ตลาดหุ้นไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ฉุดดัชนีหลุด 1,400 จุด ทั้งปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ และแรงกดดันในประเทศ จากการควบรวมกิจการหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กรณี JKN กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ลุ้นปี 2567 ตลาดฟื้นตัวจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ
ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงและหลุด 1,400 จุดอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ จากความกังวลต่อสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก การปรับตัวของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และการแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
รวมทั้งหุ้นไทยเผชิญแรงกดดัน โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่มีการควบรวมกิจการของ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (บริษัท AWN) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (บริษัท TTTBB) รวมทั้งกรณี JKN ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ
นักลงทุนขายต่อ 1.82 แสนล้าน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-10 พฤศจิกายน 2566 พบว่าสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 69,571.44 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ขายสุทธิ 3,442.95 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 182,336.25 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศ (รายย่อย) ซื้อสุทธิ 116,207.76 ล้านบาท
หากดูข้อมูล ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 SET Index ปิดที่ 1,381.83 จุด ปรับลดลง 6.1% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค และปรับลดลง 17.2% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า
โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 47,213 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 26.3% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 10 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 55,331 ล้านบาท ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิเป็นเดือนที่เก้า
โดยในเดือนตุลาคม 2566 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 15,649 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18
อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคมปี 2566 มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มบริการ เป็นต้น
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทย ไม่ได้ลงทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แต่การฟื้นตัวแบบ K-Shaped โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ดี เช่น กลุ่มเทคโนโลยี ธนาคาร ส่วนที่ฟื้นตัวช้า ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อาหาร การบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มที่มีผลงานดีกว่าภาพรวมตลาด ได้แก่ หุ้นที่ปันผลสูง และหุ้นกลุ่มยั่งยืน
“มองแนวโน้มในปี 2567 ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น จากมีจุดแข็งที่เรามี ทำให้หลายเซกเตอร์มีโอกาสฟื้นตัว เช่น อาหาร กลุ่มแพลนต์ เบส อาหารเพื่อสุขภาพและการรักษาโรค อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การรองรับกลุ่มดิจิทัล นอแมด กลุ่มเมดิคัล แอนด์ เวลเนส ทัวริสต์ รวมถึงกลุ่มซอฟต์เพาเวอร์ รวมถึงการเติบโตของกลุ่มหุ้นยั่งยืนที่มีการลงทุนด้านลดก๊าซเรือนกระจก ไบโอเบส โปรดักต์ ที่ถือเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง” ดร. ภากรกล่าว
มองปี 67 ลุ้น 1,700 จุด
ไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นไทยไม่ดีนักเมื่อเทียบกับหุ้นโลก ซึ่งเฉลี่ยมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 10% แต่ไทยติดลบประมาณ 10% โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี 2566
แต่ปี 2567 เชื่อว่าสภาวะตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ล่าสุดโครงการแจกเงินดิจิทัลมีการปรับรูปแบบในทิศทางที่ควรจะเป็น จะเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมา
“วันนี้ ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,400 จุด ถือว่าต่ำเกินไปมาก เท่ากับสองวิกฤตใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทั้งช่วงซับไพรม์ และโควิด-19 แต่วันนี้หุ้นไทยไม่ได้เผชิญวิกฤตใหญ่ แต่มีวิกฤตศรัทธา ที่ฉุดให้ดัชนีลดลงมาถึงระดับนี้ ทั้งกรณีหุ้น MORE และ STARK รวมถึงหุ้น IPO ที่ยังแย่ไม่ดี รวมถึงยังขาดเม็ดเงินลงทุนระยะยาวทำให้หุ้นไทยมีความผันผวนกว่าตลาดหุ้นโลก
หากมองดัชนีหุ้นไทยอีก 12 เดือนข้างหน้า คาดจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นไปที่ระดับ 1,623 จุด สูงกว่าระดับดัชนีปัจจุบันราว 15% โดยได้แรงหนุนจากกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้น เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีนี้ เศรษฐกิจที่ดีขึ้น รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ท่องเที่ยวกลับมา การส่งออกที่เริ่มทรงตัว และอาจไปถึง 1,700 จุด จากการประเมินของบลูมเบิร์ก คอนเซนซัน” ไพบูลย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากกรณี JKN และการควบรวมกิจการของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยสัปดาห์นี้ (13-17 พฤศจิกายน) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ
โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของ บจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค.รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ต.ค. ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ต.ค.ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เป็นต้น
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การบินไทย 9 เดือนปีนี้ กำไรหมื่นล้าน รายได้ 1.15 แสนล้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine