"เราจะปฏิรูปภาษีดีหรือไม่" คำถามนี้เป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่ทุกระบบเศรษฐกิจต่างสงสัย หากย้อนกลับไปสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ณ เวลานั้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ด้านอุปทานมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก โดยประธานาธิบดีเรแกนแต่งตั้งนายอาร์เธอร์ ลาฟเฟิล เจ้าของทฤษฎีเส้นลาฟเฟิล (Laffer curve) เป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจ และดำเนินนโยบายลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอ้างว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นในที่สุด
ทฤษฎีลาฟเฟิลถูกอ้างอิงอีกครั้งในสมัยของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ขณะที่ภาครัฐบาลสหรัฐฯ มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยฝ่ายพรรคริพับลิกันหรือรัฐบาลอ้างว่าแผนการปฏิรูปภาษีนั้นจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้สูงถึง 3% จากอัตราการขยายตัวระดับศักยภาพที่ไม่ถึง 2% โดยเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูจากการลดภาษีจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ในปริมาณเพิ่มขึ้น และช่วยลดภาระหนี้สินของภาครัฐบาลจากระดับกว่า 20.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบันลงได้
ในทางทฤษฎีลาฟเฟิล การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีอาจส่งผลต่อรายได้ภาครัฐใน 3 รูปแบบ กล่าวคือ 1) ไม่ว่ารัฐจะลดหรือเพิ่มอัตราภาษีก็จะทำให้ภาครัฐจัดเก็บรายได้ได้น้อยลง หรือนัยว่าอัตราภาษีในปัจจุบัน (t*) ทำให้รัฐมีรายได้สูงที่สุดอยู่แล้ว (เส้นสีดำในรูปที่ 1) 2) เมื่อรัฐบาลลดภาษีจะทำให้รัฐมีรายได้น้อยลง ซึ่งเป็นรูปแบบตามความเชื่อของพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคแดโมแครต (เส้นสีน้ำเงิน) และ 3) การลดภาษีจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นในที่สุด (เส้นสีแดงในภาพ) ซึ่งการปฏิรูปภาษีของนายประธานาธิบดีทรัมป์สะท้อนความเชื่อตามรูปแบบที่ 3 นี่เอง
รูปแบบการใช้จ่ายของภาคเอกชนสนับสนุนความเชื่อของนายทรัมป์เช่นกัน เนื่องจากชาวอเมริกันจะใช้จ่ายเงินกว่า 93% ของรายได้เพื่อการบริโภค อีกทั้งการใช้จ่ายของภาคเอกชนชาวอเมริกันยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับรายได้หลังหักภาษีเป็นอย่างมาก (รูปที่ 2) โดยหากชาวอเมริกันมีรายได้เพิ่มขึ้น 10% จะมีโอกาสถึง 71% ที่ชาวอเมริกันจะเพิ่มการบริโภคของตนเอง 8% ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีของไทย เมื่อรัฐบาลออกมาตรการช็อปช่วยชาติเพื่อให้การใช้ชาติในช่วงสิ้นปีนำมาลดหย่อนภาษีได้ หรือมาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยว ทำให้ประชาชนชาวไทยเร่งใช้จ่ายและท่องเที่ยวเช่นกัน มาตรการเหล่านี้จึงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ โดยรัฐบาลคาดว่ามาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นในที่สุด
สำนักงบประมาณสหรัฐฯ วิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่นี้ต่อฐานะการคลังแล้ว แต่ผลการวิเคราะห์ยังไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงมหภาค โดยสำนักงบประมาณสหรัฐฯ ประเมินว่ากฎหมายภาษีฉบับนี้จะก่อหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นอีก 1.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากประมาณ 20.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับ 22.0 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า และทำให้ภาครัฐขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3.6% ต่อ GDP ในปี 2017 มาอยู่ที่กว่า 5.1% ของ GDP ในปี 2027
การปฏิรูปภาษีอาจไม่ได้สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หากไม่ได้ทำให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ตามแนวคิดของเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนปัจจุบัน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในมุมมองด้านตลาดแรงงานจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน หากกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่นี้ไม่ได้สนับสนุนการศึกษาหรือเทคโนโลยีซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนผลิตภาพแรงงานอาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทดแทน ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำอาจต้องเตรียมพร้อมนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อต่อไป