วรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ เพิ่มโอกาส “MK” รุกโกดังโรงงาน-สุขภาพ - Forbes Thailand

วรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ เพิ่มโอกาส “MK” รุกโกดังโรงงาน-สุขภาพ

บมจ. มั่นคงเคหะการ เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่จากตระกูล “ตั้งมติธรรม” มาเป็น บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) หรือชื่อใหม่ “เอฟเอ็นเอส โฮลดิ้งส์” (FNS) บริษัทด้านการเงินรายเล็กที่มีสินทรัพย์และรายได้รวม 4,391 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK)


นอกจากเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว วรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. มั่นคงเคหะการ (MK) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บมจ. ฟินันซ่า ยังเป็นผู้บริหารคนสำคัญในฐานะแม่ทัพใหญ่ที่จะนำพากิจการ MK ที่มีอายุยาวนานมากกว่า 60 ปี ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเติบโตและเท่าทันเทรนด์ของโลกและธุรกิจ

แน่นอนว่าธุรกิจหลักของ MK ในการเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงดำเนินต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็ได้กระจายความเสี่ยง โดยการเพิ่มกลุ่มธุรกิจที่เป็นตลาดใหม่ๆ เข้ามาเสริม นั่นคือการทำโรงงานและโกดังให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับธุรกิจใหม่คือ การพัฒนาอสังหาฯ เพื่อบริการด้านสุขภาพซึ่งกำลังมาแรงในปัจจุบัน


- ขึ้นชกหลายเวที -

วรสิทธิ์ นักธุรกิจหนุ่มใหญ่วัย 57 ปี ผู้เต็มไปด้วยความฝันตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน เขาย้อนอดีตให้ทีมงาน Forbes Thailand ฟังว่า แรกเริ่มที่เขาทำงานเป็นนักวิเคราะห์หลังจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเงินจากสหรัฐอเมริกา เขามีโอกาสได้ทำงานกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ในฐานะนักวิเคราะห์ ภารกิจหลักคือ นำปัจจัยต่างๆ มาวิเคราะห์โอกาสให้กับลูกค้า มองธุรกิจ ประเมินและวิเคราะห์แนวทาง

“ในใจผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อไรเราจะได้ขึ้นชกจริง เพราะงานตอนนั้นมันแค่วิเคราะห์ ไม่ได้ลงมือจริง อยากทำอะไรที่เป็นการลงมือจริงๆ” จากนั้นเขาจึงขยับขยายมาร่วมหุ้นกับเพื่อน ก่อตั้งบริษัทฟินันซ่าขึ้นเมื่อปี 2532 และด้วยความที่เป็นบริษัทการเงินขนาดเล็ก ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ฟินันซ่าจึงรอดมาได้จากการปิด 56 สถาบันการเงิน เพราะไม่มีเงินกู้ต่างประเทศ

จากนั้นก็ดำเนินธุรกิจด้านการเงินมาโดยตลอด เคยเข้าไปถือหุ้นในหลากหลายธุรกิจ จนกระทั่งเมื่อ 6 ปีก่อนทราบว่าเจ้าของ บมจ. มั่นคงเคหะการ ต้องการขายหุ้นเนื่องจากผู้บริหารหลัก (ชวน ตั้งมติธรรม) อายุมากต้องการเกษียณ และทายาทไม่รู้สึกท้าทายกับธุรกิจนี้ เขาจึงตัดสินใจเข้ามาซื้อหุ้นใน MK พอเข้าไปก็นำธุรกิจใหม่เข้าไปเพิ่ม นั่นคือธุรกิจโกดังและโรงงานให้เช่า ซึ่งเดิมทางกลุ่มทำอยู่แล้วและคิดว่าถ้าไปรวมกับ MK น่าจะดี เพราะมีขนาดบริษัทที่ใหญ่กว่า



“ตอนเป็นฟินันซ่าและมาเป็น FNS ก็ไม่เยอะมีทุน 2 พันกว่าล้าน ส่วน MK ทุนอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาท ใหญ่กว่า 3 เท่า เราก็คิดว่ามันมีศักยภาพที่จะเจริญเติบโต” วรสิทธิ์เล่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปถึงการตัดสินใจขึ้นสังเวียนใหม่ในธุรกิจอสังหาฯ หลังจากผ่านเวทีโชกโชนทางการเงินมานานกว่า 30 ปี เขาบอกว่า ช่วงที่ตัดสินใจตอนนั้นเพราะธุรกิจโกดังโรงงานให้เช่าต้องใช้เงินทุน ทำให้บริษัทต้องสร้างแล้วปล่อยเช่า ตอนสร้างไปก็ต้องลงทุนซื้อที่ดินมา เมื่อรวมการก่อสร้างและอื่นๆ ต้นทุนตก 20,000 บาทต่อตารางเมตร มาปล่อยเช่าก็ต้องใช้เวลา 5-6 ปีกว่าจะคืนทุน ซึ่งธุรกิจนี้น่าจะไปได้กับ MK

สิ่งที่อดีตนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ผู้คร่ำหวอดในวงการมากว่า 30 ปีคิดในขณะนั้นคือ “คิดว่าจะทำอะไรต่อ เพราะว่า background ของเราไม่ใช่อสังหาฯ โดยตรง เลยมองว่าจะทำ recurring income มากกว่า” นั่นคือจุดเริ่มแรกที่ซีอีโอคนใหม่มองและเห็นว่าธุรกิจบริการด้านอสังหาฯ คล้ายธุรกิจวาณิชธนกิจคือ เข้าไปสร้างเพื่อขายแล้วจบไป จากนั้นก็เริ่มใหม่รับความเสี่ยงใหม่

ต่อยอดมาเป็นธุรกิจโกดัง โรงงานให้เช่า ซึ่งวรสิทธิ์บอกว่า เดิมเขาทำอยู่แล้ว เมื่อมารวมกับ MK จึงนำธุรกิจนี้มาเป็นอีกขาหนึ่งของบริษัท นั่นคือโครงการ Bangkok Free Trade Zone เริ่มโครงการแรก 1,000 ไร่ ในโครงการมีฟรีเทรดโซนมีศุลกากรอยู่ด้านหน้าสามารถนำสินค้าเข้าไปผลิตและส่งออกโดยปลอดภาษี โครงการนี้อยู่ที่บางพลีในเขตพื้นที่สีม่วงคือในโซนอุตสาหกรรม อีกแห่งที่บางนาตราด ปัจจุบันมีอยู่ 6 โครงการ พื้นที่ใหญ่สุดคือ 1,000 ไร่ที่บางพลี นอกนั้นก็ 300-400 ไร่



- รุกโกดังโรงงานและธุรกิจสุขภาพ -

เมื่อนำการพัฒนาพื้นที่อสังหาฯ กึ่งอุตสาหกรรมเข้ามาเสริมก็ทำให้โครงสร้างรายได้ MK เปลี่ยนไป และนอกจากนี้บริษัทยังได้ขยายมาทำธุรกิจดูแลสุขภาพ “ตอนที่มาซื้อก็คิดว่าอันแรกทำโกดังก็ยังไม่ได้ 100% จุดหนึ่งก็มานั่งวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านอะไรบ้าง” เขาบอกเล่ามุมมองเชิงวิเคราะห์โอกาส ซึ่งการทำโกดังให้เช่าเป็นอะไรที่พิสูจน์แล้ว รูปแบบธุรกิจได้รับการพิสูจน์ผ่านโครงการ Eastern Seaboard ไทยเป็นฐานการผลิตเป็นอะไรที่ต่างชาติยอมรับแล้ว ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ บริษัทรถยนต์ซื้อที่ 500 ไร่ รูปแบบจึงเปลี่ยนไป ปัจจุบันคลื่นมันต่างไปเรื่องของโลจิสติกส์ เรื่องซัพพลายเชน ศุลกากร สิ่งเหล่านี้ขึ้นจากกรุงเทพฯ มากขึ้น บริษัทจึงมาเน้นโครงการที่เป็นแบรนด์ จึงมาทำ Bangkok Free Trade Zone

วรสิทธิ์มองไปข้างหน้าอีกก้าว เขาเห็นโอกาสที่ใหม่กว่าคือ เรื่องสุขภาพ เพราะไทยมีจุดแข็งด้านนี้ มีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นี่จึงเป็นที่มาของการก้าวเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพของ MK ภายใต้แบรนด์ รักษ (RAKxa) โครงการแรกพัฒนาที่ดิน 180 ไร่ ที่บางกระเจ้า เป็นเวลเนสที่ให้คุณค่าด้านสุขภาพด้วยการนิยามตัวเองว่า RAKxa Health is Wealth การมีสุขภาพดีคือความมั่งคั่งของชีวิต

รักษ แห่งแรกจึงเปิดบริการที่บางกระเจ้า “ที่นี่เราจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาล ไม่ได้ขัดกับผังเมือง เพราะเราไม่ได้ขายบ้านหรือที่ดิน แต่เราให้บริการด้านสุขภาพ” แม่ทัพใหญ่ MK บอกเล่าแนวทางการพัฒนาซึ่งเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัท และเป็นสายธุรกิจที่คาดหวังผลตอบแทนระยะยาวที่จะเป็นการสร้างรายได้สม่ำเสมอตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เมื่อครั้งเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยมากว่า 6 ทศวรรษภายใต้แบรนด์ที่ใครๆ ก็รู้จัก คือ “บ้านชวนชื่น” ซึ่งยังรักษาไว้เพราะยังคงเติบโตและอยู่ตัว



ส่วนธุรกิจสุขภาพแบรนด์รักษเป็นน้องใหม่ที่มาแรงและไม่ได้มาคนเดียว แต่ควงคู่โรงพยาบาลอันดับ 1 อย่าง รพ.บำรุงราษฎร์ เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมให้บริการด้านสุขภาพควบคู่ไปกับศาสตร์การดูแลสุขภาพที่หลากหลาย พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดและดูแลสุขภาพที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมาให้บริการควบคู่กันไป มีทั้งการบำบัดด้านต่างๆ เพื่อสุขภาพ ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์และแพทย์ทางเลือกหลายศาสตร์ตามความต้องการของแต่ละคน

ทุกศาสตร์จะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สุขภาพ ก่อนแนะนำไปสู่บริการที่เหมาะสมกับแต่ละคน เช่น มีเครื่องมือตรวจวัดการใช้ร่างกาย การลงน้ำหนักในการเดิน การนั่ง หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ว่าแต่ละคนมีพฤติกรรมการใช้ร่างกายอย่างไร ก่อนแนะนำสู่การฝึกฝนและปรับใช้ให้เกิดสมดุล เป็นต้น หรือหากเป็นเรื่องจิตใจก็จะมีการวิเคราะห์ประเมินก่อนนำเสนอโปรแกรมการดูแลเช่นกัน

“เราขยายอีก 1 แห่ง เพราะไทยมีศักยภาพด้านนี้สูงเป็นที่ยอมรับเมื่อมาบวกกับ hospitality มันก็เลยเห็นชัดเจนว่า wellness resort and health care โตแน่นอน” เพราะไม่เพียงดูผู้ป่วย แต่การขยายมาสู่การดูแลป้องกันสุขภาพไม่ให้ป่วยที่เรียกว่า preventive เป็นธุรกิจที่น่าจะไปได้ดีและไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน เป็นธุรกิจใหม่ที่มีมิติกว้างทั้งแบบ medical และ non-medical

หลังเปิดบริการ “รักษ” แห่งแรกที่บางกระเจ้า ซึ่งเดิมโฟกัสกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ แต่จังหวะไม่ดีนักเปิดมาก็เผชิญสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องปรับแผนมาโฟกัสลูกค้าคนไทยก็พบว่าการตอบรับค่อนข้างดี จึงมั่นใจที่จะเดินหน้าธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจึงได้ลงทุนรักษแห่งที่ 2 ขึ้นที่สวนสามพราน นครปฐม แต่ครั้งนี้ต่างจากโครงการแรก เพราะเป็นการขยายลงทุนด้วยการเข้าร่วมทุนกับ รพ.บำรุงราษฎร์ เปิดบริษัทร่วมทุนใหม่เป็นบริษัทลูกใน MK คือ บริษัท รักษ เวนเจอร์ จำกัด

บริษัทใหม่นี้เป็นการร่วมทุนระหว่างมั่นคงฯ และไวทัลไลฟ์ อัลไลอันซ์ บริษัทย่อยของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในสัดส่วน 50:50 เพื่อดำเนินธุรกิจสุขภาพ “บริษัทนี้จดทะเบียนเป็นธุรกิจด้านโรงพยาบาลเพื่อให้บริการดูแลสุขภาพและเวลเนสเต็มรูปแบบ ครอบคลุมความต้องการด้านสุขภาพทุกมิติ” วรสิทธิ์กล่าวในวันเปิดตัวบริษัทร่วมทุน ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่เขากล่าวถึงในปัจจุบันคือ เป็นธุรกิจที่สอดรับกระแสการเติบโตของอุตสาหกรรมเวลเนส ที่ตอบโจทย์ของการผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก (world-class medical and wellness destination)


ภาพ: API

อ่านเพิ่มเติม:

>> 10 อันดับ บุคคลร่ำรวยที่สุดในสหรัฐฯ ประจำปี 2022

>> ปรับพอร์ตลงทุนรับ Recession Concern

__________________________________________________________________

คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine

TAGGED ON