กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ปั้น EKO หวังลุย Nasdaq ใน 5 ปี - Forbes Thailand

กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ปั้น EKO หวังลุย Nasdaq ใน 5 ปี

กรวัฒน์ เจียรวนนท์ เลือกเดินตามฝันตัวเองสร้าง บริษัท เอโค่ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (EKO) สตาร์ทอัพพัฒนาซอฟต์แวร์การสื่อสารขององค์กร

ลูกไม้ใกล้ต้นวัย 24 ปี ของ ศุภชัย เจียรวนนท์ นายใหญ่แห่งอาณาจักรซีพี กรุ๊ปและหลานปู่ ธนินท์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ที่วันนี้ EKO ได้รับการระดมทุนด้วยเม็ดเงินที่แตะ 1 พันล้านบาทไปแล้ว พร้อมมุ่งสู่เส้นทางที่ท้าทายอีกครั้งในตลาด Nasdaq อีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท เอโค่ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (EKO) ที่กำลังผงาดสู่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจระดับเวิลด์คลาส (แอพพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสารภายในองค์กรผ่านสมาร์ทโฟน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ ถึงธุรกิจที่กำลังเป็นที่จับตาในระดับโลก โดยเฉพาะการต่อสู้ในตลาดซอฟต์แวร์ที่มียักษ์ใหญ่ครองตลาดอยู่ทั้ง Microsoft, Facebook รวมถึงการระดมทุนครั้งใหญ่ด้วยเม็ดเงินที่สูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ปัจจุบัน EKO ได้รับการระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 700 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับทุนเดิมที่มี 350 ล้านบาท ทำให้ EKO เข้าสู่เส้นทางของสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าแตะ 1 พันล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย “เรายังไม่ถึงยูนิคอร์นครับ เพราะจำนวนเงินที่ระดมทุนได้ยังไม่มากพอ จะเป็นยูนิคอร์นได้ต้องระดมทุนได้มากถึง 1 พันล้านดอลลาร์แต่สักวันหนึ่ง EKO จะไปถึงจุดนั้นให้ได้” ปีนี้เป็นปีที่ EKO ขยายธุรกิจมากมายโปรดักส์มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอย่างต่อเนื่อง มีบริษัทที่ใช้งานแอพฯ EKO ทั่วทั้งยุโรป อเมริกา ถือเป็นหนึ่งในครั้งแรกที่มีบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีจากเมืองไทยไปตีตลาดในยุโรปและอเมริกา ซึ่งบริษัทใหญ่ให้การยอมรับ “เรายังคงเป็น Mobile Enterprise Platform ซึ่งในไทยมีลูกค้าที่ใช้ราว 25% ของมาร์เก็ตแคปในตลาดหุ้น ลูกค้าหลักๆ คือองค์กรขนาดใหญ่ แต่ขณะนี้เริ่มโฟกัสบริษัทขนาดกลางเพิ่มมากขึ้น ลูกค้าในไทย เช่น เครือซีพีทรู ธนชาติ รวมไปถึงในเอเชียเอง อย่างใน มาเลเซียมีลูกค้ารายใหญ่ เทเลคอม มาเลเซียและบริษัทใหญ่อีกหลายบริษัทในอินโดนีเซีย” กรวัฒน์บอกว่าปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าในไทยของ EKO มีราวๆ 500,000 subscribers โดยตลาดต่างประเทศจะมีสัดส่วนมากว่า เพราะตลาดซอฟต์แวร์ใหญ่กว่าไทยมาก

ความเป็น “เจียรวนนท์”

เมื่อถามถึงความเป็น “เจียรวนนท์” ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดมีผลอะไรกับธุรกิจที่เขาสร้างขึ้นมาหรือไม่ กรวัฒน์ออกตัวทันทีว่าธุรกิจเขากับธุรกิจพ่อไม่เกี่ยวกัน และเป็นนโยบายของครอบครัวที่ต้องการให้ลูกหลานได้ทำธุรกิจของตัวเอง “ครอบครัวต้องการให้ spirit of entrepreneurship เดินหน้าต่อไปในทุกเจเนอเรชั่นซึ่งพ่อบอกผมตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ตอนตั้งบริษัทนี้ผมอายุ 16 ปี และตั้งแต่ทำมาก็เห็นหลายอย่างที่ยาก เราต้องจัดการตั้งแต่ pay roll ในอเมริกา กฎหมาย มาร์เก็ตติ้ง ธุรกิจเทคโนโลยี เราได้เรียนรู้ เราได้ประสบการณ์ทั้งหมดเลย แต่มีหลายช่วงที่ยากจริงๆ” ในบางช่วงที่ผ่านไปได้ยากลำบาก กรวัฒน์ เดินเข้าไปขอคำแนะนำาจากศุภชัย รวมทั้งคุณแม่เองก็พยายามปลูกฝังความคิดหลายอย่าง การให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษการคิดแบบอินเตอร์ เป็นอีกคำแนะนำาที่ทำให้วันนี้กรวัฒน์เลือกสร้างบริษัทด้วยสองมือเขาเองด้วยเป้าหมายตีตลาดโลก

หลักคิดบริหาร “คน” และเป้าบริษัท

หนึ่งในวิธีคิดที่น่าสนใจของกรวัฒน์ในการบริหารธุรกิจตัวเอง คือการให้ความสำคัญเรื่องคน เขาบอกว่าถ้าจะสร้างธุรกิจระดับโลกก็ต้องหาคนที่คิดในระดับโลกและเก่งมาก สำหรับเป้าหมายของบริษัท กรวัฒน์ให้คำตอบว่าไม่ได้ตั้งเป้าว่าบริษัทต้องใหญ่แค่ไหน แต่จะมองเรื่องความอยู่รอดเป็นสำคัญเพราะในโลกของซอฟต์แวร์ คู่แข่งแต่ละรายใหญ่มาก ดังนั้นถ้าคุณไม่ยิ่งใหญ่พอ คุณก็จะตาย “ถ้าเราจะรอดได้ เราต้องมีสเกล มีคนมี resources ที่สู้กับ global giants ได้ผมอยากให้บริษัทของผมอยู่รอดได้ ถ้าเราไม่เป็นบริษัทระดับโลก ถ้าเราไม่มีสเกลใหญ่จริงๆ เราจะถูกขยี้ โดยบริษัทอย่าง Microsoft ซึ่งเป็นบริษัท 8 แสนล้าน และ Alibaba ที่เป็นบริษัท 5 แสนล้านเหรียญ” ซีอีโอวัย 24 ปีผู้นี้เชื่อว่า สิ่งที่ทำให้บริษัทอยู่รอดได้ ทีมงานต้องเก่ง วิธีคิดก็ต้องเติบโตไปด้วย ต้องโตให้ได้ในแบบ hyper growth, hyper scale ซึ่งต้องอาศัยทีมที่เก่งถึงวันนี้ภาพรวมของโปรดักส์ EKO ได้ลงทุนเทคโนโลยีไปมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปี 2562 รายได้ของบริษัท EKO จากยุโรปและอเมริกาจะมีสัดส่วนรายได้ 80% ของยอดขายทั้งหมด “ในยุโรปช่วงนี้ อังกฤษแข็งที่สุด แต่เราเพิ่งเปิดออฟฟิศที่ Berlin, Amsterdam เพื่อดูตลาดในส่วนของอียู และจะเปิดที่โปแลนด์ด้วย ส่วนในอเมริกาที่ New York จะเป็น head office”

ยึดหลักคิดคุณปู่ “ต้องให้มากกว่ารับ”

เมื่อถามว่า หากวันหนึ่งคุณพ่อเดินมาบอกให้ไปช่วยงานที่บริษัท ในฐานะลูกชายคนโตของบ้านจะตัดสินใจอย่างไร กรวัฒน์หัวเราะเบาๆ ก่อนเอ่ยว่า “ผมคงต้องดูสถานการณ์ในช่วงนั้นก่อน แต่คิดว่าถ้าเราทำงานได้ดีแต่ยังไม่สำเร็จ ยังอีกนาน ถ้าเราเข้าไปแล้วยังไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้จริงๆ ก็อย่าเข้าดีกว่าผมรู้สึกว่าตัวเองยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ” ขณะเดียวกัน เขาเผยว่าหนึ่งในข้อคิดที่เขาได้จากคุณปู่ “ธนินท์” คือต้องให้มากกว่าการรับ “ตอนที่เราต้องดีลกับคน ข้อคิดเรื่องนี้เป็น principle ที่สำคัญมาก ที่เราต้องห้ามเอาเปรียบคน ต้องให้เขามากกว่า เขาให้เราlong term และคุณปู่ท่านอินเตอร์สุดๆ คิดแบบระดับโลก และ open กับทุกคนเป็นสิ่งที่ตั้งแต่เกิดมาจนผมโต ผมก็เห็นตั้งแต่แรกและผมก็รู้เลยว่าผมต้องสร้าง ใช่เราเกิดเมืองไทย แต่เราต้องสร้างธุรกิจในระดับอินเตอร์” กรวัฒน์ทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร


ติดตามอ่านฉบับเต็ม "กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ปั้น EKO หวังลุย Nasdaq ใน 5 ปี" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561 สังคมสูงวัย