คู่สามีภรรยาสุวิน-ธัญญาภรณ์ ไกรภูเบศ จูงมือกันผันตัวจากแวดวงการแพทย์สู่เส้นทางเจ้าของกิจการค้าเครื่องสำอาง ที่คว้าความมั่งคั่งจากพลังการจับจ่ายของผู้หญิงที่ไม่ยอมหยุดสวย พึ่งพาความหลากหลายของผลิตภัณฑ์พร้อมสารพัดช่องทางจำหน่ายให้โดนใจทั้งสาวไทยและเทศ เพื่อก้าวสู่จุดหมายทำรายได้แตะ 1 หมื่นล้านภายใน 5 ปี
สามีภรรยาที่หันเหจากแวดวงการแพทย์ในฐานะหมอและพยาบาลมาก่อร่างกิจการค้าเครื่องสำอางนำเข้าร้านแรกในชื่อ “นีโอ” ที่ศูนย์การค้าย่านสยามสแควร์ ก่อนจะมีพัฒนาการและขยับขยายจนกลายเป็น บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY ที่ สุวิน ไกรภูเบศ รับหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ขณะที่ ธัญญาภรณ์ ไกรภูเบศ เป็นกรรมการบริษัท โดยปัจจุบัน BEAUTY มีเครือข่ายทั้งไทยและต่างประเทศรวมกันที่ 498 สาขา ตัวเลขผลประกอบการที่ผ่านมาสามารถทำรายได้กว่า 3.7 พันล้านบาทในปี 2560 และยังมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Cap ราว 5.5 หมื่นล้านบาท (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561) ส่งผลให้คู่สามีภรรยาแห่ง BEAUTY ติด 1 ใน 50 เศรษฐีไทยเป็นครั้งแรก และครองตำแหน่งที่ 40 ของบรรดาผู้มั่งคั่งที่จัดโดย Forbes จากสินทรัพย์สุทธิราว 2.2 หมื่นล้านบาท กระนั้น นี่ยังไม่ใช่ปลายทางแห่งชัยชนะ แต่ในระยะยาวบริษัทยังจะเดินหน้าขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นโดยวางเป้าหมายจะทำรายได้แตะ 7 พันล้านบาทใน 3 ปี และทะยานถึง 1 หมื่นล้านภายใน 5 ปีเมล็ดพันธุ์แห่งความอยู่รอด
ในช่วงที่ต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ สุวินจึงเริ่มสังเกตพฤติกรรมสตรีที่วิเคราะห์จากคนใกล้ตัวอย่างภรรยา ที่แม้ว่าอำนาจการใช้จ่ายจะไม่คล่องตัวดังเดิม แต่ผู้หญิงก็ยังใช้สอยเรื่องความสวยความงามอยู่ จึงตัดสินใจที่จะลองลงหลักปักฐานในตลาดค้าความสวย “ตอนที่เปิดร้าน เราไม่ได้คาดหวังอะไรเลย แค่ขอให้ไม่เจ๊งเป็นพอ...เพราะคนที่เริ่มทำธุรกิจถ้าคาดหวังมากๆ ก็จะกลัวจนไม่กล้าลงมือทำ” สุวินเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจเปิดร้านแห่งแรก ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเตรียมการมาดีแค่ไหน แต่แม้ช่วง 6 เดือนแรกยอดขายเหมือนจะไปได้ดี แต่ 6 เดือนหลังกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม จนคิดจะเลิกกิจการแต่เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ดีจึงหาคนเซ้งร้านต่อไม่ได้ ในที่สุดทั้งสองจึงต้องหาทางกลับมาสู้ จึงนำไปสู่การสร้างสรรค์กลยุทธ์ดึงลูกค้าเข้าร้านด้วยโปรโมชั่นต่างๆ แล้วตามมาด้วยการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้าก็จะสามารถปิดการขายได้ ควบคู่กับการดึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์มาจูงใจ สุวินบอกว่าพวกเขาต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจจึงจะรอดได้ ซึ่งนับว่าบาดเจ็บพอสมควร แต่สุดท้ายแล้วร้าน “นีโอ” ก็คืออู่ข้าวอู่น้ำที่ช่วยให้ทั้งคู่สร้างฐานะได้ จากร้านแรกที่ผ่านการเรียนรู้จนช่ำชองถึงระดับหนึ่ง จึงเลือกทุ่มเดิมพันหมดหน้าตักให้กับร้านที่ 2 ในชื่อ “โมนา” ซึ่งครั้งนี้เลือกวางพิกัดที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง นับเป็นจังหวะที่สำเร็จอย่างงดงาม และขยับขยายไปเปิดยังศูนย์การค้าต่างๆ จนมีถึง 7 สาขา ภายใต้ชื่อ บริษัท โมนาโพลิแตนท์ จำกัด “ร้านโมนาขายดีมาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีคู่แข่งและเป็นร้านที่ขายเครื่องสำอางแบบ multi-brand ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ขนาดว่ามีคนมายืนรอเต็มหน้าร้านและมีลูกค้าแน่นร้านตลอดเวลาอยู่เป็นปีๆ เหมือนแจกฟรี” ธัญญาภรณ์ฉายภาพ ทั้งนี้ สุวินเสริมว่ากุญแจแห่งความสำเร็จของร้านโมนานอกจากสินค้าแบบ multi-brand แล้ว ยังผสานด้วยจุดดีของทั้ง counter brand และร้านขนาดเล็กไว้ด้วยกัน เช่น ราคาจับต้องได้ มีสินค้าที่หลากหลาย บรรยากาศร้านที่มีสีสันสดใส เปิดเพลงสนุกสนาน ให้ทดลองสินค้าได้สะดวกรับมือคู่แข่งแดนกิมจิ
เมื่อปี 2547 ในยุคที่เปลี่ยนชื่อร้านเป็น “คอสเมดา” และมีเครือข่ายเติบโตไปถึง 20 สาขาแล้ว คู่แข่งต่างแดนจากเกาหลีใต้เริ่มเข้ามารุกตลาดค้าเครื่องสำอาง ซึ่งเวลานั้นทุกคนต่างสั่นสะเทือน แต่ด้วยมุมมองเชิงบวกที่สุวินให้ข้อคิดว่ากิจการนี้เหมือน “หญ้าพันธุ์ตายยาก” ประหนึ่งหญ้าที่เติบโตมาท่ามกลางสภาวะที่แร้นแค้น จึงยากที่คู่แข่งจะมาทำลายให้ตายได้ง่ายๆ “แม้เกาหลีจะมาแข่งด้วยร้านที่ใหญ่กว่า สวยกว่า มีเงินทุนมากกว่า แต่ด้วยคำพูดที่ว่าเราเป็นหญ้าพันธุ์ตายยาก ทำให้ทีมรู้สึกว่าเราไปต่อได้ แล้วผมก็เชื่อเช่นนั้นจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำพูดให้กำลังใจ” ทว่า ก่อนหน้านี้สุวินเองก็ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ผู้เล่นจากเกาหลีใต้จะมาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอยู่แล้ว สุวินเล็งเห็นว่าร้านคอสเมดาไม่น่าจะเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสู้กับคู่แข่งซึ่งมีระบบการบริหารจัดการแบรนด์ที่ดี จึงเป็นที่มาของการสร้างชื่อ “บิวตี้ บุฟเฟต์” พร้อมกับออกผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทมาวางจำหน่าย กระทั่งในปี 2555 ที่เครือข่ายสาขาสยายปีกไปยังต่างจังหวัดและต่างประเทศ เช่น กัมพูชา จนทำให้ บริษัท โมนาโพลิแตนท์ฯ เวลานั้นไปเข้าตาทีมงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการเฟ้นหาบริษัทช้างเผือกไปจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน จนในที่สุดหุ้น BEAUTY เข้าสู่ตลาด SET อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2555 และสามารถระดมทุนได้ 660 ล้านบาท จุดที่ทำให้ BEAUTY ประสบความสำเร็จและมีรายได้เติบโตมาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยที่ 35% และมีกำไรเติบโตเฉลี่ย 37% นั้น สุวินยอมรับว่าต้องยกให้ 3 กลยุทธ์หลักคือ multi-brand, multi-product และ multichannel ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนัก เช่น ที่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่าต่อไป BEAUTY ต้องเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจนไม่สามารถทำรายได้พีคเท่าก่อนนี้แล้วเจาะใจสาวจีนผ่านออนไลน์
แม้ขณะนี้รายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากช่องทางร้านค้าปลีกในเมืองไทยที่มากถึง 70% ของรายได้รวม ขณะที่อีก 30% มาจากตลาดต่างประเทศและออนไลน์ แต่ด้วยนโยบายที่ต้องการขยับรายได้จากทั้งต่างประเทศและออนไลน์เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าใน 3 ปีและ 5 ปีข้างหน้า จะมีอัตราส่วนรายได้จากทั้งต่างประเทศและออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 35% และ 40% ของรายได้รวม แผนงานขยายตลาดไปยังต่างประเทศนั้น สุวินเปิดเผยว่าบริษัทเริ่มจากประเทศรอบบ้านอย่างกลุ่ม CLMV จากนั้นจะเริ่มไปเปิดตลาด AEC จนปัจจุบันเริ่มตีวงล้อมไปทั่วภูมิภาคเอเชียแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้เปิดสาขาในหลายประเทศ ได้แก่เวียดนาม 12 สาขา, ฟิลิปปินส์ 4 สาขา, ฮ่องกง 93 สาขา, อินโดนีเซีย 19 สาขา, ไต้หวัน 19 สาขา, สปป.ลาว 5 สาขา, เมียนมา 5 สาขา ขณะเดียวกันก็เริ่มมีผู้ค้ารายใหญ่ที่นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปขายยังประเทศจีน ซึ่งสุวินยอมรับว่าประเทศจีนถือว่าเป็นตลาดที่บริษัทคาดหวังมากที่สุด และสำหรับเป้าหมายในอนาคตจะเป็นกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ คือ ประเทศอินเดียและรัสเซีย สำหรับวิชาที่ได้จากการไปโตนอกบ้านนั้นทำให้สุวินต้องมีการปรับกระบวนยุทธ์ให้สอดคล้องกับแต่ละท้องถิ่น หรือ localizeเพราะผู้บริโภคแต่ละพื้นที่มีความนิยมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างกันไป ซึ่งด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของบริษัททำให้การ localize ไม่ใช่เรื่องยากนัก อีกช่องทางสำคัญ คือการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย cross-border e-commerce โดยล่าสุดได้ทำสัญญากับตัวแทนจำหน่าย 2 ราย เพื่อดำเนินการจำหน่ายผ่าน 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ TMALL, KAOLA, VIP และ YUNJI โดย cross-border e-commerce ถือเป็นโอกาสใหม่ของการค้าออนไลน์แดนมังกรที่รัฐบาลจีนมีมาตรการสนับสนุนชัดเจน https://www.youtube.com/watch?v=v_91mx3JLz4&t=168s ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่านฉบับเต็มของ "สุวิน-ธัญญาภรณ์ ไกรภูเบศ มั่งคั่งอย่าง BEAUTY สวยสะพรั่งถึงหมื่นล้านใน 5 ปี" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กรกฎาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine