ยักษ์เล็กไม่หวั่นการแข่งขัน ยกเครื่อง “วัฒนแพทย์ ตรัง” ทวงบัลลังก์ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัด ขยับรุก medical tourism ในแหล่งท่องเที่ยวกระบี่ พร้อมมองหาโอกาสควบรวมกิจการในรัศมีใกล้เคียง
เสียงปลายสายจากผู้เป็นยายที่โทรศัพท์ข้ามทวีปถึง เชน เหล่าสุนทร เมื่อหลายปีก่อน คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาต้องกลับสู่ประเทศไทยเพื่อเข้ามาจัดทัพโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง ซึ่งเป็นกิจการครอบครัวอายุกว่า 50 ปี ให้พร้อมรบในสมรภูมิธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภาคใต้ ย้อนไปเมื่อปี 2500 นพ.วิทยา ลีละวัฒน์ และภรรยาคือ อมรา ซึ่งจบพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ตัดสินใจเปิดคลินิกเล็กๆ ในอำเภอเมืองตรัง เป็นที่รู้จักในนาม “คลินิกหมอวิทย์” ก่อนที่จะพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปี 2537 เป็น บริษัท โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง จำกัด ที่มีจำนวนเตียงจดทะเบียน 120 เตียง ขึ้นชั้นเป็นโรงพยาบาลเอกชนใหญ่สุดในตรัง ส่วน เชน รุ่น 3 ของครอบครัว ลูกคนเดียวของ ทพ.พินิต-ทพญ.ชิลาภรณ์ เหล่าสุนทร ไม่เคยคิดถึงเรื่องการเข้าไปรับช่วงบริหารกิจการโรงพยาบาลของตายาย เนื่องจากเขาย้ายไปเรียนต่อที่แคนาดาและออสเตรเลียตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย ทำงานที่ออสเตรเลียในสายงานบัญชีและงานทรัพยากรบุคคล ทั้งยังเตรียมที่จะตั้งรกรากที่นั่นกับภรรยา แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนแผนเมื่อการพูดคุยครั้งหนึ่งในปี 2556 นอกจากอมราจะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของหลานชายคนโตแล้ว ยังเอ่ยปากอย่างจริงจังให้เขากลับมาช่วยบริหารโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง เนื่องจาก นพ.วิทยามีปัญหาด้านสุขภาพ เชนคิดหนัก แต่หลังปรึกษาภรรยาและครอบครัว ทุกคนก็ไม่ขัดข้องเพราะเห็นว่าอมราต้องการวิสัยทัศน์คนรุ่นใหม่เข้าไปเสริม เขาเดินทางกลับไทยในเดือนธันวาคม ปี 2556 เพื่อเริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะผู้บริหาร ปรับกระบวนยุทธ์สู้ศึก สถานการณ์ของโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง ช่วงนั้นไม่ราบรื่นเหมือนก่อน เมื่อโรงพยาบาลตรังรวมแพทย์มอบบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายและเพิ่มจำนวนเตียงเป็น 200 เตียง ขยับขึ้นมาครองตลาดเป็นเบอร์ 1 ทั้งยังถูกขนาบบนล่างด้วยโรงพยาบาลกระบี่นครินทร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ใน จ.กระบี่ และโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ ใน จ.สงขลา เชนซึ่งขณะนั้นนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบุคคล พยายามปรับนโยบายด้านบัญชี สะสางงบให้ชัดเจนและตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นเพื่อควบคุมงบ แต่ก็ต้องเจอการต่อต้านจากบุคลากรบางส่วนที่ยังเคยชินกับการทำงานแบบเดิม “จริงๆ ก็เหมือน culture shock ในองค์กร เพราะก่อนหน้านี้เขาอยู่กันอย่างสบายมาก ผมคิดว่าธุรกิจต้องเติบโตไปเรื่อยๆ ขณะที่บางคนคิดว่าอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ดีแล้ว ซึ่งวิธีคิดแบบนี้จะทำให้เราถอยหลัง ถ้าอยากได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมแต่ยังทำแบบเดิม ผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ก็เกิดขึ้นไม่ได้” ผ่านไปกว่าครึ่งปี เมื่อพยายามสื่อสารทำความเข้าใจ แต่บุคลากรบางส่วนยังมีความคิดไม่สอดคล้องกับองค์กร เชนจึงตัดสินใจเฟ้นหาผู้บริหารมืออาชีพมาเติมเต็ม โดยได้ผู้บริหารระดับสูงด้านทรัพยากรบุคคลและการตลาดจากเครือ BDMS มาช่วย ในปี 2558 นพ.สมชาย จันทร์สว่าง อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ (สำนักงานใหญ่) ก็ตอบรับเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้อำนวยการโรงพยาบาลให้องค์กร ปีถัดมา โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง ก็ได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล Hospital Accreditation (HA) หลังจากพยายามทำมาแล้ว 7 ปี ปัจจุบัน โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรังเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบีขึ้นไปและลูกค้าที่มีประกันสุขภาพ ปรับตัวด้วยการสำรวจความต้องการของชาวตรังและจังหวัดใกล้เคียงว่าต้องการบริการทางการแพทย์ด้านใดและเปิดแผนกเพิ่ม รวมถึงจัดหาเครื่องมือแพทย์ที่เทียบเคียงกับโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพฯ “เขามาโรงพยาบาลเอกชน ความคาดหวังย่อมสูงอยู่แล้ว อีกอย่างธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนอยู่บนฐานของความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ เรื่องแพทย์และพยาบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราเน้นการสร้างองค์กรน่าอยู่สำหรับแพทย์และพยาบาลให้เกิดบรรยากาศที่ดี และการทำโรงพยาบาลให้ได้มาตรฐานก็จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น” การปรับตัวอย่างหนักส่งให้โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง พลิกกลับขึ้นครองบัลลังก์เบอร์ 1 ในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดอีกครั้งพร้อมกับผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้ปี 2559 อยู่ที่ 542 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากผู้ป่วยใน (IPD) ราว 67% หลังจากการหารือภายใน ในที่สุด บริษัท โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง จำกัด แปรสภาพเป็น บริษัท โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง จำกัด (มหาชน) หรือ WPH ในเดือนธันวาคม ปี 2559 ซึ่งหลังจาก IPO แล้ว ทำให้กลุ่มครอบครัวลีละวัฒน์มีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงจาก 95.90% เป็น 71.90% หนึ่งในโครงการที่เชนวางไว้ในการนำ WPH เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ การระดมทุนเพื่อขยายโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง ให้มีจำนวน 212 เตียง และสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่อ่าวนาง ซึ่งเน้นการเป็น medical tourism เพื่อปูทางสู่การเติบโตขององค์กรในระยะยาว ลุย medical tourism ด้วยแนวโน้มธุรกิจ medical tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีเม็ดเงินมหาศาล ทำให้โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง ก็ขยับไปในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน โดยปี 2558 ได้เปิดแผนก International Medical Service ดูแลผู้ใช้สิทธิประกันต่างชาติและมีหอผู้ป่วยสำหรับชาวต่างชาติ พร้อมตั้งคลินิกเวชกรรมอินเตอร์เนชั่นแนล ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เพื่อขยายฐานลูกค้าชาวต่างชาติในพื้นที่ท่องเที่ยวติดอันดับโลก และยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากปัจจุบันที่พึ่งพิงลูกค้าไทยซึ่งเศรษฐกิจจะอิงอยู่กับภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก “โรงพยาบาลเราอยู่เฉยๆ ในตรังมา 50 กว่าปี ถ้าเป็นแบบนี้จะยิ่งเสียส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อยๆ แล้วกระบี่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของไทย จึงตัดสินใจขยายไปที่นั่น” เชนอธิบาย เมื่อคลินิกมีผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เดือนมิถุนายนปี 2559 WPH จึงก่อตั้ง บริษัท โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง จำกัด (ปัจจุบัน WPH ถือหุ้น 90.03%) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง ใช้งบลงทุนทั้งหมด 450 ล้านบาท มีจำนวนเตียงจดทะเบียน 59 เตียง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 9 ไร่ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2561 สัดส่วนรายได้ของ WPH จากกลุ่มชาวต่างชาติเติบโตจาก 2.7% ในปี 2558 มาเป็น 14.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 หากโรงพยาบาลวัฒนแพทย์อ่าวนาง เปิดเต็มรูปแบบก็จะช่วยดันสัดส่วนให้เพิ่มขึ้นอีกมาก แผนอีกอย่างของ WPH ยังเป็นการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) โรงพยาบาลในรัศมี 300 กิโลเมตรจากตรัง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ฯลฯ เชนบอกว่าหากทุกอย่างชัดเจนก็น่าจะได้เห็น M&A ภายในปีนี้ เชนคาดการณ์รายได้รวมทั้งหมดของปี 2560 ไว้ที่กว่า 500 ล้านบาท และจนถึงปี 2562 รายได้น่าจะก้าวกระโดด พร้อมตั้งเป้ารายได้ 1 พันล้านบาทไม่เกิน 3 ปีนี้ “ข้อได้เปรียบของเราคือเป็นองค์กรเล็ก เมื่อเห็นว่าตรงไหนที่น่าจะเข้าไปเราก็เข้า เวลาไหนที่น่าจะออกเราก็ออก เราเคลื่อนไหวและปรับตัวได้เร็ว” เชนเอ่ยถึงทิศทางของ WPH ภายใต้การนำของคนรุ่นใหม่ที่มองหาโอกาสเพื่อต่อยอดความสำเร็จจากรากฐานอันแข็งแกร่งที่ นพ.วิทยาและอมราเป็นผู้สร้างไว้ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ WPHอ่านฉบับเต็ม "เชน เหล่าสุนทร สร้าง WPH รพ.พันล้าน" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคม 2561 ในรูปแบบ E-Magazine