เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ อาหารเพื่อสุขภาพ ต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อม - Forbes Thailand

เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ อาหารเพื่อสุขภาพ ต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

จากรายงาน Tetra Pak Index 2023 เผยว่าผู้บริโภคได้เล็งเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพส่วนบุคคลและสวัสดิภาพของโลกมากขึ้น โดย 54% ของผู้บริโภคคำนึงถึงอนาคตของโลกเมื่อตัดสินใจซื้ออาหาร และผู้บริโภคกว่า 70% เชื่อว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพไม่ควรส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


    เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 2566 เต็ดตรา แพ้ค (Tetra Pak) ผู้นำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารชั้นนำาของโลก ได้เปิดเผยผลการศึกษาจากงานวิจัยระดับโลก Tetra Pak Index 2023 จากการสำรวจใน 10 ประเทศโดยบริษัทวิจัยตลาด Ipsos รายงานระบุว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความจริงจังในการพิจารณาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับสุขภาพส่วนบุคคลเมื่อเลือกซื้ออาหาร

    โดยผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ที่เรียกกันว่า 'climatarians' หรือกลุ่มผู้บริโภคเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศนั้นพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินดื่มของตนเองเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของโลก ตลาดสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค เนื่องจากมีความตื่นตัวในการแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพร่างกายมากยิ่งขึ้น


เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีมุมมองแบบองค์รวมมากขึ้น โดย 70% ของผู้บริโภคเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพไม่ควรส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่อีก 54% ของผู้บริโภคยินดีที่จะรับผิดชอบต่อโลกโดยปรับเปลี่ยนมื้ออาหารของตนเพื่อโลกที่น่าอยู่ขึ้น

    การให้ความสำคัญกับประเด็นทั้งสองประการนี้สะท้อนจากแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่ตั้งใจลดปริมาณการรับประทานเนื้อสัตว์ลง หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น” (flexitarians) โดยมีผู้บริโภคเกือบครึ่งหนึ่งชี้ว่า พวกเขาตั้งใจลดการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย

    จากรายงานฉบับนี้พบว่า แนวโน้มในการลดการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจถึง 56% ระบุเหตุผลด้านสุขภาพในการเลือกรับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (flexitarian) มังสวิรัติปลา (pescatarian) มังสวิรัติแบบเคร่งครัดหรือวีแกน (vegetarian) โดยมากกว่า 1 ใน 3 หรือราว 36% ยังระบุว่า แรงจูงใจหลักมาจากการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

    นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ได้เปิดเผยว่าความสะดวกสบายไม่ใช่เรื่องหลักของผู้บริโภคอีกต่อไป จากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติดังกล่าวที่หยั่งรากลึกมายาวนานได้สะท้อนให้เห็นว่า 70% ของผู้บริโภคยอมสละความสะดวกสบายเพื่อผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ

    อีกทั้งวิกฤตค่าครองชีพไม่ได้มีผลต่อความมุ่งมั่นเพื่อสุขภาพแต่อย่างใด โดยมีผู้บริโภคเพียง 17% เท่านั้นที่ยอมละเว้นอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และมีการคาดการณ์ว่าเทรนด์การบริโภคเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ (climatarian) จะเติบโตขึ้นอีก เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้นเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง โดยผู้บริโภคคาดหวังให้ผู้ผลิตอาหารส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ทั้งดีต่อสุขภาพและคำนึงถึงความยั่งยืนควบคู่กันไป



ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

    จากรายงานการศึกษาและวิจัยระดับโลกฉบับนี้เห็นได้ชัดว่าเรื่องสุขภาพยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้บริโภค โดยมีความเชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ 3 ประการที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ดังนี้

    1.สุขภาพสำคัญยิ่งกว่าเดิม ผู้บริโภค 70% ระบุว่า สุขภาพมีความสำคัญต่อพวกเขามากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดย 2 ใน 3 ใส่ใจสิ่งที่พวกเขากินและดื่มมากขึ้น และ 70% กล่าวว่า รู้สึกดีขึ้นจริงหลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว

    2.การเปลี่ยนแปลงต้องมาพร้อมรสชาติที่ดี ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพ เปี่ยมด้วยโภชนาการ หรือใส่ใจความยั่งยืนแค่ไหนก็ตาม ผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารรสชาติที่ดี การสร้างดุลยภาพของต้นทุนจะกลายเป็นกุญแจสำคัญของผลิตภัณฑ์อาหารยุคใหม่ ซึ่งคาดการณ์ว่าเราอาจได้เห็นความเคลื่อนไหวนี้ภายในปี 2568

    3.ความตึงเครียดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ราว 2 ใน 3 หรือ 65% เชื่อว่าเทคโนโลยีจะทวีความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น และ 62% มองว่าเทคโนโลยีมีบทบาทในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น เกือบครึ่งหนึ่งราว 48% คิดว่ามีนวัตกรรมอาหารที่เกิดขึ้นมากเกินไป และกังวลว่าเรื่องนี้จะอาจไม่ส่งผลดีต่อพวกเขา

    ในขณะที่ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดว่าผู้คนหันมาให้ความใส่ใจในการเลือกบริโภคมากขึ้น และในขณะเดียวกันเรากำลังเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นจำนวนมากตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยเหล่านี้ต่อสุขภาพและความยั่งยืน

    สิ่งสำคัญอีกประเด็นก็คือ การเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้นต้องมาพร้อมรสชาติที่สอดคล้องไปกับรสนิยมของผู้บริโภคเสมอ เพราะไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพหรือใส่ใจความยั่งยืนเพียงใดก็ตาม ผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารที่มีรสชาติตรงใจ

    ในประเด็นนี้ เต็ดตรา แพ้ค มีการดำเนินงานมาอย่างยาวนานในระดับโลกที่คำนึงถึงการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น รายงาน Tetra Pak Index ฉบับล่าสุดได้ย้ำให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการนำเสนอปัญหาเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเชื่อมโยงกันซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

    เต็ดตรา แพ้ค ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อไปเพื่อลดปริมาณขยะอาหารและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยหาวิธีนำส่วนประกอบที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้จากกระบวนการผลิตอาหารกลับมาใช้ใหม่ เดินหน้าสำรวจแหล่งโปรตีนทางเลือก และนำเสนอโซลูชันด้านเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ในระบบอาหารทั่วโลกในปัจจุบัน

    ทั้งนี้ เต็ดตรา แพ้ค เป็นผู้นำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารชั้นนำของโลกโดยทำงานร่วมกับลูกค้าและซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิด เพื่อมอบผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนองความต้องการของผู้คนนับพันล้านในกว่า 160 ประเทศทั่วโลก ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 25,000 คน มีฐานการดำเนินงานทั่วโลก และเชื่อมั่นในความรับผิดชอบบริษัทในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมและความยั่งยืนแก่ธุรกิจ

    ปรัชญาการทำงานของเต็ดตรา แพ้ค คือ ปกป้องทุกคุณค่า หรือ “Protects What’s Good” ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของเต็ดตรา แพ้ค ในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและซื้อหาได้ในทุกที่


Photo by Ella Olsson on Unsplash


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พลิกโฉมการเกษตรไทย ด้วยการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชอย่างยั่งยืน

คลิกอ่านเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine