ประธานเฟดคนใหม่ และทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่อาจเปลี่ยนไป - Forbes Thailand

ประธานเฟดคนใหม่ และทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่อาจเปลี่ยนไป

สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ณ เดือนกันยายนประกาศเริ่มลดขนาดงบดุลตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลให้ปริมาณเงินดอลลาร์ทั่วโลกค่อยๆ ลดลง แต่ตลาดกลับไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักลงทุนได้รับรู้ขอบข่ายการดำเนินการของมาตรการดังกล่าวมาแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน อีกทั้งในช่วงแรกนี้ ขนาดการลดปริมาณเงินดอลลาร์ก็คิดเป็นเพียง 0.22% ของขนาดงบดุลเท่านั้น จึงไม่น่าจะส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์มากนัก

แม้ว่าตลาดยังไม่ได้ตระหนักถึงอิทธิพลของการลดขนาดงบดุลในช่วงแรก แต่มาตรการนี้ย่อมส่งผลต่อปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินโลกแน่นอน หากพิจารณาค่าสหสัมพันธ์ระหว่างขนาดงบดุลของเฟดและเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินของตลาดเกิดใหม่พบว่า ขนาดงบดุลของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ถึง 96%-97% ขณะที่ขนาดงบดุลของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ อย่างยุโรปและญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่น้อยกว่า การลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จึงชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลออกจากตลาดการเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่และตลาดไทย   สิ่งที่เหนือความคาดหมายของตลาดในการประชุมครั้งนั้น คือ สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ตลาดไม่คิดว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ (PCE) ที่ต่ำเพียง 1.4% จากอัตราเป้าหมายที่ 2.0% จะทำให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ของปี อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุมดังกล่าว ทำให้ตลาดปรับคาดการณ์โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมมาอยู่ที่ประมาณ 80% สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดในระดับค่อนข้างสูง ด้านตลาดล่วงหน้า นักลงทุนในปัจจุบันมองว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในอีก 1 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่มองไว้ 1 เดือนก่อนหน้านี้หรือก่อนการประชุม แต่ที่น่าสังเกต คือ หากหักลบการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมจะพบว่า นักลงทุนอาจยังไม่ได้คิดถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าเลย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯในอีก 1 ปีล่วงหน้าอยู่ที่เพียง 1.58% เท่านั้น ซึ่งอาจมาจากการลดขนาดงบดุลของเฟดเป็นหลัก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนยังไม่คิดถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจเป็นเพราะมีความไม่แน่นอนในองค์ประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ นอกเหนือจากประธานเฟดสาขาต่างๆ ที่จะหมุนเวียนเข้ามามีสิทธิออกเสียงในแต่ละปีแล้ว Janet Yellen ประธานเฟดคนปัจจุบันจะหมดวาระลงในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ทำให้ตำแหน่งประธานเฟดซึ่งเป็นผู้ชี้นำทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ว่างลง   ตามระเบียบการคัดเลือก ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมต่อตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้วุฒิสภารับรอง Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งมีท่าทีชัดเจนให้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำจึงอาจเลือกผู้ที่มีทัศนคติแบบเดียวกันเข้าเป็นผู้นำนโยบายการเงินสหรัฐฯ และนั่นอาจทำให้การขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ จริงในปีหน้าน้อยกว่าที่คณะกรรมการชุดปัจจุบันตั้งไว้ที่ 3 ครั้ง ปัจจุบัน รายชื่อผู้ที่มีโอกาสรับตำแหน่งเหลืออยู่เพียง 3 ชื่อ คือ 1. Janet Yellen ประธานเฟคคนปัจจุบัน ซึ่งหาก Yellen ได้รับตำแหน่งต่อไป อาจเพิ่มความเข้มงวดของระเบียบการเงินหลังวิกฤต (Post-crisis financial rules) ซึ่ง Trump คัดค้านอย่างชัดเจน 2. John Taylor อาจารย์จาก Stanford University และเจ้าของกฎเทย์เลอร์ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ควรจะอยู่ที่ 3.75% ในระยะยาวแทนที่จะเป็น 2.75% อย่างที่เฟดปัจจุบันมองไว้ นั่นทำให้คาดว่าหาก Taylor ได้ตำแหน่งอาจทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นอีก 3. Jerome Powell หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการชุดปัจจุบัน ซึ่งตลาดมองว่าทำให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากการให้สัมภาษณ์และท่าทีของ Trump ทำให้ตลาดตัดคู่แข่งเหลือเพียง 2 คน คือ Taylor และ Powell โดยข้อมูลจาก Predictit ชี้ว่า Jerome Powell คือคนที่มีโอกาสได้รับตำแหน่งมากที่สุด ทั้งนี้ Powell ได้รับการสนับสนุนจาก Steven Mnuchin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และคาดว่าแนวทางดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำจะทำให้มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกฝั่งพรรครีพับลิกันมากที่สุด อย่างไรก็ตาม พรรคริพับลิกันมีเสียงข้างมากในวุฒิสภาเพียง 52 ต่อ 48 เสียง ทำให้ความไม่แน่นอนในการคัดเลือกผู้นำนโยบายการเงินสหรัฐฯ คนใหม่ยังมีต่อไป