วิกฤตโควิด-19 ทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน หันหัวเรือพับแผนเปิดตัวโครงการใหม่ แต่แอสเซทไวส์ อาณาจักรอสังหาฯ ของ “กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์” กลับใช้ช่วงวิกฤตในการเปลี่ยนผ่านก้าวเข้าสู่การระดมทุนเป็นบริษัทมหาชน
ดาวดวงใหม่แห่งวงการอสังหาฯ ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ด้วยแต้มต่อจากประสบการณ์วิกฤตฟองสบู่ปี 2540 เป็นคัมภีร์เบิกทางให้ซีอีโอปรับใช้สูตรอนุรักษนิยมผสมผสานกับแนวคิดนอกกรอบร่วมสมัย กล้าตัดสินใจบนความเสี่ยง
“เราสามารถทุบสถิติกำไรและทำรายได้ดีที่สุดในรอบ 17 ปีตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจมา” กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ
ASW กล่าวกับ Forbes Thailand จากบัณฑิตหนุ่มวิศวกรรมโยธาผู้หลงใหลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หาความรู้จากการศึกษาปริญญาโทด้านการบริหารงานก่อสร้าง พ่วงด้วยบริหารธุรกิจด้วยความมุ่งมั่น เรียนจบวิศวกรรมโยธาเพื่อเป็นนักพัฒนาโครงการทำที่ดินว่างเปล่าให้มีมูลค่า
เขาไม่เคยบอกว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้รักและหลงใหลในธุรกิจอสังหาฯ แต่หลายคนพูดถึงกรมเชษฐ์ว่า หากกรีดเลือดจะเห็นอสังหาฯ ในทุกอณู แม้บิดาเขาจะไม่ได้ทำธุรกิจอสังหาฯ โดยตรง แต่ทำด้านก่อสร้างทำให้เขามีโอกาสไปช่วย และมีลุงเป็นดีเวลลอปเปอร์รุ่นบุกเบิกทำเลทองในอดีตก่อนวิกฤต 2540 กับโครงการหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี หมู่บ้านสินธานี สินทวี รวมถึงตลาดนครไทย โครงการที่คนยุคนั้นคุ้นหูดี
- 17 ปีสู่ดาวดวงใหม่ในวงการ
จุดเริ่มต้นการเดินบนถนนอสังหาริมทรัพย์ของกรมเชษฐ์ หรือ เล็ก เริ่มต้นขึ้นหลังจากถูกวิกฤตปี 2540 เล่นงาน ถูกบริษัทเลย์ออฟจากความเป็นมนุษย์เงินเดือน จุดเปลี่ยนทำให้เขาหันไปช่วยธุรกิจรับเหมาครอบครัวเก็บหอมรอมริบได้เพียงพอที่จะมีทุนเข้าไปซื้อทาวน์เฮาส์เก่ามาตกแต่งรีโนเวตขายใหม่จนหมดเกลี้ยงในปี 2546 ทำให้เขามั่นใจว่ามีฝีมือในการพัฒนาโครงการ
ปี 2547 จึงร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท 39 เอสเตท จำกัด เปิดตัวโปรเจ็กต์แรก “บีแคมปัสคอนโด” ย่านประชาชื่น-พงษ์เพชร มีพนักงาน 10 คน
ปี 2556-2563 ก่อตั้ง บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด ขยับพัฒนาคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองโครงการแรกชื่อ “โมดิซ ลาดพร้าว 18” และอีกหลายแบรนด์ อาทิ บราวน์, แอทโมซ และเคฟ พนักงานปัจจุบัน 300 คน พัฒนาโครงการไปมากกว่า 30-40 โครงการเหตุการณ์สำคัญอีกหนึ่งช่วงเวลาคือปี 2563 แม้จะเป็นปีวิกฤตเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นปีที่เข้ายื่นไฟลิ่งเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและคาดว่าจะเทรดหุ้นไอพีโอกลางปี 2564 วางแผนระดมทุนเพื่อการลงทุนไปสู่กลางเมือง
(CBD-Central Business District)
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่หลากหลายธุรกิจเผชิญ แต่ปี 2563 นอกจากเป็นปีจุดเปลี่ยนขึ้นสู่ธุรกิจปีที่ 17 กลับเป็นปีที่ฐานธุรกิจเริ่มแน่น เพราะได้เตรียมพร้อมในการปรับโครงสร้างให้มีระบบหลังบ้าน จึงได้เห็นผลประกอบการทุบสถิติดีที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เพราะเพียง 3 ไตรมาสรายได้ทะยานสูงถึง 2.6 พันล้านบาท
เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 17 จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านแอสเซทไวส์สู่
“ดาวดวงใหม่” แห่งวงการอสังหาฯ เริ่มก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสดใส แข็งแรง พร้อมออกไปเผชิญกับความท้าทายโลกอสังหาฯ ที่กว้างขึ้น
“เราเป็นวัยรุ่นที่กำลังเป็นผู้ใหญ่ ฟอร์มสดใสพร้อมเข้าสู่โลกกว้าง มีประสบการณ์ไม่ใช่เด็กที่ไม่ประสีประสา เป็นดาวดวงใหม่น้องใหม่ที่น่าจับตาแห่งวงการอสังหา”
สิ่งที่ทำให้อยู่รอด ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ฝันร้ายของหลายธุรกิจมาได้ โดยทำรายได้สูงสุด เพราะเก็บแต้มสะสมฐานที่แข็งแกร่งมีโฟกัส เก็บเกี่ยวความสำเร็จทีละจุดเล็กๆ เดินอย่างมั่นคงจนมั่นใจว่าแข็งแกร่งพอที่จะก้าวได้รวดเร็ว จึงพร้อมออกวิ่งโดยไม่กลัวหกล้ม การเติบโตนี้มาจาก
4 องค์ประกอบสำคัญ นั่นคือ
องค์ประกอบที่ 1 คือ
ทีมงาน การทำงานเป็นทีมเวิร์กพร้อมสู้กับวิกฤต พนักงานทุกคนมีคติพจน์ความมุ่งมั่นจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า
HEART ซึ่งมาจาก H-Happiness คือ ความสุข, E-Ethics คือ มีศีลธรรมและคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง, A-Always Learning คือ การเรียนรู้ตลอดเวลา พร้อมอัพสกิล รีสกิล เพื่อเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก, R-Responsibility คือ มีความรับผิดชอบต่อตัวเองต่อบริษัท ลูกค้า สังคม และ T-Teamwork คือ ทำงานเป็นทีม ไม่เก่งคนเดียว
“พนักงานทุกคนต้องมี work-life balance เข้าใจโลกเปลี่ยนเร็ว จึงต้องผลักดันให้ทุกคนมีการอัพสกิลและรีสกิลให้มีความหลากหลายทักษะ เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจในอนาคต”
องค์ประกอบที่ 2 คือ
โปรดักต์ ที่อยู่อาศัย ที่มีความหลากหลายครอบคลุมกลุ่มลูกค้าออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์เฉพาะในแต่ละเซกเมนต์และทำเล จึงได้รับการตอบรับจากลูกค้า
องค์ประกอบที่ 3 คือ
การควบคุมต้นทุนได้ดี ราคาขายไม่สูง คุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ลดราคาถูกกว่า เพราะมีการเพิ่มมูลค่าด้วยฟังก์ชัน facility เพิ่มขึ้น แต่บริหารต้นทุนได้ เพราะซื้อที่ดินไม่แพงจนเกินไป และพันธมิตรก่อสร้างคิดราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันยังบริหารต้นทุนทางการตลาดด้วยการมีกลยุทธ์แม่นยำตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงมีต้นทุนทางการเงินที่แข่งขันกับบริษัทใหญ่ได้ เพราะมีประวัติดี
องค์ประกอบที่ 4 คือ
แบรนด์ชัดเจน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยการรักษาชื่อเสียงและมาตรฐานสินค้าตลอด 17 ปีทำให้เป็นที่จดจำและรับรู้ มีการแตกเซกเมนต์แบรนด์ที่หลากหลาย สอดคล้องกับทำเลราคา และกลุ่มเป้าหมาย อาทิ แบรนด์หลักโมดิซ
(Modiz) คอนโดไฮไลต์อยู่ถนนใหญ่แนวรถไฟฟ้า เช่น สุขุมวิท, เคฟ แคมปัส คอนโด ตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัย และแอทโมซ คอนโดโลว์ไรส์สไตล์รีสอร์ต
“สิ่งที่ทำให้สินค้าแตกต่างในปัจจุบันคือเป็นคอนโดที่คุ้มค่ากับราคาเข้าถึงได้
(mos affordable) ทั้งองค์ประกอบ ราคา ทำเล และฟังก์ชัน มีมูลค่า
(value) ที่ลูกค้าสัมผัสได้ ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย”
- จุดหมายแบรนด์ Top of Mind
กลยุทธ์การพัฒนาอสังหาฯ ของซีอีโอหนุ่มคือ การทำสินค้าให้หลากหลายเข้าถึงคนทุกเซกเมนต์ทั้งคนอยู่คอนโดสูง
(highrise) คอนโดไม่เกิน 8 ชั้น
(low-rise) รวมไปถึงคอนโดตากอากาศ ในหลากหลายทำเลทั้งในเมืองและนอกเมือง รวมถึงเมืองท่องเที่ยว ตลอดจนที่อยู่อาศัยแนวราบทั้งทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว และบ้านแฝด
เป้าหมายระยะยาวของแอสเซทไวส์หวังว่าเมื่อธุรกิจเติบโตแบรนด์ธุรกิจจะเป็นแบรนด์ Top of Mind ซึ่งยืนยาวกว่าตัวเลขเติบโต ซึ่งเขายอมรับว่า เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายและต้องใช้เวลา ไม่ใช่เพียงโฆษณา แต่ต้องสั่งสมชื่อเสียง มาตรฐานสินค้า และราคาให้เข้าถึงกับทุกเซกเมนต์ และที่สำคัญต้องนำเสนอสิ่งใหม่ ไม่จำเจ หรือล้าสมัย นี่คือความท้าทายที่ต้องคิดใหม่ในโครงการใหม่ตลอดเวลา
“มาไกลเกินฝัน ที่เหลือไม่เกี่ยวกับตัวเงินแล้ว ไม่ได้คิดเอาเงิน 100 ล้านมากองตรงหน้าตัวเลขที่เติบโตต้องการเอามาเติมให้ธุรกิจขยายใหญ่ขึ้นโตขึ้นแข็งแรงขึ้นมั่นคงขึ้นเป้าหมายไม่ใช่ภาพของความยิ่งใหญ่เป็นมหาเศรษฐีพันล้านหมื่นล้าน แต่ passion คือ การพัฒนาที่ดินสักแปลงให้มีชีวิต ทำโครงการอสังหาฯ ให้คนอยู่แล้วมีความสุขพัฒนาแล้วลูกค้าชอบ เป็นแบรนด์ในใจลูกค้า”
กรมเชษฐ์บอกว่า เขามีไอดอลในวงการอสังหาฯ เป็นแรงบันดาลใจคือ อนันต์ อัศวโภคิน ผู้ก่อตั้งแลนด์แอนด์เฮาส์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รับรู้กันว่า น่าอยู่ เชื่อถือได้ และมีมาตรฐาน ไม่เคยมีชื่อเสียงทางลบ
คำว่า
กลยุทธ์ธุรกิจและการวางแผนธุรกิจ ต้องมาพร้อมกับการบริหารความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่โลดแล่น ก่อร่างสร้างตัว และสะสมชื่อเสียง จนฐานธุรกิจเติบโตแข็งแกร่ง ลุยมาหลากหลายวิกฤต แต่ก็ยังมีปัจจัยที่เป็นความท้าทายสำหรับกรมเชษฐ์ เพราะวิกฤตมักมีสถานการณ์ที่เหนือการควบคุมมาทดสอบจิตใจ ทั้งเกิดจากการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้การวางแผนไว้ไม่ได้เป็นไปตามแผน แม้จะมีแผนสำรองก็ยังไม่เพียงพอกับการต้องตัดสินใจบนโจทย์ใหม่ที่อยู่เหนือความคาดการณ์
ปัจจัยเหล่านี้คือบททดสอบความคิด และต้องตัดสินใจแก้โจทย์เฉพาะหน้าในเรื่องใหญ่ๆ หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพับโครงการขนาดใหญ่ 2 ตึก เขายอมพับแผนแก้แบบแปลนเก่ามูลค่า 10 ล้านบาททิ้ง ยอมหั่นโครงการเหลือการเปิดตัวอาคารเดียวเดินหน้าเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ในโครงการโมดิซ ไรห์ม ถึงสิ้นปีทำยอดขายกว่า 60% ตอกย้ำให้เขาเห็นว่าการตัดสินใจที่รวดเร็ว เด็ดขาด เฉียบคม และกล้าเสี่ยง ลดขนาดโครงการเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง
ดูภายนอกแอสเซทไวส์เติบโตแบบก้าวกระโดด หากมองผิวเผินเป็นเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ กราฟพุ่งขึ้นทุกปี แต่ระหว่างการเติบโตนั้นเขาเตือนตัวเองให้เติบโตโดยมีแผนสำรอง ก๊อก 1-2-3 อยู่เสมอ เพราะความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
“ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับระวังข้างหลังกับดัก หรือความเสี่ยงเกิดขึ้นเสมอ” กรมเชษฐ์ย้ำหลักคิดซึ่งได้มาจากคำสอนของบิดา “พ่อบอกเสมอ ไม่ใช่มองเห็นท้องฟ้าดาวเต็มแล้วเอื้อมมือได้ทันที มันไม่เจอนะ จึงต้องระวังสิ่งที่เราคิดว่าไม่เป็นไปอย่างนั้น” เป็นคำเตือนตัวเองเมื่อเจอแผนไม่เป็นไปตามที่วาดไว้
“อสังหาใครเคยผ่านวิกฤตเมื่อเห็นสัญญาณไม่ดีต้องถอยก่อน เพราะเวลามีวิกฤตจะลงเร็ว หากแบงก์ไม่ซัพพอร์ตยิ่งลงเร็ว ดังนั้นอย่าคิดแต่รวย ต้องเตรียมตัวระวังช็อตง่ายๆ แม้จะแข็งแกร่งก็ยังต้องแก้ไขปัญหาที่ไม่คาดคิดในแต่ละเดือน”
อีกภาคหนึ่งของซีอีโอผู้ไล่ล่าหาความสำเร็จให้กับธุรกิจ แต่เขาคือ ผู้ใช้ชีวิตเป็น ไม่ลุ่มหลงยึดติดกับความสำเร็จที่เป็นตัวเลขหรือทรัพย์สินเงินทองแบบตั้งเป้าใหญ่ถึงการมีเงินหลักพันล้านหมื่นล้าน เพราะนั่นทำให้ต้องอดทนรอเป็นเวลานานนับปีกว่าจะได้ลิ้มรสชาติความสุข
ความบันเทิงหนึ่งที่ทำให้ซีอีโอหนุ่มรู้สึกปลาบปลื้มเหมือนได้ย้อนวัยคือ การมีของสะสมเป็นตู้เพลงในยุค 90 ที่เริ่มต้นมาจากการหาซื้อตู้เพลงแทนไอพอดเพื่อให้มารดาฟังแต่กลายมาเป็นผู้หลงใหลความคลาสสิกจนถึงหาซื้อสะสมตู้เพลงเสียเอง นี่ไม่ใช่ความบันเทิงเดียวที่เขาหลงใหลเขายังชอบดูหนังและติ๊กต็อก ถ้าเป็นคนทั่วไปไล่นิ้วเพื่อความบันเทิง แต่สำหรับนักอสังหาฯ อย่างเขามองหนังแต่ละเรื่องเหมือนได้เรียนรู้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ของคน เพื่อให้เข้าใจวิถีชีวิตและนำมาออกแบบอสังหาฯ ทำให้คนอยู่อาศัยพอใจ
“เราทำสินค้า serve การใช้ชีวิตคนก็ต้องรู้จักชีวิตและไลฟ์สไตล์คนในสังคม จึงจะทำคอนโดเพื่อตอบโจทย์คนอยู่อาศัยหลากหลายอาชีพ ยิ่งรู้จักชีวิตเยอะก็ยิ่งเข้าใจไลฟ์สไตล์คนมากขึ้น” เช่นเดียวกันกับติ๊กต็อก นี่คือช่องทางสำคัญในการอัพเดตเทรนด์การตลาดที่ไปเชื่อมโยงออกแบบกลยุทธ์สื่อสารกับลูกค้า นี่เป็นหนึ่งในขบวนโซเชียลมีเดียที่ซีอีโอหนุ่มไม่ตกเทรนด์ และพร้อมกระโจนเข้าไปสังเกตกระแสใหม่ๆ เสมอ แม้กระทั่งล่าสุดคลับเฮาส์ เขาก็เป็นรายแรกๆ ที่กระโดดเข้าไปแกะรอยฟังแต่ละห้องคุยกัน
เส้นทางสร้างอาณาจักรแอสเซทไวส์ในมือกรมเชษฐ์ที่เติบโตเป็นเส้นกราฟพุ่งขึ้นทุกปี ไม่มีปีที่ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนภาวะวิกฤตเขาบอกว่า มาจากการวางแผนมากกว่าเป็นความดวงดี “อสังหาฯ เป็นการลงทุนระยะยาว ต้องทำธุรกิจให้มั่นคง และระมัดระวังตลอดเวลา” กรมเชษฐ์ทิ้งท้ายถึงหลักการพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ
เรื่อง: กัญสุชญา สุวรรณคร ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine