จากธุรกิจเครื่องยนต์เพื่อการเกษตรในยุคเริ่มแรกของครอบครัวสุขะมงคลขยายมาเป็นเครื่องยนต์เรือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องจักรกลเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการผลิตประกอบ และบริการหลังการขาย ทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่ม Patco Power ที่มี ทองหล่อ สุขะมงคล ดูแลการบริหารงาน
เมื่อ “สุทิน สุขะมงคล” หนึ่งในเสาหลักของครอบครัวถึงแก่กรรมในปี 2537 “ทองหล่อ” บุตรชายคนที่ 2 ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจสาขาการตลาดที่ Golden Gate University ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องกลับมาช่วยมารดาและพี่น้องดูแลกิจการของ บริษัท พัฒนายนต์ชลบุรี จำกัด (Patco Group) โดยขณะนั้น ดร. สืบวงษ์ พี่ชายคนโต และ ดร. นวณัฐ น้องสาวคนที่ 3 ดูแลงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ช่วงนั้นเริ่มมีการพัฒนาที่ดิน ทำบ้านจัดสรรขายโซนจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของครอบครัว ทองหล่อ สุขะมงคล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท พัฒนายนต์ชลบุรี จำกัด ทายาทคนที่ 2 ของสุทินและวิจิตรา เล่าถึงการแบ่งงานในกลุ่มพี่น้องเพื่อช่วยผ่อนแรงมารดาว่า “พี่ชายคนโตเรียนจบมหาวิทยาลัยหอการค้าดูแลด้านการเงิน น้องสาวดูบัญชีเราก็โอเคดูกลุ่ม Patco ทั้งหมดที่คุณแม่สร้างขึ้นมา รวมทั้งโรงกลึง โรงเจียรคว้าน” ปัจจุบันกลุ่มบริษัท พัฒนายนต์ชลบุรี หรือ Patco Group แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย Patco Property, Patco Agro และ Patco Power โดยทองหล่อดูและบริหารในส่วนหลังสุด ซึ่งมี 9 บริษัท ประกอบด้วย บจ. เจริญมารีน, บจ. ซี.เอส.เอส.ซี (ประเทศไทย), บจ. สยามเครื่องกลเอ็นจิเนียริ่ง, บจ. อินเตอร์มารีนลู้บ, บจ. ทำเนียบสหการช่าง, บจ. ชลบุรีสหพัฒนาการช่าง, บจ. แปดริ้วสหการช่าง, บจ. ชลบุรีพัฒนายนต์ (1997) และ บจ. พัฒนายนต์ชลบุรี ซึ่งเป็นธุรกิจเริ่มแรกของมารดาและทองหล่อให้เวลาส่วนใหญ่กับบริษัทนี้ ปัจจุบันมีพนักงานรวม 120 คน Patco Power ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ค้าปลีก-ค้าส่ง จัดจำหน่าย สินค้าเครื่องยนต์-เกียร์เรือ เครื่องจักรกลเพื่อการเกษตรและการประมง สินค้าแบรนด์ชั้นนำ จากเยอรมัน อังกฤษ ญี่ปุ่น อเมริกา อิตาลี จีน ฝรั่งเศส อาทิ ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, วอลโว่, FPT, Cummins ฯลฯ น้ำมันเครื่องสำหรับเรือประมง ผลิตและประกอบเครื่องตัดหญ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำเร็จรูป การผลิตและประกอบตามสั่ง รวมทั้งบริการหลังการขาย ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001:2015 และ ISO 14001:2015 สินค้าหลักช่วงแรกประกอบด้วย เครื่องยนต์เล็ก เครื่องตัดหญ้า ไดนาโมสำหรับอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องสูบน้ำ หลังจากย้ายมาตั้งสำนักงานบนถนนบางนา-ตราด จึงเริ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์เรือ เครื่องยนต์ประมง และเน้นงานบริการมากขึ้น โดยจุดเด่นของกลุ่มบริษัทคือ เป็น business solution ด้านเครื่องยนต์และจักรกลรายใหญ่สุดของประเทศ แม้จะมีหลายบริษัท แต่โดยภาพรวม Patco Power มีธุรกิจ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย เครื่องยนต์การเกษตร เครื่องยนต์อุตสาหกรรมเรือ งานอะไหล่และบริการหลังการขาย เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเครื่องยนต์อุตสาหกรรม โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสุดท้ายซึ่งคิดเป็น 40% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งปี 2562 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 600 ล้านบาท- OEM ไทยผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า -
จากเดิมที่นำเข้าสินค้าและเครื่องยนต์ในลักษณะซื้อมาขายไปประมาณปี 2545 จึงเริ่มผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมใช้งานสำหรับอุตสาหกรรม (industrial generator set) ขนาด 10-2,000 กิโลวัตต์ ติดแบรนด์ Patco และได้รับการตอบรับค่อนข้างดีลูกค้ามีทั้งบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจโรงพยาบาล หน่วยงานการไฟฟ้า ซึ่งทองหล่อบอกว่า บริษัทเป็น OEM แบรนด์ไทยใหญ่ที่สุด โดยซื้อเครื่องยนต์มาผลิต ประกอบและขาย ขณะที่ผู้จำหน่ายรายอื่นๆ เป็นดีลเลอร์ นำเข้าแบรนด์จากต่างประเทศ “สหการช่างเป็นงานซ่อม สร้าง และเซอร์วิส ช่างของเรามีความชำนาญมากมีทีมช่าง 50-60 คน สามารถซ่อมเครื่องยนต์ได้เกือบทุกยี่ห้อ ลึกๆ เรา aim เซอร์วิสเป็นหนึ่ง และมี margin มากกว่าตัวอื่นขณะเดียวกันช่วยในการขายอะไหล่ด้วย...ด้านประมง ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ เป็นการจำหน่ายสินค้าเครื่องจักรกลและเกียร์เรือ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเรือ ซึ่งมีทั้งงานซ่อมและบริการ ผมมั่นใจว่าพัฒนายนต์เป็นที่ 1 ในประเทศที่ดูแลลูกค้าและบริการที่ดีที่สุด” ความที่มีสินค้าเครื่องยนต์ทุกประเภททำให้กลุ่มบริษัทไม่มีความเสี่ยงมากนักเนื่องจากการเติบโตของยอดสินค้าแต่ละชนิดจะสลับกันไปตามโอกาส “หากภาคเกษตรรายได้ดีเครื่องตัดหญ้าและอะไหล่จะขายดี ฤดูแล้งขาดแคลนน้ำปั๊มน้ำก็ขายดี ช่วงไหนท่องเที่ยวหรือกิจการประมงดีเราก็ขายเครื่องเรือ อุปกรณ์ในเรือ เกียร์เรือ เมื่อสินค้าตัวไหนตกจะมีตัวอื่นขยับขึ้นทดแทนกัน” ย้อนกลับไปเมื่อ 26 ปีก่อน แม้จะรู้ตัวว่าต้องมาสืบทอดกิจการของครอบครัว แต่ความที่เพิ่งเรียนจบหมาดๆ และมาเป็นผู้บริหารทันทีจึงนับเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย แต่เจ้าตัวบอกว่ายังดีที่มีพี่ชายและมารดาเป็นตัวอย่าง รวมทั้งมี น.พ. ศิริชัย เมธาวิชิต ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องมาช่วยดูแลงานบริหาร “ผมงงอยู่ปีสองปี ไม่มีใครเทรน แต่ความที่เราเป็นเจ้าของต้องทำให้ได้ เราต้องเป็น successor ที่ดีให้ได้ นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องพิสูจน์ตนเองเมื่อเจอวิกฤตหรือปัญหา และคน challenge คำหนึ่งที่จำได้เป็นอย่างดีคือมีคนบอกว่า ระวังนะนกเป็นฝูงอยู่ในกรงดีๆ อย่าเอามือเข้าไป แม้คุณเป็นเจ้าของ เขาอาจไม่รู้อาจจิกเอา ตอนแรกฟังก็งง เหมือนขู่เรา มาถึงตอนนี้ผมชอบมาก บางครั้งเอาไปสอนลูกน้องว่า การทำงานต้องมีจิตวิทยา พิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถเป็นผู้นำเขาได้จริงๆ”- วิกฤตสร้างโอกาสการเรียนรู้ -
หลังเข้ามาทำงานได้ 3 ปี ผู้บริหารหนุ่มถูกทดสอบโจทย์ใหญ่จากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 การลดค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อบริษัท แต่ภายใน 3-5 ปีธุรกิจก็ฟื้นกลับมา ความที่เรียนจบด้านการตลาดจึงให้ความสำคัญกับการขาย แต่พอเกิดวิกฤตต้องมาดูทั้งองค์กร “ผมเข้าใจ risk management มากขึ้น ลูกค้ามีปัญหาจะวางนโยบายเรื่องการเร่งรัดหนี้สินอย่างไร กลายเป็นว่าต้องเรียนรู้หลายอย่างเพิ่มขึ้นจากการที่เจอวิกฤต” ด้วยวิธีคิดที่ว่า ปัญหาเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เขาจึงมองทุกวิกฤตให้เป็นโอกาส และสำรวจองค์กรรอบด้านเพื่อหาทางลดค่าใช้จ่ายกลายเป็นว่าปีที่เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจแม้ยอดขายจะลดลงแต่กำไรกลับเพิ่มขึ้น “ผมวางเป้าโต 10% ทุกปีก็โต 10% ถ้าอยู่ในช่วงวิกฤตที่ไม่สามารถโตได้ต้องมี margin ดีกว่าเดิม ผมเรียกทฤษฎีทำธุรกิจถ่างขา ถ้ายอดขายดีขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง margin จะดีด้วย เราไม่ได้มองว่าจะขายๆๆ สู้ๆ อย่างเดียว สินค้าบางอย่างมีกำไรได้ควรจะมีกำไรบ้าง บางอย่างมีพรีเมียมที่ต้องจ่าย” ทองหล่อย้ำว่า บริษัททำดีกว่าเจ้าอื่นจริงก็ต้องสื่อสารให้ลูกค้ารู้ ในเมื่อพัฒนายนต์ทำ OEM ดีกว่าต่างประเทศแล้วทำไมจะขายของต่างประเทศอย่างเครื่องตัดหญ้าที่นำเข้าตัวเครื่องการันตี 1 ปี แต่ชิ้นส่วนประกอบที่เราทำเองนั้นการันตี 3 ปี หรือ 5 ปี “ช่วงโควิดเป็นโอกาสที่มาดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรแฝงอยู่ อะไร inefficient เวลาเศรษฐกิจดีๆ อาจไม่ได้มอง พอเกิดวิกฤตก็บอกทุกคนว่าต้องรัดเข็มขัด และสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 35% ซึ่งไม่รู้ว่าทำได้อย่างไร แต่พูดกับทุกคนว่า หาวิธีทำให้ค่าใช้จ่ายโอทีลดลง ค่าน้ำมัน ค่าอินเทอร์เน็ตลดลง” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท พัฒนายนต์ชลบุรี เรียกวิธีการแบบนี้ว่า “ทฤษฎีธุรกิจถ่างขา” เขาตอบพร้อมหัวเราะน้อยๆ ว่า เป็นคำที่คิดตั้งขึ้นมาเองและอธิบายว่า การทำธุรกิจมีต้นทุน ยอดขาย และมี expense ถึงจะเหลือ net profit และโดยทั่วไปมักคุยกันว่ายอดขายต้องเพิ่มขึ้น แต่เวลาเกิดวิกฤตธุรกิจที่ดำเนินกิจการมา 10-20 ปีแล้วจะขยับยอดขายลำบาก การจะทำให้รายได้เพิ่มจากพันล้านเป็นหมื่นล้านเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แนวทางที่ทำได้คือเทคโอเวอร์ธุรกิจอื่น พอเทคโอเวอร์ยอดขายก็มา แต่ตัวธุรกิจตัวเดิมไม่ได้เติบโตขึ้น ดังนั้น การจะทำให้ยอดขายเพิ่มต้องหาธุรกิจใหม่มาเสริมตลอด แทนที่จะใช้วิธีข้างต้น นายใหญ่ของ Patco Power กลับหาทางลดรายจ่ายทุกๆ ด้าน เมื่อค่าใช้จ่ายลดลงก็ทำให้กำไรเพิ่มสูงขึ้น “สิ่งที่ผมดูคือ ถ้าต้องการ profit มากขึ้นต้องลดต้นทุน หรือปกติขายได้ 10,000 หากขายได้ 11,000 บาท จะกำไรเพิ่ม 10% net profit อันนี้ฝั่งขาย ถ้าเราเพิ่มยอดขายได้ด้วย หรือคุยกับซัพพลายเออร์ขอส่วนลดได้ 10% กลายเป็นว่าช่วงโควิดยอดขายตก 10% แต่เรา margin เพิ่ม 10% ขอส่วนลดซัพพลายเออร์ 10% ลดค่าใช้จ่าย 10% ในที่สุดได้ net profit มากขึ้น เท่ากับกำไรมากขึ้น 20% ทั้งที่ยอดขายตก 10% สิ่งที่เราคิดคือ ทุกตัวมีผลต่อกำไร เราต้องปรับเปลี่ยนเท่าที่ทำได้ “ขอซัพพลายเออร์ลดราคาสินค้า ถ้าลดไม่ได้ก็ขอยืดเวลาการจ่ายเงินอีก 30 วัน เพราะลูกค้าไม่จ่ายเงินเหมือนกัน บางรายบอกลดไม่ได้ แต่ offer ว่าถ้าจ่ายเงินสดลดให้อีก 3% เราคำนวณแล้วคุ้มไหม 3% ต่อ 2 เดือน พอคำนวณเท่ากับ 10% ต่อปี ถ้าเรามีวงเงินกู้ดอกเบี้ย 6% แต่เราได้ 10% กลายเป็นว่า ทุกอย่างทำให้ efficient สูงในทุกเรื่อง อย่างเราได้งานโปรเจ็กต์มาและต้องซื้อสายไฟฟ้า ปกติซื้อครั้งละ 500 เมตรไม่เคยขอส่วนลด คราวนี้ซื้อ 3 กิโลเมตรขอราคาพิเศษได้ไหม” สำหรับรายได้ของกลุ่มในปีนี้ ทองหล่อตั้งเป้าไว้ที่ 600 ล้านบาท และคาดว่าอีก 3-5 ปีรายได้รวมในกลุ่ม Power จะเป็น 900 ล้านบาท “รายได้ปีนี้เท่ากับปี 2562 ก็เก่งแล้ว สิ่งที่ตั้งเป้ามากกว่าเดิมคือ การวางแผน เช่น ต้องการ 100 ล้าน ต้องวางแผนไว้ 120 ล้านบาท 20 ปีที่แล้วไม่เข้าใจว่าทำไมคุณแม่ต้องมาบีบยอดขาย ก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่คุณแม่บอกว่า หากวางแผนไว้ 100 ล้านแล้ว จะทำได้ 100 ล้านหรือเปล่า เป็นไปไม่ได้คือต้องวางแผนให้ตัวเลขสูงกว่านั้น คุณอาจจะ achieve ถ้าตกเป้าก็ยังได้ตามแผน” รองประธานกรรมการบริหารกล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: วิจิตรา สุขะมงคล สร้างอาณาจักร “แพทโก้” บนพื้นฐานความซื่อสัตย์คลิกอ่านฉบับเต็ม "ทองหล่อ สุขะมงคล นำทัพ Patco Power สร้าง Business Solution เครื่องยนต์เกษตร-อุตสาหกรรม" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine