ภูริต ภิรมย์ภักดี สิงห์หนุ่มผู้ทะยานสู่จุดเปลี่ยน - Forbes Thailand

ภูริต ภิรมย์ภักดี สิงห์หนุ่มผู้ทะยานสู่จุดเปลี่ยน

คนหนุ่มผู้ชื่นชอบกีฬาเอ็กซ์ตรีมทั้งแข่งรถ สโนว์บอร์ด และชกมวยอย่าง เต้-ภูริต ภิรมย์ภักดี วันนี้เขาเป็นซีอีโอบริษัทการค้าที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มบุญรอด นำองค์กรฝ่าคลื่นเศรษฐกิจด้วยยอดขายกว่า 1.2 แสนล้านบาท ยืนหนึ่งผู้นำตลาดเบียร์-น้ำดื่ม-โซดาในไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าสนใจ

อาคารพิพิธภัณฑ์บุญรอดซึ่งตั้งอยู่ภายในอาณาจักรสำนักงานของบุญรอด เลขที่ 999 ถนนสามเสน เป็นอาคารริมน้ำที่ได้รับการปรับโฉมใหม่ให้เป็นเรือนรับรองแขกผู้มาเยือน องค์กรธุรกิจเครื่องดื่มอายุ 86 ปีแห่งนี้ และเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจหลักของตระกูลภิรมย์ภักดีที่พยายามปรับตัวเพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ จากโลกการค้าที่กำลังเปลี่ยน

โดยเฉพาะหน่วยธุรกิจที่ดูแลการขายสินค้าหลักทั้งเบียร์ น้ำดื่ม โซดา และขนมขบเคี้ยว ภายใต้ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กับยอดขายกว่า 1.2 แสนล้านบาท ในปี 2562 ถือเป็นบริษัทใหญ่สุดในกลุ่มที่สร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแม้ภาวะเศรษฐกิจในปี 2562 ไม่ดีนัก หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากตลาดชะลอตัว แต่บุญรอดเทรดดิ้งยังคงเติบโตด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา

Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเพิ่งกลับมาทำงานหลังหยุดยาวช่วงปีใหม่ พร้อมสำหรับภารกิจบริหารบริษัทการค้าที่ใหญ่ที่สุดของบุญรอดให้เติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน 

  • รับชมบทสัมภาษณ์ "ภูริต ภิรมย์ภักดี" ในรูปแบบวิดีโอ คลิกที่นี่
 

ถ่ายเลือดปรับโครงสร้างองค์กร

นี่ไม่ใช่ปีแรกที่ซีอีโอหนุ่มวัย 43 ปี รับผิดชอบธุรกิจใหญ่นี้ ภูริตนั่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดของบุญรอดเทรดดิ้งมาตั้งแต่ปี 2559 และวันนี้เขาก้าวขึ้นมาเป็นนักธุรกิจแถวหน้าเต็มตัว เป็นผู้นำทัพบริษัทการค้าของบุญรอดให้เติบโตท่ามกลางโจทย์ตลาดที่เปลี่ยนไป

ปรับเปลี่ยนเยอะมาก บริษัทเราอยู่มา 86 ปี ย่อมมี generation gap ของคนที่ทำงานสมัยก่อน ไม่ใช่เขาทำงานไม่ดี ทำงานดีแต่โลกมันเปลี่ยนไป ทุกอย่างเปลี่ยน เราต้องปรับตัวเองให้ดีขึ้น gen gap มีเยอะ จะทำอย่างไรให้บริษัทแข่งขันและอยู่คู่คนไทยได้ เราก็ต้อง lean ต้องปรับหลายอย่าง ซึ่งคงไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบเราได้ แต่ถ้า 8 ใน 10 คนชอบก็พอใจแล้วภูริตเริ่มต้นการสนทนากับทีมงาน Forbes Thailand ด้วยแววตาที่มุ่งมั่น

คำกล่าวของเขาบ่งบอกถึงความภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำ ในการปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆ ของโครงสร้างภายในองค์กร ซึ่งเขาบอกว่ามันทำให้องค์กร lean ขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความสูญเปล่าตามเป้าหมายที่ต้องการให้องค์กรกระชับขึ้น คล่องตัว และแข่งขันได้ ด้วยการผสมผสานคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ให้ร่วมพัฒนาองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน

แนวคิดการจัดการเรื่องคนที่เขาพยายามปรับหลังเข้ามานั่งบริหารบุญรอดเทรดดิ้งเต็มตัว แม้จะเปลี่ยนแปลงและเพิ่มทีมงานใหม่เข้ามา แต่ยืนยันว่าไม่มีการเลย์ออฟหรือปลดพนักงาน บริษัทมีโครงการ early retirement ตามปกติ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับพนักงานที่อยู่มานาน แล้วอาจต้องการออกไปเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างองค์กร

 

ลดอายุเฉลี่ยพนักงานเหลือ 30

การปรับเปลี่ยนที่ภูริตทยอยทำมาตลอด 4 ปีในฐานะผู้บริหารสูงสุด เริ่มส่งผลในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องคนซึ่งเขาบอกว่าได้ปรับไปเยอะมาก มีการพัฒนาศักยภาพคนเก่า เพิ่มคนใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเสริมทีม และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถไม่จำกัดอยู่เฉพาะซีเนียร์เท่านั้น ทำให้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน และทำให้ค่าเฉลี่ยอายุพนักงานของบุญรอดเทรดดิ้งอยู่ที่ 30 เศษๆ วันนี้ถือว่าเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ชัดเจน

ภูริตย้ำว่า ทุกอย่างที่ทำล้วนตอบโจทย์การพัฒนาองค์กรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจเราเป็นบริษัทขายสินค้าทำงานด้านการตลาด เป็นแม่ทัพที่ออกศึกมีทั้งขายและการตลาด เราต้องมีกลยุทธ์มีการพัฒนาบุคลากร พัฒนาโปรดักส์ให้ดีขึ้นพัฒนาการขายให้ดีขึ้น การตลาดก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนทำสิ่งใหม่ๆ ที่ดีขึ้น ประยุกต์ใช้สิ่งใหม่ให้ดีขึ้น

 

ก้าวที่ท้าทายกับ “Singha Ventures”

จากแนวคิดที่ต้องการขยายเครือข่ายเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บุญรอดลุกขึ้นมาทำ Singha Ventures บริษัทร่วมลงทุน หรือ CVC (Corporate Venture Capital) โดยภูริตรับหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อร่วมลงทุนดังกล่าว ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงกลางปี 2560 โดยจดทะเบียนที่ฮ่องกง เพราะต้องการให้ภาพเป็นโกลบอล ไม่ได้จำกัดอยู่ในไทย มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 800 ล้านบาท แต่ปัจจุบันกองทุนนี้มีเม็ดเงินสำหรับลงทุนในสตาร์ทอัพต่างๆ ไว้ที่ 100 ล้านเหรียญ หรือราว 3.2 พันล้านบาท

ในช่วงแรกของการลงทุน Singha Ventures ได้เริ่มต้นลงทุนแบบ fund of funds ก่อนในช่วงปี 2560 โดยได้ลงทุนใน 2 กองทุน ได้แก่ Kejora Ventures แพลตฟอร์มระบบ technology ecosystem ที่อินโดนีเซีย มีการลงทุนในธุรกิจแล้วกว่า 29 ธุรกิจ และ Vertex Ventures จากสิงคโปร์ มีเครือข่ายของบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ในวงการเทคโนโลยีและการร่วมลงทุนอย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมมูลค่าการลงทุน 25 ล้านเหรียญ

มาถึงวันนี้ภูริตบอกว่า Singha Ventures ได้ลงทุนไปแล้ว 80 ล้านเหรียญ หรือกว่า 2.5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการไปลงทุนสตาร์ทอัพในต่างประเทศเป็นหลัก เน้นการเลือกลงทุนเพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจหลักของบุญรอด

การไปร่วมลงทุนส่วนหนึ่งที่เราคิดคือไม่อยากเห็นการดิสรัปต์ ไม่อยากเห็นอะไรมาทดแทนอะไรในอนาคต สินค้าที่จะมาแทนเบียร์ แทนน้ำดื่ม หรือที่จะมาเสริมองค์กรหลักๆ ได้ เราก็เข้าไปลงทุน เราลงทุนเยอะมาก เน้นการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมการเติบโตได้ ทำให้เราแข็งแรงเป็นทางเลือกใหม่ๆ ของการขายและการตลาดภูริตอธิบายคร่าวๆ พร้อมย้ำว่าการเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพเหล่านี้จะทำให้การตลาดบุญรอดแข็งแรงขึ้น ทำให้ต้นทุนการกระจายสินค้าถูกลง จัดส่งหรือกระจายสินค้าได้เร็วขึ้น ใช้แรงงานคนน้อยลง มีหลายข้อดีที่มาเอื้อธุรกิจหลัก

 

ครองผู้นำตลาดเบียร์-น้ำดื่ม-โซดา

การปรับตัวตามคำกล่าวของภูริต สะท้อนภาพการบริหารในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีได้อย่างน่าสนใจ มันสะท้อนว่าเขาสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ แม้การแข่งขันของตลาดจะมีค่อนข้างสูง และก่อนหน้านี้หลายปีบุญรอดก็เคยเพลี่ยงพล้ำเสียแชมป์อันดับ 1 ในตลาดเบียร์มาแล้ว แต่ก็สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาได้

และในช่วง 3-4 ปี ในยุคที่ภูริตขึ้นเป็นซีอีโอ อันดับสินค้าหลักบุญรอด ทั้งเบียร์ซึ่งมีหลายแบรนด์ เช่น สิงห์ ลีโอ ยูเบียร์ สโนวี่ คอปเปอร์ อาซาฮี คาร์ลสเบิร์ก โคโรนา เบียร์ฝรั่งเศส Kronenbourg1664 น้ำดื่มสิงห์ และโซดาสิงห์ ยังคงรักษาความเป็นอันดับ 1 ของตลาดไว้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเบียร์มีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 62% จากมูลค่าตลาดเบียร์ในประเทศรวมกว่า 1.8 แสนล้านบาท น้ำดื่มมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 22% และโซดา มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 97% เป็นผู้นำในสินค้าหลักทั้ง 3 รายการ

คู่แข่งเก่ง แต่เราก็ต้องปรับตัวเอง ปรับเรื่องการตลาดการเข้าถึงลูกค้า และที่สำคัญเราต้องมีสินค้าที่หลากหลายด้วยจึงจะเป็นการเพิ่มโอกาสภูริตย้ำและว่า การเติบโตของบุญรอดเทรดดิ้งในปีนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือจะมีการเพิ่มสินค้าเข้ามาจำหน่ายมากขึ้นในไลน์ที่รับผิดชอบทั้ง 4 ส่วนคือ เบียร์ น้ำดื่ม โซดา และขนมขบเคี้ยว การมีสินค้าใหม่เข้ามาเสริม จะเป็นตัวที่ช่วยเพิ่มยอดขาย

ภูริตบอกว่า อีก 3-5 ปีข้างหน้า เขาเชื่อว่าการขายดีขึ้น การตลาดดีขึ้น บริษัทก็ต้องหาสินค้าเพิ่ม อาจซื้อเพิ่มเข้ามา เชื่อว่าจะซื้อเพิ่มแน่นอนหลังจากทำตัวเองให้ lean แล้ว บริษัทแข็งแรงก็จะออกไปอยู่ข้างนอก วันนี้ lean ได้ตามเป้าหมาย ตอนนี้จึงออกไปลุยตลาด

ถ้าเราไม่แข็งแรงคนก็ไม่อยากคุยกับเรา เมื่อเราแข็งแรงคนก็อยากคุยกับเรา นี่คือเหตุผลที่เราต้องพัฒนาตัวเอง ปรับวิธีคิดให้ทันโลก เมื่อพร้อมแล้วเราออกไปข้างนอกนี่เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกว่าในปี 3-5 ปีข้างหน้า กลุ่มบุญรอดจะยังคงเดินหน้าซื้อสินค้าเพื่อขยายพอร์ตอย่างต่อเนื่อง รองรับความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

เป้าหมายการนำพากลุ่มบุญรอดให้เติบโตยาวนานเป็นองค์กร 100 ปี กับยอดขายที่ตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 3-5 ปีจะเพิ่มยอดขายจาก 1.2 แสนล้านบาทขึ้นมาอีกเท่าตัว เป็นไม่น้อยกว่า 2.5 แสนล้านบาท จะทำได้ดังที่ตั้งใจหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรมคือการปรับองค์กรที่มีอายุยาวนานกว่า 86 ปี ให้มีความกระชับ ฉับไว เท่าทันตลาดที่เปลี่ยนไป ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่สิงห์หนุ่มเจเนอเรชั่น 4 ของภิรมย์ภักดี ทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว

 

FORBES FACTS

  • ภูริตศึกษาการปรุงและการผลิตเบียร์ Master of Brewing ที่ Doemens Institute of Technology ซึ่งเป็นสถาบันสอนด้านการปรุงเบียร์ที่เก่าแก่ของเยอรมนี
  • ภูริตเป็นนักปรุงเบียร์ (brewmaster) คนที่ 3 ของตระกูลภิรมย์ภักดี ต่อจากคุณปู่ ประจวบ ภิรมย์ภักดี (นักปรุงเบียร์ไทยคนแรก) และปิยะ ภิรมย์ภักดี (ลุง)
  • ภูริตเป็นผู้สร้างความสำเร็จผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ เช่น สาหร่ายมาชิตะ น้ำแร่เพอร์ร่า และเป็น key man ในการสร้างพันธมิตรธุรกิจ เช่น บริษัท มารุเซ็น ที จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) ผลิตชาเขียวญี่ปุ่น ส่งออกไปทั่วโลก, บริษัท ซังโกะ เซกะ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมอบกรอบอันดับ 1 ของญี่ปุ่น และบริษัท เค เจ ซี อินเตอร์ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตสาหร่ายรายใหญ่จากประเทศเกาหลี
  เรื่องราวน่าสนใจเพิ่มเติม   ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี
คลิกอ่านฉบับเต็ม ภูริต ภิรมย์ภักดี สิงห์หนุ่มผู้ทะยานสู่จุดเปลี่ยน ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกุมภาพันธ์ 2563 ในรูปแบบ e-Magazine