ธรรมนูญร้อยปี "กลุ่มสิทธิผล" ถอดความสำเร็จ "โฮลดิ้ง" หมื่นล้าน (ตอน 2) - Forbes Thailand

ธรรมนูญร้อยปี "กลุ่มสิทธิผล" ถอดความสำเร็จ "โฮลดิ้ง" หมื่นล้าน (ตอน 2)

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Jun 2019 | 09:00 AM
READ 6342

กว่าครึ่งของรายได้รวมกลุ่มสิทธิผลอยู่ในธุรกิจแสงสว่างอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติก ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2523 และเป็นธุรกิจแรกของครอบครัวที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2534 ภายใต้การนำของ อภิชาต ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยนสแตนเลย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

“ผมจบมาผมก็เริ่มที่นี่เลย ตอนนั้นเป็นบริษัทเล็กที่สุดในครอบครัว ตอนแรกจะส่งผมไป (ฝึกงานก่อน) 2 ปี ผมต่อรองเหลือปีนึง พ่อบอกไม่ได้ อย่างน้อยต้องไปเข้าใจหัวใจคนญี่ปุ่น เพราะเราทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่น” อภิชาต หนึ่งในสี่พี่น้องตระกูล "โฮลดิ้ง" หมื่นล้าน อย่างลี้อิสสระนุกูล เล่าถึงการฝึกงานที่ Stanley Electric ประเทศญี่ปุ่น หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาโท และได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบไทยสแตนเลย์ทันทีในวัยเพียง 20 ต้นๆ

โดยปัจจุบันกลุ่มสแตนเลย์ในไทยที่อยู่ภายใต้การบริหารร่วมระหว่างกลุ่มสิทธิผลของครอบครัวลี้อิสสระนุกูล กับ Stanley Electric ประเทศญี่ปุ่น มาเกือบ 40 ปี มีเงินสดฝากไว้ในธนาคารกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อสะสมทุนรอจังหวะลงทุนโดยไม่ใช้เงินกู้

“ตอนนี้ผมต้องบอกว่ามันเป็นช่วงจังหวะทองของเราแล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และก็เป็นเทคโนโลยีที่มันเข้าทางเรา” อภิชาต บอก Forbes Thailand

ผลิตภัณฑ์ของไทยสแตนเลย์ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจแสงสว่างอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติก เน้นการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านดีไซน์ ฟังก์ชั่น และเทคโนโลยีตอบโจทย์การใช้งาน

จากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีหลอดไฟไปสู่ยุคแอลอีดี (LEDs: light emitting diodes) ทำให้อภิชาตเชื่อมั่นว่าสแตนเลย์กำลังเข้าสู่ ยุคทอง ของการเติบโต เนื่องจากเทคโนโลยีแอลอีดี ทำให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้โคมไฟสำหรับยานยนต์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทได้มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ประจักษ์พยานสำคัญคือผลการดำเนินงานของ บมจ.ไทยสแตนเลย์ ที่อภิชาตชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของยอดขายที่ทำจุดสูงสุดใหม่ไปตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 (ม.ค.60 - มี.ค. 61) ที่ 1.32 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกของปีงบฯ 2562 (1 เม.ย. 61 - 31 ธ.ค. 61) มียอดรายรับรวม 11,299.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 1,436.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.14%

อภิชาตกล่าวว่า ในยุคแอลอีดี ไทยสแตนเลย์ไม่ผลิตหลอดเอง แต่ให้บริษัท เอเชียนสแตนเลย์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ผลิตหลอดและ printed wiring board ให้ โดยอภิชาตเป็นผู้ริเริ่มให้เอเชียนสแตนเลย์ซึ่งรายงานยอดขายรวม 1.21 หมื่นล้านบาท บุกตลาดโคมไฟถนน (street lamp) เป็นครั้งแรก โดยคว้าสัญญาติดตั้งโคมไฟบนทางด่วนช่วงปทุมธานี-บางปะอิน เป็นผลสำเร็จ

ผมเชื่อว่าจากนี้ไปเราจะขยายสู่ตลาดโลกแล้ว เราอาจจะเริ่มที่เมืองไทย เมืองไทยขณะนี้เราอาจจะถือว่าซัคเซสและเป็นที่ยอมรับแล้ว คือในส่วนตัวผมมีปรัชญาอยู่ก็คือ nothing is impossible เราทำสิ่งใหม่ๆ ให้มันเกิดขึ้นได้”

ไทยสแตนเลย์ พร้อมขยายโครงการ Lamp 8 ในปี 2563

ขณะที่เอเชียนสแตนเลย์เริ่มมองตลาดโลก อภิชาตกล่าวว่า ไทยสแตนเลย์มุ่งเป้าจะเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน โดยปัจจุบันไทยสแตนเลย์ถือหุ้นในบริษัทในเครือข่ายของ Stanley Electric ที่ลาวจำนวน 50% เวียดนาม 20% อินโดนีเซีย 10% และถือหุ้นบริษัท ลูแม็กซ์ อินดัสทรี (Lumax  Industries Limited) ที่อินเดีย สัดส่วน 1.73% นอกจากนี้ บริษัทยังร่วมถือหุ้นกับ Lao Stanly ในกิจการร่วมทุนที่กัมพูชา รวมทั้งล่าสุดคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการเข้าไปถือหุ้นบริษัทในเครือของ Stanley Electric ที่ปากีสถานอีกด้วย

 

แปซิฟิคฯ เล็งโอกาสเติบโต จากวาล์วสู่ธุรกิจ stamping

ส่วนหนึ่งความมั่นคงแข็งแกร่งของกลุ่มสิทธิผลอยู่ที่การบริหารจัดการด้านการเงินได้อย่างดี โดยมี พรทิพย์ เศรษฐีวรรณ ทายาทคนสุดท้องของครอบครัว ดูแลคลังสมบัติของอาณาจักร และรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิค อินดัสตรีย์ส (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท แปซิฟิค ออโต้พาร์ทส (ไทยแลนด์) จำกัด

“สมัยก่อนคณะบัญชีจะเป็นบัญชีบริหาร เราเลือกเรียนด้านนี้เพราะเตรียมมาช่วยธุรกิจ ซึ่งตั้งแต่แรกคุณพ่ออยากให้ช่วยดูด้านการเงิน เป็นนโยบายของท่าน รวมถึงฝึกงานที่ญี่ปุ่น ทำให้เราสามารถสื่อสารและเข้าใจวัฒนธรรมของญี่ปุ่น”

ปัจจุบันบริษัท แปซิฟิค อินดัสตรีย์ส (ไทยแลนด์) จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายวาล์วสำหรับยานยนต์ รวมถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ฝาครอบล้อรถยนต์ (wheel cap) และแม่พิมพ์ (molding) รายใหญ่ของประเทศไทย ทั้งยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดวาล์วทั่วโลกได้มากขึ้นเป็น 60% หลังจากกลุ่มแปซิฟิค อินดัสเตรียล ประเทศญี่ปุ่นซื้อกิจการโรงงาน Schneider ของฝรั่งเศส พร้อมต่อยอดทางธุรกิจสู่กลุ่มประเทศแถบยุโรปในอนาคต

การต่อยอดของกลุ่มแปซิฟิคฯ จากวาล์วไปยังธุรกิจผลิตปั๊มขึ้นรูปแม่พิมพ์สำหรับยานยนต์ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง Ultra-High Tensile Strength Steel (UHTSS)

นอกจากนี้ กลุ่มแปซิฟิคฯ ของญี่ปุ่นยังเล็งเห็นโอกาสการเป็นศูนย์กลางด้านยานยนต์ของไทย ด้วยการจับมือร่วมกันก่อตั้ง บริษัท แปซิฟิค ออโต้พาร์ท (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อรองรับการผลิตปั๊มขึ้นรูปแม่พิมพ์สำหรับยานยนต์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในปีที่ผ่านมา โดยพรทิพย์มั่นใจเป้าหมายยอดขายในปีแรก 200 ล้านบาท และทะยานสู่ 1 พันล้านบาทได้ในช่วง 3 ปี

ส่วนเป้าหมายรายได้บริษัท แปซิฟิค อินดัสตรีย์ส (ไทยแลนด์) จำกัด อยู่ที่การเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากยอดขาย 991 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 87 ล้านบาท จากกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

“โฮลดิ้ง” กุญแจข้ามศตวรรษ รอยทางความมั่งคั่งอันมั่นคง

เบื้องหลังความยั่งยืนของกลุ่มสิทธิผลที่เตรียมฉลองครบรอบ 100 ปีในปลายปีนี้ เกิดขึ้นจากการวางโครงสร้างและจัดสรรความรับผิดชอบของวิทยา (ถึงแก่กรรมเมื่อ 31 ม.ค. 2549) ซึ่งแบ่งให้ลูกแต่ละคนมีอาณาเขตธุรกิจที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง ในขณะที่มีการถือหุ้นไขว้กัน โดยจัดตั้งบริษัทโสภากนกอินเตอร์เนชั่นแนลเป็นเสมือน “ซูเปอร์ โฮลดิ้ง” ที่เป็นตัวแทนการถือหุ้นของวิทยา ภรรยา และบุตรธิดาทั้งสี่ในสายตรง เพิ่มเติมจาก สิทธิผล 1919 ซึ่งเป็นคล้ายๆ กับกงสีของตระกูลที่มีน้องสาว 2 คนและหลานๆ ของวิทยาถือหุ้นด้วย

“อาจต่างจากครอบครัวอื่นคือพี่น้องเราทุกคนรักกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน... ผมว่าอย่างหนึ่งคือคุณพ่อแฟร์ อย่างที่สองคือท่านพยายามแยกธุรกิจให้แต่ละคนเป็นใหญ่ในที่ของตัวเอง และแต่ละคนก็มีหุ้นไขว้กันอยู่ ดังนั้นเรามีหน้าที่ต้องช่วยกัน” อภิชาตกล่าวถึงบิดาและการทำงานร่วมกันกับครอบครัว

4 พี่น้องตระกูลลี้อิสสระนุกูล

นอกเหนือจากการบริหารธุรกิจสร้างการเติบโตร่วมกันได้สำเร็จ ระบบโฮลดิ้งของวิทยายังช่วยให้พันธมิตรญี่ปุ่นเชื่อมั่น และวางใจเป็นคู่ค้าที่สามารถดำเนินธุรกิจร่วมกันได้ในระยะยาว

ทนงกล่าวถึงความเชื่อใจของคู่ค้าญี่ปุ่นว่า “ส่วนหนึ่งเพราะเราทำงานเต็มที่และไม่เอาเปรียบ เราพึ่งพากันเหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า และซูเปอร์โฮลดิ้งที่เหมือนธรรมนูญครอบครัว คู่ค้าจึงมองว่าเรา sustain

ขณะเดียวกัน สี่พี่น้องกลุ่มสิทธิผลยังคงระลึกถึงหลักคำสอนที่ได้รับปลูกฝังจากรุ่นบุกเบิก ซึ่งเน้นย้ำเรื่องความซื่อสัตย์ คุณธรรม และความจริงใจ โดยเฉพาะการเสียภาษี และแทนคุณแผ่นดินไทย

“เราไม่โกงภาษี เหมือนธรรมนูญของครอบครัว จากเสื่อผืนหมอนใบรุ่นคุณปู่... จากที่ไม่มีอะไร แต่แผ่นดินสยามให้ รายได้ก้อนแรกของคุณปู่เสียภาษีสูงสุดในประเทศ ท่านปลูกฝังว่าเราได้มาจากที่นี่ ต้องคืนและรู้คุณประเทศ ซึ่งเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มของเราเติบโต” พิมพ์ใจกล่าว

  อ่านเพิ่มเติม: ธุรกิจในมือทายาทรุ่น 3   เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ และพิชญ ช้างศร ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี

[ติดตามอ่านเรื่องราวของกลุ่มสิทธิผลตอน 1 ได้ที่ ธรรมนูญร้อยปี “กลุ่มสิทธิผล” ถอดความสำเร็จโฮลดิ้งหมื่นล้าน (ตอน 1) กดติดตาม Facebook @ForbesThailandMagazine เพื่อไม่พลาดบทความดีๆ ของเรา]


คลิกเพื่ออ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine