A Self-Made Billionaire รายนี้ติด 50 มหาเศรษฐีไทย ปี 2565 ของ Forbes โดยเคยหลุดโผไป 4 ปี เพิ่งกลับเข้ามาใหม่ปีนี้ที่อันดับ 44 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 2.69 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจพลังงาน แต่น่าสนใจที่เขากำลังขยายไปสู่ธุรกิจสายเขียวเพื่อสุขภาพซึ่งกำลังมาแรงในปัจจุบัน
เพราะเคยผิดพลาดในการทำธุรกิจที่ผลกำไรน้อย ความเสี่ยงสูง ลงทุนมาก แต่ขาดทุนต่อเนื่องมาแล้ว กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการ ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและผู้ก่อตั้ง บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL จึงไม่ลังเลที่จะขยายธุรกิจใหม่ กระโดดข้ามสายธุรกิจเดิมที่เคยทำด้านไฟฟ้าและพลังงานสีเขียวมาสู่ธุรกิจสายเขียวที่กำลังโด่งดังนั่นคือ การปลูกและต่อยอดสารสกัดจากกัญชา กัญชง ในขั้นตอนต้นน้ำและกลางน้ำของพืชในบัญชียาเสพติดประเภท 5 ซึ่งรัฐบาลเพิ่งประกาศเสรีการลงทุนเมื่อหลายเดือนก่อน
อาจเป็นเพราะอาการผิดปกติของเส้นเลือดหัวใจก่อนหน้านั้นที่ทำให้กัลกุลหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ให้ความสำคัญทั้งการออกกำลังกายและการรับประทานอาหาร ดังนั้น เมื่อมองเห็นโอกาสธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ ประกอบกับเป็นสิ่งที่เขาเคยใช้อยู่แล้วจึงตัดสินใจขยายมาลงทุนกัญชา กัญชงอย่างจริงจัง
กัลกุลหันมาสนใจลงทุนในธุรกิจเพื่อสุขภาพเทรนด์ใหม่จากกัญชา กัญชง หรือ “ธุรกิจสายเขียว” โดยลงทุนอย่างจริงจังตั้งใจเขาใส่เม็ดเงินไปแล้วหลายร้อยล้านบาทให้กับการลงทุนด้านกัญชา กัญชง โดยเริ่มต้นลงทุน 250 ล้านบาทในการเข้าไปซื้อหุ้น บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด (THCG) สัดส่วน 50% เนื่องจากต้องการเดินทางลัดในการปลูกกัญชา กัญชง เพราะเงื่อนไขในขณะนั้นการปลูกกัญชา กัญชงต้องทำร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งบริษัท ทีเอชซีจี ทำอยู่แล้ว ขณะที่ GUNKUL ยังไม่เคยเริ่มต้นกับวิสาหกิจชุมชนจึงขอเดินทางลัด
ลงทุน 2 พันล้าน “ธุรกิจสายเขียว”
การลงทุนในครั้งนัน GUNKUL ใช้ บริษัท จี.เค.เฮมพ์ กรุ๊ป จำกัด (GKHG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GUNKUL ถือหุ้น 100% ส่งผลให้บริษัท THCG มีสภาพเป็นบริษัทร่วมค้าระหว่างกันเพื่อดำเนินธุรกิจการปลูกกัญชง และกัญชาเพื่อการจำหน่าย รวมถึงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกัญชงและกัญชา
ขณะเดียวกันในเดือนตุลาคม ปี 2564 บริษัท จี.เค. สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง จำกัด บริษัทย่อยของ GUNKUL ได้รับการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้นำเข้ากัญชงเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม โดยประเภทของกัญชงที่ขออนุญาตคือ เมล็ดพันธุ์จากประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้น 2 เดือนในเดือนธันวาคมปี 2564 บริษัท จี.เค. สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ได้รับการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตผลิต (ปลูก) กัญชงจาก อย. เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม โดยรูปแบบการปลูกที่ขออนุญาตคือ การปลูกในระบบโรงเรือน (greenhouse) จึงเป็นที่มาของการปลูกกัญชงอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกัลกุลบอกว่าเขาทดลองปลูกในโรงเรือนมาได้ 1 ปีแล้ว เก็บเกี่ยวผลผลิตไป 2 รอบกำลังจะได้รอบที่ 3 โดยแต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 3 เดือน
“กัญชา กัญชง มีประโยชน์มาก และมีตลาดที่กว้าง เพราะฉะนั้นใครเริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ แต่ที่สำคัญต้องทำด้วยคุณภาพจึงจะตอบโจทย์ความต้องการตลาดต่างประเทศได้” กัลกุลเผยมุมมองของเขาต่อพืชสีเขียวสรรพคุณมหัศจรรย์ ซึ่งเขายอมรับจากการเป็นผู้บริโภคและบอกว่า ในระยะ 10 ปีหลังมานี้เขาสั่งน้ำมันกัญชาจากสหรัฐฯ เข้ามาใช้เป็นการส่วนตัว
ก่อนหน้านี้ผู้บริหาร GUNKUL เคยให้ข้อมูลว่า บริษัทมีโรงสกัดสาร CBD จำนวน 1 แห่งในจังหวัดปทุมธานี กำลังการผลิต 200 กิโลกรัมต่อวัน (ดอกแห้ง) เพื่อผลิตสินค้าในหมวดเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และยาสมุนไพร รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกกัญชงมีจำนวน 15 ไร่ บนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ และโรงเรือนเพาะปลูกจำนวน 13 โรงเรือน ซึ่งมีแผนขยายเป็น 35 โรงเรือน บนพื้นที่ 60 ไร่ ภายในสิ้นปี 2565
จากความสนใจเรื่องสุขภาพอย่างจริงจังเชื่อมโยงมาสู่ธุรกิจ กัลกุลยิ่งมองเห็นโอกาสเหมือนเมื่อครั้งที่เขาเห็นโอกาสธุรกิจพลังงานลม เมื่อสร้างกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานลมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ทำให้เขาเริ่มต้นกิจการพลังงานมาได้ด้วยการคลิกจากมุมมองในวันที่เปิดกังหันลม 2 ต้นแรกให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
กัลกุลเล่าว่า ในวันนั้น “ผมเห็นลมพัดกังหันหมุนและมิเตอร์หมุนติ้ว นี่คือเงินทั้งนั้น ธุรกิจพลังงานพอสร้างเครื่องมือสำเร็จหลังจากนั้นก็รับเงินอย่างเดียว” เป็นจุดพลิกผันทำให้กัลกุลหันมาทำธุรกิจพลังงาน จนกระทั่งสร้างกิจการเติบใหญ่มาจนถึงปัจจุบันจนมีมาร์เก็ตแคปราว 5 หมื่นล้านบาท
หวัง 2 ปีรายได้พันล้าน
สำหรับธุรกิจสายเขียว กัลกุลไม่ได้มุ่งหวังขนาดนั้น แต่มองว่ามีโอกาสที่สูงมาก โดยเฉพาะกัญชงซึ่งมีสาร CBD ที่ช่วยผ่อนคลาย ลดการอักเสบ สามารถนำสารสกัดนี้ไปใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากมายซึ่งต่างประเทศให้การยอมรับและมีโอกาสทางการตลาดสูง เขาจึงมุ่งเน้นปลูกกัญชงและกัญชาโดยอาศัยข้อได้เปรียบของการมีที่ดินกว่า 5,000 ไร่ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็น Wind Farm แหล่งใหญ่ของ GUNKUL
พื้นที่ Wind Farm รวม 5,000 ไร่ สามารถนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้นด้วยการลงทุนโรงเรือนปลูกกัญชาแบบไฮโดรโปนิกส์หรือการปลูกด้วยระบบน้ำ ซึ่งควบคุมความชื้นอุณหภูมิและแสง ทำให้ได้ผลผลิตต้นกัญชง กัญชาที่สามารถให้สารสกัดคุณภาพสูงได้เป็นอย่างดี โดยเบื้องต้นกัลกุลทดลองทำโรงเรือนปลูกกัญชาไปแล้ว 15 โรง พื้นที่โรงละประมาณ 1 ไร่ ในแต่ละโรงเรือนจะมีต้นกัญชาประมาณ 1,800 ต้น มีทั้งกัญชาและกัญชง
“ปีแรกผมคาดว่าถ้าเราทำรายได้จากกัญชามากถึง 500 ล้านบาทก็ถือว่าประสบความสำเร็จสูง แต่ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะทำได้ประมาณ 200 ล้านบาท ภายใน 2 ปี อาจจะไปถึง 1 พันล้านบาท” กัลกุลเผยความคาดหวังในธุรกิจสายเขียว กิจการน้องใหม่ของกลุ่มที่เกิดมาจากความสนใจส่วนตัวและความชื่นชอบในสารที่ได้จากกัญชงและกัญชา
ก้าวย่างของธุรกิจสายเขียวในความคาดหวังของกัลกุล เขามองไกลถึงขั้นแยกธุรกิจที่ดำเนินงานในนาม บริษัท จี.เค. สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนขยายกิจการ หากในรอบ 3 ปีของการเริ่มต้นสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าตลาดฯ อาจใช้เวลาในปีที่ 3 หรือ 4 หลังจากนี้
บิ๊กเนมพันธมิตรคู่ค้า
ที่ผ่านมา GUNKUL มีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนและเป็นคู่ค้าในธุรกิจสายเขียวแล้วหลายราย เช่น การร่วมทุนกับกลุ่มซีพี ในแง่ที่จะผลิตสารสกัดกัญชงส่วนที่เป็น CBD ให้ซีพีนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ไก่ย่างห้าดาวใส่กัญชงซึ่งเริ่มทดลองแล้ว และอาหารเครื่องดื่มอื่นๆ อีกหลายชนิดที่จะผลิตร่วมกัน
นอกจากร่วมมือกับเครือซีพีแล้ว เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ปี 2565 GUNKUL ได้ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE โดยเป็นการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ บริษัท จี.เค.เฮมพ์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทย่อยของ GUNKUL ในการซื้อขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพืชกัญชา กัญชงเพื่อขยายตลาดสินค้ากัญชา กัญชงของไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพของการเติบโตและโอกาสทางธุรกิจใหม่ในอนาคต หลังรัฐมีนโยบายผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจ
ความร่วมมือระหว่าง SAPPE และ GUNKUL เป็นการเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ด้วยจุดแข็งการขาย การตลาด และเครือข่ายพันธมิตรคู่ค้า-ลูกค้าที่ครอบคลุมในหลายประเทศ ทำให้ SAPPE มีศักยภาพและมองเห็นโอกาส โดยจะเริ่มตลาดในประเทศก่อนแล้วต่อยอดไปสู่ต่างประเทศ โดย SAPPE จะช่วยหาลูกค้าเพื่อกระจายวัตถุดิบและสารสกัดจากกัญชา กัญชงคุณภาพที่ปลูกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงสร้างโอกาสและมาตรฐานที่ดีในธุรกิจสายเขียว
“GULF” ร่วมทุนพลังงานโตคู่ขนาน
ส่วนธุรกิจพลังงานซึ่งเป็นพอร์ตรายได้หลักของ GUNKUL ซึ่งรายได้รวมเกือบ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 เป็นสัดส่วนรายได้จากพลังงานราว 70% มีโครงการพลังงานนับ 100 โครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นธุรกิจต่อเนื่องกับอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ประกอบการติดตั้งเสาไฟฟ้า และบริการเดินระบบเสาไฟฟ้าลงดิน
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ถือหุ้น 100% เข้าลงนามในสัญญาความร่วมมือการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน และจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อศึกษาและลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนร่วมกับ GUNKUL เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงานต่างๆ ภายใต้การร่วมทุนดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายจะถือหุ้นคนละ 50% ใน บริษัท กัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น จำกัด (Gulf Gunkul Corporation) ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ GULF ลงทุนด้วยมูลค่า 5 พันล้านบาท
ความร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้ถือเป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้งสองกลุ่มบริษัท โดย GULF มีความชำนาญในธุรกิจผลิตไฟฟ้า รวมถึงมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งมีความแข็งแกร่งและกว้างขว้างในเครือข่ายทางธุรกิจ ขณะที่ GUNKUL มีความชำนาญด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจรและด้านการก่อสร้าง ความร่วมมือดังกล่าวจะเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนของบริษัทร่วมทุน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี
ในธุรกิจพลังงานยังคงเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากบริษัทร่วมทุนดังกล่าวแล้ว ก่อนหน้านี้ราวเดือนมีนาคม ปี 2565 GUNKUL ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกับเจมาร์ท และซิงเกอร์ ประเทศไทย ในชื่อ เจจีเอส ซินเนอรจี พาวเวอร์ (JGS) เพื่อขยายตลาด solar rooftop ขนาดครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ให้เติบโตด้วยโซลูชันสินเชื่อภายใต้แนวคิด “Make Energy Affordable พลังงานสะอาด..ไซส์ไหนก็เป็นเจ้าของได้” เพื่อต่อยอดเมกะเทรนด์ net-zero carbon ของประเทศในด้านความต้องการสินค้ากลุ่มพลังงานทดแทน
ส่วนธุรกิจกัญชงและกัญชาเป็นธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตน่าสนใจและน่าจะเติบโตได้เร็วเพราะมีตลาดรองรับชัดเจน GUNKUL จึงตัดสินใจเข้ามาทำเพราะเชื่อว่าทำก่อนย่อมได้เปรียบและมีโอกาสมากกว่า อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ถ้าศึกษาให้ดีและลงมือทำย่อมเป็นโอกาสที่ดีเหมือนแนวคิดหลักของกัลกุลที่มองทุกเรื่องว่า ต้องทำได้ เจอปัญหาต้องแก้ไข ถ้าเป็นปัญหาที่ตัวเองก็ต้องแก้ไขเอง ถ้าเป็นปัญหาที่คู่ค้าๆ ก็ต้องแก้ไข
กัลกุลฝากแง่คิดจากการสัมภาษณ์ในวันนั้นว่า “ถ้าเราตั้งใจและมุ่งมั่น ศึกษาและทำความเข้าใจกับมันอย่างจริงจัง ทุกเรื่องเราสามารถไปสู่ความสำเร็จได้”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
อ่านเพิ่มเติม:
- GULF จับมือ GUNKUL ตั้งบริษัทร่วมทุน ตั้งเป้าผลิต "พลังงานสะอาด"
- SAPPE จับมือ GUNKUL ขยายตลาดกัญชากัญชงไทย