ยืนยง โอภากุล ศิลปินเพลงหมื่นล้าน - Forbes Thailand

ยืนยง โอภากุล ศิลปินเพลงหมื่นล้าน

นอกจากจะเป็นขุนพลเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังแล้ว “แอ๊ด คาราบาว” ยังเป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ร่ำรวยที่สุดไม่ใช่รายได้จากผลงานเพลงดนตรี แต่เป็นเพราะถือหุ้นใน บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มากเป็นอันดับ 3

ยืนยง โอภากุล หรือ "แอ๊ด คาราบาว" ถือหุ้นใน บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ด้วยจำนวน 70.48 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 7,845 ล้านบาท หากรวมของทั้งครอบครัวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,500 ล้านบาท (คำนวณ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม ปี 2564) ส่วนผลประกอบการปี 2563 ของ บมจ. คาราบาวกรุ๊ป มีสินทรัพย์รวม 17,086.68 ล้านบาท รายได้รวม 17,386.29 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,525.03 ล้านบาท และจ่ายปันผลเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในอัตราหุ้นละ 1.50 บาท ยืนยง โอภากุล หรือ “แอ๊ด คาราบาว” เริ่มมีชื่อเสียงจากการเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงแฮมเมอร์ในปี 2522 จากอัลบั้มชุดบินหลา และทำให้แฮมเมอร์เป็นที่รู้จักในวงการ ปีต่อมาได้แต่งเพลงถึกควายทุยให้แฮมเมอร์บันทึกเสียงในอัลบั้มปักษ์ใต้บ้านเรา ทำให้แฮมเมอร์โด่งดังเป็นอย่างมาก ปี 2524 ร่วมแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ของ พนม นพพร เรื่องหมามุ่ย และร่วมกับ เขียว คาราบาว ออกอัลบั้มชุดแรกของวงคาราบาวในชื่อชุดขี้เมา หลังจากนั้นมีอัลบั้มออกมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมาโด่งดังสุดขีดเมื่อปี 2527 จากผลงานชุด เมด อิน ไทยแลนด์ มียอดจำหน่ายถึง 5 ล้านตลับ ปัจจุบันมีผลงานเพลงรวมมากกว่า 90 อัลบั้ม เมื่อธุรกิจดนตรีเริ่มเผชิญอุปสรรคจากเทคโนโลยี “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” เจ้าของธุรกิจโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงถามว่าในอนาคตจะทำอย่างไร ยืนยงบอกว่า สนใจทำธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่เสถียรมองว่าสินค้าไม่เหมาะกับคาแร็กเตอร์ของแบรนด์และเสนอธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เพราะกลุ่มผู้บริโภคกับแฟนเพลงคาราบาวเป็นกลุ่มเดียวกัน ปี 2544 บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด จึงเกิดขึ้นจากการร่วมทุนของยืนยงกับกลุ่มธุรกิจโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ประกอบด้วย เสถียร เศรษฐสิทธิ์ และ ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และเปิดตัวเครื่องดื่มบำรุงกำลังภายใต้เครื่องหมายการค้า “คาราบาวแดง” ซึ่งมาจากชื่อวงคาราบาวและโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง โดยเสถียรดูแลด้านการคิดค้นสูตรเครื่องดื่ม ณัฐชไมเป็นฝ่ายบริหารจัดการ “คาราบาวแดง” เข้าสู่ตลาดในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปี 2545 มีการทำตลาดอย่างครึกโครม ทั้งการเดินขบวนคล้ายประท้วง ติดป้ายโฆษณา จัดฟรีคอนเสิร์ต “นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่” 70 ครั้งทั่วประเทศ โดยยืนยงรับหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์สินค้า ลงพื้นที่ทำกิจกรรมการตลาดพร้อมทีมงานสาวบาวแดง 500 คน และขึ้นแท่นสู่อันดับ 3 ของเครื่องดื่มประเภทเดียวกันตั้งแต่ปีแรกปี 2557 มีการจัดตั้ง บมจ. คาราบาวกรุ๊ป และนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันยืนยงไม่ได้ลงพื้นที่ทำการตลาดเหมือนช่วงแรก อาจมีออกไปพบปะร้านค้าบ้าง รวมถึงช่วยงานบริษัทด้าน CSR เช่น การประกวดวงดนตรี “Bao Young Blood” ดนตรีสร้างคุณค่าชีวิต โครงการตำบลของหนู ขุนพลเพลงเพื่อชีวิตเคยให้สัมภาษณ์ Forbes Thailand ปี 2560 ว่า “ผมไม่ทราบมูลค่าทางธุรกิจ ผมคิดแค่ว่าขอให้ตื่นเช้ามาทำงานและสนุก จริงๆ ชีวิตผมมาถึงตรงนี้ มีรายได้ขนาดนี้ นับว่ามากและใช้ไม่หมดอยู่แล้ว จะบอกว่าพอแค่นี้ก็ได้ แต่พี่เถียรยังลากไปอยู่ เราลงเรือลำเดียวกันแล้วก็ต้องไปด้วยกัน...เป้าหมายส่วนตัว ผมอยากแต่งเพลงเพราะๆ ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ และตระเวนเล่นเพลงตามที่ต่างๆ พร้อมกับพูดถึงสังคม ปรัชญา และการดำรงอยู่ ซึ่งผมศึกษารวบรวมไว้...” จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในช่วงที่ผ่านมาสังคมจะได้รับฟังเพลงจาก แอ๊ด คาราบาว ที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ทางสังคมอยู่เป็นระยะ อาทิ แต่งเพลง “วิญญาณผู้พิทักษ์” ให้แก่ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี ซึ่งถูกให้ออกจากราชการ ปลายปี 2563 แต่งเพลง “วัคซีนเพื่อคนไทย” พร้อมนำรายได้จากการเผยแพร่เพลงบริจาคให้กับโครงการทำวัคซีนต้านโควิด-19 ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ล่าสุด มีนาคม ปี 2564 ทำเพลง “รวมใจไทยข้ามโควิด-19” เพื่อให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์   ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine