นโยบาย Set Zero ของเสี่ยบุณยสิทธิ์หลังสหพัฒน์ฯ เจอวิกฤตทางธุรกิจที่หนักที่สุด คือการเริ่มต้นใหม่ ไม่ยึดติดกับเป้าหมายและความสำเร็จที่ผ่านมา พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ โดยมีเวทีงานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในปีนี้ เป็นเสมือนตัวแทนของการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ และถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ของ ฐิติภูมิ โชควัฒนา ผู้อำนวยการฝ่าย บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ทายาทคนเล็กของเสี่ยใหญ่-บุณยสิทธิ์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
แม้ ฐิติภูมิ โชควัฒนา จะเป็นทายาทคนเล็ก ที่อาจเผชิญแรงกดดันน้อยกว่าพี่ๆ แต่ด้วยแววตาที่มุ่งมั่นในการทำงาน แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทและทำงานหนักไม่น้อยกับแต่ละโปรเจกต์ที่ได้รับมอบหมาย เสี่ยใหญ่-บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ชื่อที่เรียกติดปากของคนในแวดวงธุรกิจของประธานเครือสหพัฒน์ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ที่ดำเนินธุรกิจมาถึง 78 ปี มีบริษัทในเครือมากกว่า 200 บริษัท และในปีนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เสี่ยบุณยสิทธิ์ถึงกับออกปากว่าเป็นปีที่เผชิญกับวิกฤตหนักที่สุดของเครือสหพัฒน์ จนถึงขั้นต้อง Set Zero-เรียนต่อธุรกิจที่มหาวิทยาลัยสหพัฒน์-
“ผมเป็นเด็กติดเกม” ฐิติภูมิ เริ่มต้นเล่าถึงวัยเด็กสมัยเรียนมัธยมที่สาธิตปทุมวัน ที่ชอบเล่นเกมเหมือนกับเด็กวัยเดียวกัน ด้วยความเป็นลูกของเสี่ยบุณยสิทธิ์ มักถูกขอแกมบังคับให้เข้ามาฝึกงานแถวโรงงานไอ.ซี.ซี.ย่านสาธุประดิษฐ์ แต่ก็เป็นการเข้ามาวิ่งเล่นตามประสาเด็กมากกว่าที่จะจริงจัง และด้วยความชอบด้านคอมพิวเตอร์มาก จึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยซีแอตเทิล แม้จะชอบคอมพิวเตอร์เป็นชีวิตจิตใจ แต่ด้วยคำสั่งสอนของเสี่ยบุณยสิทธิ์ที่ว่า “ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องรู้จักเรื่องธุรกิจด้วย ไม่งั้นจะขายตัวเองไม่ได้” ฐิติภูมิ จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้าน MBA ขณะเดียวกันก็หางานเกี่ยวกับด้านคอมพิวเตอร์ไปด้วย แต่สถานการณ์ในอเมริกาขณะนั้น มีการย้านฐานเอาท์ซอร์สด้านดิจิทัลไปอินเดีย ทำให้หางานยาก ประกอบกับการเรียนต่อ MBA ด้านธุรกิจ ถือเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ไม่มีพื้นทางด้านธุรกิจมาก่อน จึงตัดสินใจกลับมาเมืองไทย การกลับมาครั้งนี้ ทำให้เขาได้ตระหนักรู้ว่าการกลับมาทำงานที่สหพัฒน์ เปรียบเสมือนการได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้านธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย ที่สามารถให้ความรู้วงจรธุรกิจครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดย ฐิติภูมิ เริ่มต้นด้วยการรับผิดชอบธุรกิจด้านค้าปลีกในเครือสหพัฒน์ ผ่านแคตตาล็อก ช้อปปิ้ง บริษัท เบล เมซอง (ประเทศไทย) บริษัทร่วมทุนระหว่างเครือสหพัฒน์กับญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นในปี 2538 ยังถือเป็นเรื่องใหม่ ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ถอนหุ้นออกไป เครือสหพัฒน์จึงนำมาทำเองภายใต้ชื่อ “His&Her Shop Smart” ช่วงแรก Shop Smart ขายสินค้าของใช้ในบ้านเป็นหลัก แต่ด้วยการแข่งขันจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาด ด้วยราคาที่ถูกกว่า ทำให้ต้องปรับรูปแบบธุรกิจมาเป็นอีคอมเมิร์ซ และนำแบรนด์ต่างๆ ในเครือไอ.ซี.ซี.เข้ามาจำหน่ายในช่องทางนี้ ซึ่งการขยายธุรกิจในช่องทางดิจิทัลออนไลน์ ถือเป็นหนึ่งในแผนงานหลักของเครือสหพัฒน์ที่จะมุ่งไปในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า แต่ด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การขยับรุกเข้าสูดิจิทัลถูกบีบให้ต้องเร็วขึ้น
-ความท้าทายของวัฒนธรรมองค์กร-
“สิ่งที่ท้าทายสำหรับผมคือวัฒนธรรมองค์กร” ฐิติภูมิกล่าวถึงภาระ หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ในการเชื่อมต่อองค์กรทุกจุดด้วยเทคโนโลยี และสิ่งที่ยากคือการคุยกับคนให้เห็นถึงเป้าหมายเดียวกัน และการปรับตัวที่จะเดินไปข้างหน้า ภายใต้เงื่อนไขของโลกธุรกิจทีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าทั้งหมดเห็นตรงกัน การเดินไปสู่เป้าหมายไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากมีเพียงจุดเดียวที่เป็นปัญหา ทำให้การแข่งขันลำบากยิ่งขึ้น “เสี่ยบุญยสิทธิ์จะพูดเสมอว่าในโลกธุรกิจสิ่งสำคัญ คือ กำไร ต้องทำให้เกิดกำไรให้ได้ ซึ่งกำไรไม่ได้หมายถึงแค่เม็ดเงินอย่างเดียว กำไร คือ คน ระบบงาน การทำให้งานมีประสิทธิภาพ ความเร็ว ท่านชอบยกคำของคุณปู่ที่ว่า “เร็ว ช้า หนัก เบา” ทำให้มีความเหมาะสมในการทำงาน จะสร้างให้เกิดกำไรได้” สำหรับแนวคิดเรื่อง “เร็ว ช้า หนัก เบา” เขาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก บางอย่างถ้ารีบก็ต้องรีบ บางเรื่องช้า แต่หนัก ซึ่งถ้าทำได้ จะให้เกิดผลที่ดี การมีมุมมองที่แตกต่างกันถือเป็นเรื่องดี ซึ่งในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็ต้องฟังจากผู้มีประสบการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้ผล แม้บางครั้งอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แต่ผลลัพท์ที่ได้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ ถือว่าได้ผลในเชิงบวกเช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เสี่ยบุณยสิทธิ์พูดถึงการบูรณาการ เนื่องจากสหพัฒน์มีหลายหน่วยงานมาก ถ้ารวมตัวกันได้ จะสามารถวิ่งไปได้ไกลกว่านี้ ภารกิจที่ฐิติภูมิจะทำต่อจากนี้ คือการทำบิสิเนส แมทชิ่ง ทั้งภายในและภายนอก ทำให้คนภายในรู้จักกันเองมากขึ้น รู้ว่าสหพัฒน์มีแบรนด์อะไรบ้าง เพื่อจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนของเครือสหพัฒน์ มุ่งไปสู่เป้าหมายการได้ประโยชน์ร่วมกัน มีเป้าหมายทางธุรกิจเดียวกัน

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine