มผลิดอกออกผล งดงามในตอนที่เขาเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ด้วยเป็นยุคที่การซื้อขายออนไลน์ผ่าน eBay เริ่มแพร่หลาย และนักสะสมยังสามารถเสาะหานาฬิกาโบราณที่ได้รับความนิยมมากภายในงบประมาณที่ไม่สูงเกินไปได้ แต่หนึ่งในดีลประวัติศาสาตร์ซึ่งนับว่ากำไรสูงในสายตาของคนทั่วไป แต่กฤษณ์ ยอมรับว่าเกิดขึ้นได้ยาก คือ เมื่อ พ.ศ. 2545 เขาเคยซื้อนาฬิกา Patek Philippe รุ่น 5070 ที่ราคา 1,100,000 บาท แต่ในปัจจุบันราคาอยู่ราวๆ 2,000,000-3,000,000 บาท ส่วนอีกดีลคือเมื่อ พ.ศ.2546 เขาซื้อนาฬิกา Patek Philippe รุ่น 3712 ที่เกาหลีมาราคา 700,000 บาท แต่ขายได้ถึง 1,250,000 บาท เพราะมีข่าวลือว่ารุ่นนี้จะไม่ผลิตต่อทำให้ราคาดีดสูงขึ้น แต่สุดท้ายก็แค่เปลี่ยนเลขรุ่นเท่านั้นส่วนรูปแบบเหมือนเดิม จึงทำให้ราคาลงมาอยู่ระดับเดิม กฤษณ์ เล่า ถึงหนทางสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเปลี่ยนมือของนักสะสมนาฬิกาโบราณอีกว่า เมื่อถึงพ.ศ. 2543 ที่ตลาดเริ่มอิ่มตัวและพ่อค้าชาวต่างชาตินิยมมาเลือกซื้อของในเมืองไทยแทน ทำให้ราคาไม่ดีเท่ายุคแรกๆ อีกทั้งต่อมาตัวเขายิ่งต้องจัดสรรเวลาให้การทำงานมากขึ้น กฤษณ์จึงตัดสินใจวางมือจากการซื้อขายทำกำไร แต่การสะสมนาฬิกาตามความชื่นชอบยังไม่จางลง ในเวลาเดียวกันนี้เองที่ มอเตอร์ไซค์โบราณ เข้ามาติดทำเนียบสินทรัพย์สุดโปรดของกฤษณ์ คันแรกที่กฤษณ์ ลงทุนซื้อมาเก็บไว้คือ มอเตอร์ไซค์ BMW รุ่น R27 (ปัจจุบันขายไปแล้ว) จนกระทั่งมีมอเตอร์ไซค์ BMW โบราณถึง 4 คัน ขายไปแล้ว 3 คัน เก็บแต่คันโปรดคือ BMW “R69s” ปี 1965 ไว้เพียงคันเดียว เขาให้เหตุผลที่เลือกสะสมมอเตอร์ไซค์ BMW ว่านอกจากความชอบแล้ว การดูแลรักษาเพื่อให้คงสภาพที่ดีก็ทำได้ง่ายกว่ารถยี่ห้ออื่นๆ “ตอน พ.ศ. 2543 หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ในเมืองไทยมีของ (สินทรัพย์) ดีๆ เช่น ภาพเขียนถูกนำออกมาขายเยอะ แม้ไม่มีเงินมากนักแต่ผมก็ยังพอมีที่เก็บเล็กผสมน้อยจากการขายนาฬิกาไว้อยู่ บ้าง เช่น นาฬิกาที่พี่ๆ สะสมไว้ นอกจากนั้นก็มีมอเตอร์ไซค์ที่ผมไปบุกเบิกเอง” มอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่แบบสปอร์ตก็เป็นที่ชื่นชอบของกฤษณ์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะตระกูล Ducati รุ่น Limited Edition ที่ยังผลิตในประเทศอิตาลีนั้นอยู่ในการครอบครองของเขาแทบจะทุกรุ่น จากข้อได้เปรียบที่เริ่มหา Ducati มาประลองความเร็วก่อนจะฮอตฮิตในเมืองไทย ทำให้ถึงปัจจุบันนี้กฤษณ์ขาย Ducati ไปแล้วถึง 20 คัน ตอนนี้เขามีมอเตอร์ไซค์เก็บไว้ 8 คัน เช่น BMW “R69s” ปี 1965, Ducati “999 R” ปี 2006, Ducati “Paul Smart” ปี 2006, Triumph “Bonneville” ปี 2007 “ยก ตัวอย่างเช่น Ducati รุ่น 999R Limited Edition ผมสามารถซื้อได้ที่ราคา 700,000 บาทจากราคา 2,500,000 บาท แต่ตอนนี้ราคาสูงมากเพราะหาไม่ได้แล้วในเมืองไทย” และด้วยแรง บันดาลใจที่เขาต้องการสะสมงานศิลปะเพื่อใช้ตกแต่งบ้านหลังใหม่ของตัวเอง เขาจึงทยอยซื้อภาพที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีหลายภาพที่ซื้อจากศิลปินโดยตรง ราคาก็เลยไม่สูงเท่ากับซื้อผ่านแกลเลอรี่ จากที่เคยเก็บงานของศิลปินรุ่นใหญ่ ภายหลังกฤษณ์ เริ่มหันมาจับจองงานศิลปนิพนธ์ (Thesis) ของศิลปินรุ่นใหม่ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ตลอดช่วงเวลาที่กฤษณ์ พุ่งความสนใจไปที่การรวบรวมงานศิลปะนั้น ภาพเขียนส่วนใหญ่ที่เขาสะสมล้วนแต่เป็นของศิลปินไทยแนวร่วมสมัย ซึ่งเน้นสื่ออารมณ์ความรู้สึกหม่นหมองหรือแนวดาร์ก “ฝรั่ง ส่วนใหญ่ที่เก็บงานศิลป์มักชอบแนวคอนเทมโพรารีมากกว่าแนววิจิตรศิลป์ ดูได้จากงานของนที อุตฤทธิ์ที่แต่ละคอลเล็กชั่นแทบไม่ซ้ำแบบเดิมเลย จึงได้รับความสนใจมาก จนทำให้ผลงานที่จัดประมูลโดยสถาบัน Christie’s ที่ฮ่องกงทำราคาได้สูงมาก” กฤษณ์ ให้ มุมมองถึงทิศทางความสนใจของผู้ที่รักงานศิลปะ และระบุอีกว่าจนถึงวันนี้ตัวเขาสามารถขายภาพเขียนไปราวๆ 85 ชิ้นแล้ว ด้วยวิธีนำเสนอขายแบบเป็นการส่วนตัวผ่านทาง Line Application และเมื่อผู้ซื้อพอใจราคาว่าถูกกว่าซื้อผ่านแกลเลอรี่ก็มักจะตกลงใจซื้อเลย เขาย้ำว่า “การลงทุนทางเลือกในงานศิลปะนั้นจะเติบโตได้ก็ต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือ” เมื่อเปรียบเทียบความต่างระหว่างการลงทุนทั่วไปกับ Investments of Passion กฤษณ์ สรุป ให้ฟังว่า เริ่มต้นต้องเกิดจากความชอบในตัวสินทรัพย์ก่อน มันเป็นการลงทุนที่ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้และหาข้อมูลเอง เพราะไม่มีบทวิเคราะห์ดังเช่น Asset Class อื่นๆ อีกจุดคือเป็นการลงทุนที่ราคาถูกกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานอย่างแท้จริง นั่นคือราคาส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความพอใจ ในขณะที่การทำกำไรนั้นต้องเกิดจากการขายและแลกเปลี่ยนด้วยตนเอง เพราะไม่มีตลาดที่กำหนดราคาให้เทรด
คลิ๊กเพื่ออ่าน "Investments of Passion" ฉบับเต็มได้ที่ ForbesLife Thailand ฉบับพิเศษเดือน MARCH 2016 ได้ในรูปแบบ E-Magazine