ความผันผวนที่มากขึ้นจากการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่าง - Forbes Thailand

ความผันผวนที่มากขึ้นจากการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่าง

หลังจากผ่านเดือนที่มีการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักหลายที่ ผลการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันก็ยังคงมีอยู่ในเศรษฐกิจหลัก โดยทางธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 25bps มาที่ 0.75%-1.00% ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ และธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB เลือกที่จะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันเอาไว้

ธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ -0.4% และคงมติการเข้าซื้อสินทรัพย์ภายใต้โปรแกรม QE ที่ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงธันวาคมปีนี้ โดยการตัดสินใจของ ECB ออกมาตามการคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของยุโรปค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นมา ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินฝืดเริ่มลดลงเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะในภาคการเมืองของยุโรปที่จะมีการเลือกตั้งจำนวนมาก โดยการเลือกตั้งถัดไปเป็นของฝรั่งเศสในเดือนเมษายน และเยอรมันในเดือนกันยายน ทั้งนี้ การเลือกตั้งมีความเสี่ยงต่อตลาดเนื่องจากกระแสการต่อต้านสหภาพยุโรป และต่อต้านผู้อพยพมีมากขึ้น ด้วยความเสี่ยงที่ยังคงอยู่เราคาดว่าทางธนาคารกลางยุโรปจะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันเอาไว้ต่อไป อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซน Source: Bloomberg, KBank ประมาณการณ์ GDP ยุโรปจากธนาคารกลางยุโรป Source: ECB, KBank ด้านทางธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็ตัดสินใจที่จะคงนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิม โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% ขณะที่คงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10ปี ไว้ที่ 0% ทั้งนี้ ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นมองว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางอยู่ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นดูอัตราเงินเฟ้อที่หักผลของราคาอาหารสดเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับ 2% อยู่มาก สะท้อนว่าการใช้จ่ายของญี่ปุ่นอาจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ทำให้ทางธนาคารกลางตัดสินใจคงดอกเบี้ยและนโยบายการเงินไว้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยนโยบายและค่าเงิน USD/JPY Source: Bloomberg, KBank อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำ Source: Bloomberg, KBank อย่างไรก็ดีการตัดสินใจของธนาคารกลางทั้งสองไม่ได้ส่งผลต่อตลาดมากหนัก กลับเป็นการประชุมนโยบายการเงินของเฟดที่ทำให้ตลาดกลับผันผวน โดยการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในเดือนมีนาคม เฟดมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps แต่ยังคงมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยปี 2017 ที่ 3 ครั้งเหมือนเดิมทำให้ตลาดผิดหวังต่อมุมมองของเฟด กดดันให้ดอลลาร์และผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ ปรับลดลงรุนแรง โดยก่อนการประชุมของเฟด ตลาดหลายฝ่ายมองว่าเฟดอาจมีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ที่รุนแรงขึ้น อาจทำได้ถึง 4 ครั้ง แต่ตลาดก็ผิดหวังเมื่อเฟดยังคงส่งสัญญาณการขึ้นทั้งปีนี้ที่ 3 ครั้ง และยังคงท่าทีการขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เรามองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกครั้งนึงในเดือนกันยายน เมื่อแผนการปฏิรูปภาษีของทรัมป์เริ่มดำเนินการ แต่สิ่งที่ตลาดสนใจอีกอย่างคือเรื่องการลดสินทรัพย์ของเฟดลง ซึ่งปัจจุบันเฟดมีสินทรัพย์สูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยประธานเฟด Janet Yellen ได้ออกมาให้ความเห็นวานเฟดจะยังไม่มีการลดสินทรัพย์ในเร็วนี้ โดยจะใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการสื่อสารนโยบายการเงินฟลักของเฟดต่อไป Dot Plot เดือนมีนาคมยังคงส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีนี้ Source: Bloomberg, KBank โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในแต่ละการประชุม Source: Bloomberg, KBank ทั้งนี้ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารหลักของโลกออกมามองเห็นโอกาสที่จะต้องผ่อนคลายน้อยลง ผิดกับเมื่อปีที่แล้วที่ธนาคารกลางหลายที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ด้วยภาพอัตราเงินเฟ้อของโลกที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน เราจึงมองว่าแรงกดดันจากเงินฝืดในหลายประเทศจะเบาบางลง ในขณะที่เฟดเองก็จะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านการส่งสัญญาณการขึ้น 3 ครั้งทั้งปีนี้ โดยเฟดจะยังกังวลเรื่องการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้เฟดไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง เมื่อแรงกดดันจากเฟดน้อยลงและอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในหลายที่ เราจึงคาดว่าธนาคารกลางต่างๆ จะคงนโยบายการเงินปีนี้รวมถึงธนาคารกลางแห่งประเทศไทยด้วยเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยภาพที่หลายธนาคารกลางจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเฟดจะค่อยๆ ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เราจึงมองว่าเส้นอัตราผลตอบแทน หรือ yield curve ของไทยในปีนี้จะมีแนวโน้ม bear steepening เนื่องจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุยาวจะปรับขึ้นมากกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุยาวจะซื้อขายตามแนวโน้มในอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุสั้นจะไม่ปรับขึ้นมากเนื่องจากจะเคลื่อนไหวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย  เราจึงแนะนำให้ลดน้ำหนักในพันธบัตรอายุยาวในการลงทุนในตลาดพันธบัตรไทย เส้นอัตราผลตอบแทน หรือ yield curve ของไทย Source: Bloomberg, KBank