Beach House วิลล่าริมหาดมีให้เห็นทั่วไปตามเมืองชายทะเล มักออกแบบสไตล์รีสอร์ตเน้นความสวยและโปร่งสบายรับวิวทะเล แต่วิลล่าหรูอย่าง ‘Ana Beach House’ นี้มั่นใจว่ามีเพียงหนึ่งเดียวในโลก เพราะเป็นงานออกแบบของดีไซเนอร์ดัง 8 คนจากหลายประเทศมาร่วมสังสรรค์บ้านริมทะเลที่หรูหราไม่ซ้ำใคร
ราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทีมงาน Forbes Thailand มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมวิลล่าหรูริมหาดที่เป็นคอนเซ็ปต์เฮ้าส์เพียงหนึ่งเดียวในโลก ที่เป็นการรวมผลงานออกแบบตกแต่งภายในจากนักออกแบบชื่อดัง 8 คนจากหลายประเทศ ร่วมกันรังสรรค์วิลล่าหรูแบบเฉพาะตัวจำนวน 12 หลัง ทำให้แต่ละหลังมีเอกลักษณ์งานดีไซน์ที่แตกต่างกันและเป็นจุดขายที่โดดเด่นของโครงการ
จากจุดเริ่มต้นวิลล่าริมหาดแห่งนี้เกิดจากเจ้าของชาวอังกฤษที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยแต่หลังเผชิญสถานการณ์โควิด-19 มากว่า 2 ปี วิลล่าหรูแห่งนี้ได้ถูกขายเปลี่ยนมือกลายมาเป็นหนึ่งในโครงการ “นาใต้ เมดิคอล เซ็นเตอร์ แอนด์ รีสอร์ต” (Natai Medical Center and Resort)
โดย บริษัท ซิซซา กรุ๊ป จำกัด ของนักธุรกิจชาวไทย อรรถนพ พันธุกำเหนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารซิซซา นักธุรกิจหนุ่มในช่วงวัย 40 ที่เติบโตมาจากการเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (Investment Property: IP)
อรรถนพเป็นทั้งนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนักการตลาด ด้วยประสบการณ์กว่า 17 ปีในธุรกิจอสังหาฯ เขามองหารูปแบบการพัฒนาที่แปลกใหม่นอกเหนือจากโรงแรมและรีสอร์ตที่ลงทุนตามปกติอยู่แล้ว
นั่นคือที่มาของโครงการนาใต้ เมดิคอล เซ็นเตอร์ แอนด์ รีสอร์ต เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ที่เขาเลือกเพราะมองว่าเรื่องสุขภาพกำลังได้รับความสนใจตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 (3 ปีก่อน) ยิ่งเมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก เขามองว่า เทรนด์ความสนใจเรื่องสุขภาพและเมดิคอลเซอร์วิสยิ่งมีโอกาสมากขึ้น
โครงการนาใต้ เมดิคอล เซ็นเตอร์ เป็นการพัฒนาโครงการบนที่ดิน 71 ไร่ บริเวณหาดนาใต้ จังหวัดพังงา รอยต่อกับจังหวัดภูเก็ตให้เป็นอสังหาฯ แนวสุขภาพเพื่อการลงทุนโครงการนี้มีมูลค่ารวม 4.4 พันล้านบาท แบ่งการพัฒนาแบ่งออกเป็น 4 เฟส จะมีคลินิกเพื่อสุขภาพและรีสอร์ต 2 แห่ง
ซึ่งจะใช้เวลาในการพัฒนาทั้งสิ้นรวม 5 ปี ผ่านมาแล้ว 2 ปี ณ ปัจจุบันการพัฒนาเดินหน้าไปตามความพร้อมของอสังหาฯ ที่ซื้อมาจากเจ้าของเดิม ทั้งในส่วนของโรงแรม นาใต้ บีช รีสอร์ท ที่มีห้องพักให้บริการ 107 ห้อง และ Ana Beach House วิลล่าหรู 12 หลัง ตั้งอยู่บนที่ดินแปลงถัดจากโรงแรมนาใต้ฯ เป็นอสังหาฯ ที่ซิซซากรุ๊ปเทคโอเวอร์มาล่าสุด
เอ็กซ์คลูซีฟดีไซน์ 12 แบบ
Ana Beach House คือ ชื่อโครงการวิลล่าริมหาดที่มีจุดขายด้วยงานออกแบบที่พิเศษเฉพาะตัว ซึ่งเป็นการนำเสนอรูปแบบการดีไซน์และตกแต่งจากดีไซเนอร์ชื่อดังทั้งชาวไทยและจากหลายประเทศหลายทวีป เช่น บราซิล สเปน ไอร์แลนด์ อังกฤษ ตุรกี รัสเซีย และไทย
ไม่เพียงการออกแบบที่แตกต่าง แต่ยังเป็นการผสมผสานไอเดียและการประยุกต์นำวัสดุในท้องถิ่นมาร่วมสร้างสรรค์เป็นการดีไซน์ที่ไม่ซ้ำใคร ลักชัวรี่วิลล่าทั้ง 12 หลังมีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละห้อง รวมทั้งเครื่องเรือนและวัสดุบางชิ้นยังมีราคาสูงเกินคาด เช่น เตียงนอนไม้แกะสลักราคาเกือบ 7 ล้านบาท นอกจากความแพง ความพิเศษยังมาจากงานไอเดียที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ในทุกชิ้นงาน
เริ่มจากวิลล่าหลังใหญ่ที่สุด “The Collector’s Villa” เป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีทั้งระเบียงเปิดโล่ง สระว่ายน้ำ ห้องนั่งเล่น และห้องนอน 3 ห้อง โดยแต่ละห้องออกแบบแต่ละคอนเซ็ปต์จากดีไซเนอร์แต่ละคนไม่ซ้ำกัน ให้สัมผัสที่แตกต่างทั้งความหรูหราแปลกใหม่ น่าตื่นตาตื่นใจ และเต็มไปด้วยจินตนาการ
“The Ceramic Courtyard & The Living Room of the Sea” เป็นห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อจากระเบียงกว้าง ที่ด้านหน้าติดริมหาดนาใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงทุกห้องภายในบ้าน ห้องนั่งเล่นนี้ออกแบบโดย “The Campana Brothers” จากบราซิล บริษัทออกแบบซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนที่น่าสนใจ เช่น เก้าอี้ Vermelha ห้องนั่งเล่นนี้ออกแบบในโทนสีน้ำเงิน ตกแต่งด้วยเครื่องเคลือบเซรามิกจากวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ผนังห้องตกแต่งด้วยถ้วยชามเซรามิกสีน้ำเงินครามจากศิลาดลจำนวนกว่า 3,000 ชิ้น นำมาติดเป็นลวดลายผนังให้ผิวสัมผัสจากถ้วยชามของจริง
ถัดมาเป็นห้องเธียเตอร์ “The Cinema of Nature” ห้องนี้ออกแบบจำลองป่าฝนอันเขียวชอุ่มของประเทศไทย เนรมิตให้เป็นโฮมเธียเตอร์ ห้องชมภาพยนตร์ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ ซึ่งภายในห้องตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติ ผนังแต่งด้วยกาบมะพร้าวเข้ากับโซฟา Cipria ขนหนานุ่มในโทนสีเขียว
ขณะเดียวกันได้ติดตั้งระบบเสียงรอบทิศทางและจอภาพยนตร์ใหญ่ยักษ์ขนาด 160 นิ้ว เพิ่มอรรถรสการชมภาพยนตร์เสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริงตลอดเวลา
พื้นที่เพื่อการผ่อนคลายภายในบ้านหลังใหญ่นี้ยังมีสปาที่เป็นส่วนตัว “The Pearl Spa” เป็นห้องสปาแบบไพรเวทที่ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากภายในของหอยนางรมด้วยโทนสีขาวนวลสว่างตา ส่วนของผนังและเพดานตกแต่งอย่างเรืองรองด้วยเปลือกหอยมุกผสานการใช้เฟอร์นิเจอร์เฉดสีทองและบรอนซ์สะท้อนแสงระยิบระยับสวยงาม
ห้องถัดมายังคงเป็นพื้นที่ส่วนกลางของวิลล่าคือ “The Sala” ห้องรับประทานอาหารชมวิวทะเลแบบเปิดกว้าง ออกแบบโดย A-cero จากสเปน พื้นที่ส่วนนี้ถูกออกแบบเป็นลูกบาศก์แก้วยื่นออกไปเหนือสระ และยื่นออกไปที่ชายหาด ภายในมีโต๊ะอาหารไม้ยาวสามารถรองรับแขกได้มากถึง 20 ที่นั่ง
“ธีมเฉพาะ” เครื่องเรือนสั่งพิเศษ
ในวิลล่าหลังใหญ่นี้นอกจากพื้นที่ส่วนกลางของตัวบ้านแล้ว ห้องนอนที่มีทั้ง 3 ห้องต่างออกแบบในสไตล์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยแต่ละห้องจะมีธีมของตัวเอง มีเรื่องราวที่มาและแรงบันดาลใจแตกต่างกัน เรียกว่าไม่ใช่ซีรีส์แต่เป็นสไตล์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
เริ่มจากห้องนอนแรก “The Owner’s Suite” ห้องนอนสไตล์สวีตออกแบบโดย Jaime Hayon ดีไซเนอร์จากสเปน คอนเซ็ปต์หรือธีมการออกแบบของห้องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากชายหาดความสวยงามของชายหาดที่เปิดโล่งสว่างไสวราวสรวงสวรรค์แห่งท้องทะเลจินตนาการที่ถ่ายทอดออกมาเป็นงานออกแบบที่สวยสะอาดตา
เครื่องเรือนมีความเฉพาะตัว เช่น ประตูและโคมไฟสไตล์ “Clown” และระเบียงส่วนตัวพร้อมเตียงอาบแดด ชุดโต๊ะ เก้าอี้ ที่เป็นแบบสั่งทำประกอบในที่เข้าชุดกันให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันของงานออกแบบ
“The Carpenter’s Chamber” ห้องนอนหรูที่ดูเรียบง่ายแต่ไม่ธรรมดาห้องนี้ออกแบบตกแต่งโดย Joseph Walsh ดีไซเนอร์ชาวไอร์แลนด์ เป็นงานตกแต่งที่แสวงหาแรงบันดาลใจในธรรมชาติ โดดเด่นด้วยการเลือกใช้งานไม้ชั้นสูงราวกับเป็นห้องจัดแสดงงานศิลปะชิ้นเอก
โดยเฉพาะเตียงนอนไม้ขนาดใหญ่ที่แกะสลักจากไม้ชิ้นเดียวในรูปทรงที่อ่อนช้อยงดงามราวประติมากรรมของอัครศิลปิน เตียงไม้หลังนี้สนนราคาประมาณ 200,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 7 ล้านบาท เป็นไฮไลต์ที่ต้องบอกเล่าที่มาในความไม่ธรรมดาของเครื่องเรือนที่ดูเหมือนเรียบง่าย แต่ทว่ามีมูลค่าสูงเกินคาด
ห้องนอนที่ 3 ของวิลล่าหลังใหญ่นี้ไม่ธรรมดาเช่นกัน ได้รับการตกแต่งให้มีบรรยากาศและอารมณ์ที่แตกต่างออกไปสำหรับ “The Boudoir” คือมาในธีมสวรรค์เขตร้อนที่ออกแบบโดย Mark Brazier-Jones ดีไซเนอร์ชื่อดังจากประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ เชี่ยวชาญด้านเฟอร์นิเจอร์และการออกแบบแสงสว่าง
แนวคิดของห้อง The Boudoir เป็นการสร้างสรรค์สวรรค์เขตร้อนที่เรียกว่า “Baroque and Gothic” โดยเน้นการใช้ผ้าไหม แก้วคริสตัล และโครงโลหะ เสริมด้วยโคมไฟระย้าสุดตระการตามาประดับห้อง พร้อมโต๊ะเครื่องแป้งทรงปีกค้างคาว และรถเข็นเครื่องดื่มที่มีแรงบันดาลใจมาจากรถฮาร์ลีย์ เรียกได้ว่าจินตนาการไร้ข้อจำกัด ทั้งโทนสีเขียวเข้มตัดกับเครื่องเรือนสีทองและการจัดแสงที่ดูมลังเมลืองสวยงามดั่งต้องมนต์ในฉากละครแฟนตาซี
สร้างสรรค์ดีไซน์ไทยร่วมสมัย
นอกจากดีไซเนอร์ต่างชาติแล้ว ดีไซเนอร์คนไทยก็เป็น 1 ใน 8 นักออกแบบที่ร่วมสร้างสรรค์งานเดคอเรชั่นให้กับ Ana Beach House ด้วยเช่นกันกับผลงาน “Villa Siam” งานออกแบบเชิงสร้างสรรค์โดย เอกรัตน์ วงษ์จริต ศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงการออกแบบทั้งไทยและระดับนานาชาติด้วยความสามารถในการแปลแนวคิดที่เป็นนามธรรมให้เกิดเป็นรูปร่างรูปทรงที่ทันสมัยสะท้อนสุนทรียศาสตร์ของงานสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ความงดงามของฝีมือช่างและการออกแบบขั้นสูง รายละเอียดภายใน Villa Siam เป็นความงดงามที่สะกดสายตาด้วยความอ่อนช้อยและทันสมัย
เริ่มจาก “The Phang Nga Livin Room” ห้องนี้ดีไซเนอร์ไทยได้แรงบันดาลใจมาจากอ่าวพังงา เนรมิตให้เป็นห้องนั่งเล่นที่มีความวิจิตรงดงามด้วยเฟอร์นิเจอร์และงานศิลปะไทย โซฟาหุ้มด้วยเปลือกหอยมุกและมีเจดีย์ห่อแบบไทยๆ
ถัดมาเป็น “The Golden Temple Bell Spa” งานออกแบบห้องสปาที่ถอดสไตล์มาจากวัดบนภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย เป็นอีกเสน่ห์ที่น่าสัมผัสกับสปาในโดมสีทองอันวิจิตรงดงามสลักลายพุทธไว้ พร้อมคำสอนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษและฟังก์ชันของห้องอบไอน้ำแบบไทยๆ ตกแต่งด้วยกระจกงานฝีมือในห้องอาบน้ำและห้องสุขาแบบโบราณ
“Lotus Suite” น่าจะเรียกได้ว่าเป็นห้องนอนในสระบัว เพราะตรงกับนิยามที่บอกเล่าเรื่องราวของห้องที่ชัดเจนว่าได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติของธาตุพุทธทั้ง 4 นำมาแปลงเป็นการออกแบบห้องนอนที่ดูสงบร่มเย็น ให้ความรู้สึกเสมือนล่องลอยอยู่ในสายน้ำท่ามกลางดอกบัวอันงดงามที่ประดับอยู่ตามผนังและเพดานบริเวณหัวเตียง
ปิดท้ายผลงานดีไซเนอร์คนไทยที่ Ana Beach House ด้วย “Siam Suites” การออกแบบที่ลงตัวด้วยความสมมาตร ซึ่งหมายถึงการรับรู้ถึงการเข้ากันได้หรือความงามได้สัดส่วนและความสมดุล ดังความสวยงามหรือความสมบูรณ์แบบที่สะท้อนออกมา หรืออาจหมายถึงความเที่ยงตรงและความคิดที่ชัดเจนของความสมดุล หรือรูปแบบความคล้ายคลึงในตัวเองดีไซเนอร์อธิบายความสมมาตรของห้องนี้และห้องตรงข้ามโดยใช้สีขาวเป็นธรรมชาติไม้ และห้องชุดมีเตียงรังไหม (cocoons bed) ที่มีการทอแบบไทยๆ เป็นส่วนประกอบ
ผสานการออกแบบ 2 ทวีป
“Villa Bianca” เป็นอีกงานดีไซน์ที่ต่างออกไป วิลล่าชุดนี้ออกแบบโดย A-cero ดีไซเนอร์จากสเปน และ Philosophy of Design ดีไซเนอร์จากรัสเซีย วิลล่าหลังนี้ได้แรงบันดาลใจจาก The Art of Cool บรรยากาศอันรื่นรมย์ผ่านการผสมผสานของเฟอร์นิเจอร์สีขาวเข้ากับไม้ธรรมชาติและเปลือกหอยขนาดยักษ์ เสริมด้วยงานศิลป์จากอินโดนีเซียและงานผ้าไหมไทยผสมผสานกันอย่างลงตัว
อีกโซนที่โดดเด่นของวิลล่าชุดนี้คือ “Common Areas” พื้นที่ใช้สอยร่วมกันของตัวบ้านที่ออกแบบโดย Philosophy of Design จากรัสเซียที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตาแม่ลูกดก สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของรัสเซีย โดยบริเวณโซนพื้นที่รับประทานอาหารสามารถรองรับแขกได้ถึง 8 ที่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ลานกลางแจ้งพร้อมอ่างแช่ตัว โดยด้านหลังของพื้นที่ใช้สอยจำลองมาจากเรือยอชต์สุดหรู
“The MaTryoshka Suite” ห้องนอนสวีตที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความรู้สึกสดชื่นเหมือนชายหาด ห้องนี้ออกแบบให้ผนังสีขาวประดับด้วยงานศิลปะที่มีสีสัน เลือกใช้ชิ้นงานของศิลปินป๊อปชาวอินโดนีเซีย และทางเข้าเตียงบริเวณหัวเตียงเป็นรูปทรงตุ๊กตาแม่ลูกดกจากรัสเซีย
อีกห้องนอนที่เชื่อมโยงกันคือ “The Seashell Suites” ห้องนอนชมวิวหาดเปิดโล่งแห่งนี้ออกแบบโดย A-cero ดีไซเนอร์จากสเปนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากท้องทะเล ห้องสวีตริมชายหาดทั้งสองห้องนี้ออกแบบให้พื้นที่ไหลเข้าถึงกันอย่างต่อเนื่อง
ไฮไลต์อีกจุดในโครงการ Ana Beach House คือ “The Penthouse” วิลล่าเพนต์เฮ้าส์ที่ออกแบบโดย Mark Weingard ชาวอังกฤษ เขาเป็นนักธุรกิจและนักการเงินอีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งวิลล่าหรูแห่งนี้คนแรก โดยใช้ชื่อ “Iniala Beach House” ก่อนจะขายเปลี่ยนมือมาเป็น Ana Beach House ในปัจจุบัน
The Penthouse เป็นการออกแบบมาจากแรงบันดาลใจเกี่ยวกับความล้ำยุคการสร้างสรรค์ สิ่งที่เหนือจริง และเย้ายวน
งานดีไซน์วิลล่าที่โดดเด่นอีกห้องของ The Penthouse คือ ห้อง “Desert Life” จำลองบรรยากาศทะเลทรายที่ออกแบบโดย Graham Lamb ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตในทะเลทรายจำลองมาเป็นห้องพักในวิลล่าหรูด้วยสัมผัสที่นุ่มละมุนใต้ฝ่าเท้าเมื่อก้าวเข้าสู่เพนต์เฮ้าส์แห่งนี้ ให้ความรู้สึกเสมือนกำลังเดินย่ำไปบนหาดทรายละเอียดห้องนี้ ยังออกแบบให้มีชาวเวอร์แบบเอาต์ดอร์ภายในพื้นที่ เสมือนเปิดพื้นที่ให้อาบน้ำท่ามกลางแสงจันทร์
ส่วน “Suite Dreams” เป็นห้องที่มีความโดดเด่นด้วยเตียงหุ้มหนังสีขาวขนาดใหญ่แขวนลอยจากเพดานเสมือนเปลเด็ก
ถัดมาคือ พื้นที่ออกแบบสระว่ายน้ำนวัตกรรมใหม่ “Pool Suites Innovation and Elegance Combined” ซึ่งออกแบบโดย Autoban ดีไซเนอร์จากเมือง Istanbul ประเทศตุรกี เป็นการออกแบบตกแต่งที่งามสง่าหรูหราด้วยรายละเอียดของผนังผิวสัมผัสที่โดดเด่นแตกต่างสอดรับกับวัสดุธรรมชาติและองค์ประกอบการตกแต่งที่งดงามอย่างลงตัว
ส่วน “Elevated Luxury Living” เป็นห้องสวีตรูปแบบใหม่ที่หรูหรา แต่ละหลังประกอบด้วย 1 ห้องนอน ห้องน้ำในตัวห้องนอนแขก ห้องนั่งเล่น และพื้นที่รับประทานอาหาร
ปิดท้ายด้วย “Kid Club” ออกแบบโดย Chris Jones สร้างสรรค์ห้องเด็กได้อย่างสนุกสนาน ด้วยการตกแต่งภายในที่สร้างสรรค์พร้อมกับพื้นที่เล่น ซึ่งเด็กๆ สามารถนอนที่นี่ได้ มีเตียง 2 ชั้นที่ทำเป็นบ้านต้นไม้ และมีของเล่นมากมาย
Ana Beach House เรียกได้ว่าเป็นวิลล่าหรู Luxury Beach House เพียงหนึ่งเดียวในโลกที่สรรหาดีไซเนอร์และคนดังจากหลากหลายประเทศมาร่วมสร้างสรรค์งานออกแบบภายใน เนรมิตให้บ้านริมทะเลมีเรื่องเล่าผ่านจินตนาการมากมายที่เราเชื่อว่า สัมผัสของแต่ละคนจะได้อารมณ์ที่แตกต่างกันตามพื้นฐานและประสบการณ์ นับเป็นงานสร้างสรรค์ที่รวมเรื่องราวหลากหลายมาไว้ด้วยกันได้อย่างน่าสนใจ
เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ Ana Beach House
อ่านเพิ่มเติม:- อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ปั้น JMART “สร้างฝุ่น” นำเกมธุรกิจ
- Forbes Travel Guide 2022: เที่ยว พัก ทาน อย่างเหนือระดับ
- Camparino Masterclass คลาสจากบาร์หรูแห่งอิตาลีครั้งแรกในไทย
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine