'กิรณ ลิมปพยอม' แม่ทัพคนล่าสุด “บ้านปู เพาเวอร์” เดินหน้าขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ต่อยอดการขับเคลื่อนพลังงานรักษ์โลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมก้าวสู่ตลาดโกลบอล
ถนนทุกสายมุ่งสู่ธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ธุรกิจพลังงานก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่าพลังงานหมุนเวียน (renewable power) ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และบริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่ต่างก็หันทิศทางการเติบโตมายังธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่นเดียวกับก้าวย่างของ “บ้านปู เพาเวอร์” ภายใต้การบริหารโดยแม่ทัพคนล่าสุด กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซีอีโอหนุ่มวัย 46 ปี ถือเป็นผู้บริหารลูกหม้อที่ทำงานกับบ้านปูมานาน กว่า 13 ปี โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 “ผมไปทำงานที่อินโดนีเซีย 5 ปีก่อนจะกลับมาไทย อยู่ในกรุ๊ปซีอีโอที่ดูแลเรื่องธุรกิจใหม่” กิรณย้อนอดีตภารกิจล่าสุดก่อนเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ บ้านปู เพาเวอร์ ที่เขาดูแลมากว่า 2 ปีครึ่งแล้ว โดยช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งไม่นานก็ต้องเผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อเนื่องมาตลอด 2 ปีเป็น 2 ปีที่ท้าทายเพราะโควิดทำให้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกลดลง แต่ถึงกระนั้นบ้านปู เพาเวอร์ก็ยังคงเติบโตและผลประกอบการยังมีกำไร ทั้งนี้อ้างอิงจากตัวเลขที่แสดงในฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บมจ. บ้านปู เพาเวอร์ มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,456 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องจากรายได้รวม ณ สิ้นปี 2563 ที่มียอดกว่า 6,526 ล้านบาท และ 6,402 ล้านบาทในปี 2562 โดยภาพรวมยังคงมีกำไรสุทธิรอบ 9 เดือนปี 2564 อยู่ที่ 2,756 ล้านบาท ถือว่าไม่แตกต่างมากเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 3,702 ล้านบาทในปี 2563- ก้าวสู่ “โกลบอล” -
โดยซีอีโอ บ้านปู เพาเวอร์ กล่าวในโอกาสแถลงผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2564 ว่า ประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยในครึ่งปีแรก 2564 มีกำไรสุทธิ 2,160 ล้านบาท สามารถรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง ในไตรมาส 2/2564 โรงไฟฟ้าเอชพีซีใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทย มีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงที่อัตราร้อยละ 92 และร้อยละ 87 ตามลำดับ ขณะเดียวกันบริษัทกำลังเดินหน้าขยายกำลังผลิตอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตพลังงานตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) จะเห็นได้จากความสำเร็จในการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้า Nakoso ในญี่ปุ่น ซึ่ง COD (Commercial Operation Date) หรือการเปิดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนเมษายนเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และนับเป็นโรงไฟฟ้า IGCC (Integrated Gasification Combined Cycle) แห่งแรกที่ได้รับการพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุด ต่อมาในเดือนมิถุนายน บ้านปู เพาเวอร์ ยังลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Beryl และ Manildra ในออสเตรเลีย เพิ่มกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนอีก 17 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ได้เข้าไปศึกษาระบบการซื้อ-ขายไฟฟ้าในตลาดประเทศออสเตรเลียต่อไป- เดินหน้าขยายการลงทุน -
ล่าสุดการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 384 เมกะวัตต์ ในรัฐ Texas สหรัฐอเมริกา ทั้งหมดนี้ตอบโจทย์การขยายเมกะวัตต์ที่มีคุณภาพในประเทศที่กลุ่มบ้านปูมีฐานธุรกิจอยู่แล้วตามแผนกลยุทธ์การต่อยอดมูลค่าทางธุรกิจจาก ecosystem ภายในกลุ่มบ้านปูที่บริษัทตั้งเป้าไว้ นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลังของปี 2564 โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในจีนกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ อยู่ในช่วงทดสอบการเดินเครื่องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3/2564 ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานลม El Wind Mui Dinh ในเวียดนาม กำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ ที่บ้านปู เพาเวอร์ เข้าลงทุนก่อนหน้านี้ก็รับรู้รายได้ในไตรมาส 3/2564 เช่นกัน ขณะเดียวกันยังมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2564 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Vinh Chau ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 2 โครงการ ได้แก่ Kesennuma กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และ Shirakawa กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ เปิด COD ในไตรมาส 4/2564 “ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 บ้านปู เพาเวอร์ ยังคงดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ พร้อมบริหารทั้งทีมงานและธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของเราทุกแห่ง ให้สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ” กิรณย้ำและว่า บริษัทยังคงแสวงหาโอกาสขยายการเติบโตของกำลังผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีศักยภาพ โดยจะประเมินและพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างเหมาะสมแก่ผู้มีส่วนได้เสียต่อไป พร้อมกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ- นำกระแสรักษ์โลก -
“เราอยากโตให้ถึง 5,300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าอยู่ 34 โรง มีกำลังการผลิต 3,330 เมกะวัตต์ เราจะทำทันไหม” ซีอีโอบ้านปู เพาเวอร์ เผยเป้าหมายที่วางไว้ท่ามกลางการแข่งขันธุรกิจพลังงานที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เขามองว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าดีมานด์ของการใช้พลังงานหมุนเวียนจะต้องการมากขึ้น เป็นไปตามกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งมาแน่นอน การใช้ไฟเพิ่มขึ้น ดูง่ายๆ จากเครื่องไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบตเตอรี่มากขึ้น กระแสโลกร้อนก็มาจริง ถ่านหินหายไป โรงไฟฟ้าก๊าซเข้ามาแทน การใช้พลังงานจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ แนวโน้มกระแสสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนมาแน่นอน ขณะนี้ในหลายประเทศทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ต่างเรียกร้องที่จะใช้พลังงานทดแทนเท่านั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินลดน้อยลงเรื่อยๆ ในด้านดีมานด์ความต้องการใช้ไฟเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ก็ต้องบียอนด์กรีน กิรณบอกว่า บ้านปูเน็กซ์จะเข้าไปเพื่อต่อยอดเป็นการต่อยอดซึ่งกันและกัน “ภายในปี 2568 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะมากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในพอร์ตตั้งแต่เริ่มโครงการ 10-20 ปีก่อน เราเติมก๊าซและ renewable power เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ เราต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน เหลือเวลาอีก 4 ปีเพื่อใกล้เป้าหมายนั้น” กิรณอธิบายพร้อมกรอบเวลา ซึ่งแน่นอนต้องเชื่อมโยงกับความต้องการใช้ ซึ่งเขาบอกว่า ภาคการผลิตเดินหน้าไม่หยุด ความต้องการใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภาพ: API อ่านเพิ่มเติม:- สุชาดา อิทธิจารุกุล ผนึกคู่คิดธุรกิจ แม็คโคร-โลตัสส์
- วิสัยทัศน์ควบแรงม้าของเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ “LANG WALKER”
- “สตาร์ทอัพ” มายาของเหล่าดาราคนดัง
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine