IMF คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจเกินความเป็นจริง - Forbes Thailand

IMF คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจเกินความเป็นจริง

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Oct 2020 | 06:30 PM
READ 6251

Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Internatinal Monetary Fund-IMF) กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจยังไม่พ้นขีดอันตรายแต่สิ่งที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือ การที่องค์กรระหว่างประเทศสนใจแต่เพียงรายละเอียดปลีกย่อยมากเกินไป จนละเลยที่จะมองภาพรวม

IMF เปิดเผยการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ว่า อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยทั่วโลกจะหดตัวในอัตราร้อยละ 4.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปี 2021 ว่าจะอยู่ราวร้อยละ 5.2 พร้อมชี้ว่า ปัจจุบันผู้นำระดับโลกต่างรู้สึกพึงพอใจในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

International Monetary Fund (IMF)
Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

คำถามที่สำคัญ คือ นอกจากจีนแล้ว แรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2021 คือใคร ในเมื่อจีน ประเทศเศรษฐกิจทางการผลิต และผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่เช่นกัน

ขณะที่ทางการสหรัฐฯ อัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 8 ล้านเหรียญ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าจ้างที่ลดต่ำลง อีกทั้งยังสถานการณ์ทางการเมืองภายในก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น

ด้านญี่ปุ่น นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ Yoshihide Suga ที่ใช้งบประมาณไปแล้วกว่าร้อยละ 40 ต่อ GDP แต่กลับไม่มีแนวโน้มว่า จะสามารถกลับไปสู่สถานะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกได้

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศในยุโรป ก็ต่างกำลังเผชิญกับความปั่นป่วนอย่างหนัก ซึ่งเห็นได้จากสถิติการเติบโตที่ต่ำที่สุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 และมีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจภายในภูมิภาคจะยังคงระส่ำระส่าย เพราะความไม่แน่นอนในสถานการณ์โควิด และความเสี่ยงในการกลับมาระบาดของโรค ที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นทางธุรกิจ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจีนจะสามารถก้าวสู่ปี 2021 ในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่ศักยภาพที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอีกครั้งยังมีข้อจำกัด เพราะขนาดประธานาธิบดี Xi Jinping เองก็กล่าวว่า จีนต้องพึ่งพาการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เพราะฉะนั้นแล้ว ความต้องการที่ลดลงจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป และนานาประเทศ ย่อมส่งผลกระทบต่อศักยภาพของจีนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

จากสถานการณ์ที่กล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า IMF คาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้าดีเกินความเป็นจริง เพราะโอกาสที่จะกลับมาฟื้นตัวเหมือนกราฟรูปตัว V ที่ร้อยละ 5.2 เป็นไปได้ยากมาก

หากพิจารณาระบบเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่กำลังพัฒนา และตลาดใหม่ (emerging economies) โดยไม่นับรวมจีน จะมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าปี 2019 แต่จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2021 แต่การฟื้นตัวจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และมีความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยสูง Gita Gopinath หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าว

International Monetary Fund (IMF)
Gita Gopinath หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF

ปัจจุบัน ความไม่แน่นอนในสถานการณ์โควิด และความเสี่ยงในการกลับมาระบาดระลอกที่ 2 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการทางการคลังอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานี้ IMF กลับแนะนำให้รัฐบาลลดความหวั่นวิตก ตามที่หนี้สาธารณะได้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งๆ ที่ในอดีต นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชียเมื่อปี 1997 IMF ได้มีจุดยืนสนับสนุนให้รัฐบาลจำกัดงบประมาณ และควบคุมการใช้จ่ายมาโดยตลอด

แต่ตอนนี้ IMF กลับให้เหตุผลที่ว่า หนี้สาธารณะ จะทำให้เกิดเศรษฐกิจก้าวกระโดดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และในช่วงเวลาอันใกล้นี้ จะยังไม่มีการหยุดอัดฉีดเงินช่วยเหลือแต่อย่างใด

ในขณะเดียวกัน ผู้มีอิทธิพลของโลกในวงการธนาคารกลาง 2 ท่าน ก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเห็นได้จากการที่ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กระตุ้นให้รัฐสภาออกมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบของโควิด-19 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ Christine Legarde ประธานธนาคารกลางยุโรปเห็นด้วยกับคำเตือนของ Powell ในประเด็นที่ว่าด้วย ความจำเป็นที่ภาครัฐต้องใช้จ่ายการคลังมากขึ้น โดยการเพิ่มเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ

เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน การว่างงาน และความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้น

แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ คำว่าถ้าเสียส่วนใหญ่

ถ้าประธานาธิบดี Donald Trump ลงนามอนุมัติงบประมาณช่วยเหลืออีก 2.2 ล้านล้านเหรียญ เพื่อรับมือกับโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็จะมีเสถียรภาพ

ถ้าจีนกลับมามี GDP ที่เติบโตในอัตราร้อยละ 7 อีกครั้ง เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียก็จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ถ้ากลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปสามารถข้ามผ่านวิกฤตหนี้สาธารณะ ที่สั่งสมมากว่า 10 ปีได้ ปี 2021 จะกลายเป็นปีที่เลวร้ายน้อยลงกว่าปีนี้แน่นอน

ถ้าญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศได้อีกครั้ง ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

และถ้าที่สำคัญที่สุด คือ ถ้าโลกไม่สามารถหลีกเลี่ยงการระบาดของไวรัสโคสิด-19 ในระลอกที่ 2 ได้ นักลงทุนในยุโรปก็จะเริ่มกลับมาหวั่นวิตกอีกครั้ง เพราะเมื่อไม่นานมานี้ ฝรั่งเศสได้ประกาศเคอร์ฟิวใหม่ในกรุงปารีส และเมืองอื่นๆ อีก 8 เมือง ขณะที่เยอรมันยกระดับความเข้มงวดในกรุงเบอร์ลิน แฟรงก์เฟิร์ต และเมืองอื่นๆ ส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว

เป็นที่ชัดเจนว่า เมื่ออัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ย่อมทำให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่น เพราะฉะนั้นมาตรการที่รัฐบาลกำหนดออกมาใหม่ในรอบนี้ จะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน Cedric Gemehl นักวิเคราะห์จาก Gavekal Research

นอกจากนี้ ด้วยความต้องการที่จะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ ทำให้ Trump พร้อมที่จะเอาชนะจีนในสงครามการค้าระหว่างสองประเทศได้ทุกเมื่อ และมีความเป็นไปได้ว่า “Trump จะมองการได้รับเลือกในอีกสมัยหนึ่ง เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของนโยบายต่างประเทศ ‘America First' และกลยุทธ์การรับมือกับโควิด-19 ที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ที่เชื่อว่าโรคจะหายไปเองได้ โดยไม่ต้องมีวัคซีน Henry Rome นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group กล่าว

จากที่กล่าวมาทั้งหมด คงทำให้เห็นภาพได้แล้วว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปี 2021 ที่อัตราร้อยละ 5.2 มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ยาก เพราะเศรษฐกิจมีแต่แนวโน้มจะทรุดหนักยิ่งขึ้น

แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ IMF's 'Deep Recession' Talk Ignores Economic Reality เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: “โลกทุนนิยม” ที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกา