สังคมสูงวัย เป็นกำไรได้หรือ? - Forbes Thailand

สังคมสูงวัย เป็นกำไรได้หรือ?

ในขณะนี้สังคมไทยและภาคธุรกิจต่างให้ความสนใจสังคมสูงวัยกันอย่างจริงจัง จากสถานการณ์ทางประชากรของประเทศตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นชัดว่า ประเทศได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว

การที่คนไทยมีลูกน้อยลงมาก จากราว 6 คนต่อผู้หญิง 1 คนใน 50 ปีที่แล้ว เหลือเพียงแค่ 1-2 คนในปัจจุบัน และการที่ภาวะการตายก็ลดลงเป็นลำดับ ทำให้คนไทยมีชีวิตยืนยาว จากอายุคาดเฉลี่ยเพียงประมาณ 58 ปีเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เป็น 75 ปีในปัจจุบันส่งผลให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มอย่างรวดเร็วและรุนแรง (www.cps.chula.ac.th) ประเด็นท้าทายจากสังคมสูงวัยที่ปรากฏในขณะนี้เป็นเพียงบทเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหากเทียบกับภูเขาน้ำแข็งส่วนที่โผล่ออกมายังน้อยนัก ถ้าปล่อยไปโดยไม่จัดการสิ่งใด ประชากรช่วงอายุประมาณ 30-50 ปี จะเป็นคลื่นมนุษย์ลูกใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุในวันข้างหน้า จะเห็นได้ว่าภายใน 20 ปี ประชากรสูงอายุจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน และมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด และที่สำคัญอย่าเข้าใจผิดว่าสังคมสูงวัยเป็นแค่การเพิ่มของประชากรสูงอายุเท่านั้น เพราะที่จริงแล้วสังคมสูงวัยจะเป็นสังคมที่ทั้งจำนวนและสัดส่วนของประชากรวัยเด็ก (อายุน้อยกว่า 15 ปี) และวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) ลดลงไปด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและรุนแรงหรือกลายเป็นประเทศที่แก่ก่อนรวยนี้ ตามมาด้วยประเด็นท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเกิดน้อยแต่ยังด้อยคุณภาพ คนท้องไม่พร้อม คนพร้อมไม่ท้อง แรงงานด้อยทั้งปริมาณและคุณภาพ ฐานภาษีที่จะเกื้อหนุนประชากรวัยเด็กและสูงอายุจะลดลง และลูกที่จะเกื้อหนุนผู้สูงอายุก็จะน้อยลง ยิ่งอยู่นานยิ่งอมทุกข์อมโรค ยิ่งแก่ยิ่งจน เราจะปล่อยให้ชีวิตหรือธุรกิจเราเป็นไปตามยถากรรม หรือเราจะเปลี่ยนความท้าทายเหล่านี้ให้เป็นโอกาส  

สูงวัย กำไรของชีวิต

ที่จริงแล้วการสูงวัยน่าจะเป็นกำไรชีวิต เพราะเรามีโอกาสอยู่ดูโลก ทำประโยชน์ให้ครอบครัวและสังคมได้นานขึ้น แต่จะเป็นกำไรชีวิตก็ต่อเมื่อเราสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระกับครอบครัวหรือสังคม ต่อให้รวยล้นฟ้าแต่ป่วยกระเสาะกระแสะ ต้องนอนติดเตียงช่วยตัวเองไม่ได้ก็ไร้ประโยชน์ อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไป การจะหวังรอให้รัฐทำให้ทุกอย่างคงยากที่จะเป็นไปได้ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรประเทศ ดังนั้นการวางแผนชีวิตตนให้พร้อมก่อนที่จะก้าวสู่วัยสูงอายุเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ และเป็นพลังไม่ใช่เป็นภาระของสังคมจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการเตรียมการนี้ต้องเป็นการพัฒนาทั้งทุนมนุษย์และความพร้อมในทุกมิติ • ด้านการศึกษาอบรม ต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อการประกอบสัมมาชีพและเพิ่มพูนทักษะการทำงานหรือปรับเปลี่ยนทักษะให้เหมาะกับช่วงชีวิตที่จะอยู่ไปอีกยาวนาน • การเตรียมการด้านเศรษฐกิจ ด้วยการออมและการวางแผนด้านการเงิน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต การทำงานเชิงเศรษฐกิจหรือกิจกรรรมต่างๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะของ คนหนุ่มสาวหรือคนในวัยแรงงานเท่านั้น เนื่องจากการประกอบสัมมาชีพที่เหมาะกับคุณวุฒิและวัยวุฒิ นอกจากจะช่วยเพิ่มพูนรายได้ในยามสูงวัยแล้ว ยังทำให้ผู้สูงอายุมีความกระตือรือร้นที่จะดำเนินชีวิตและรู้สึกว่าตนมีคุณค่า • การเตรียมการด้านสุขภาพ โดยการเน้นการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและภาวะทุพพลภาพในวัยสูงอายุ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มักจะสูงมากในช่วงบั้นปลายของชีวิต • การเตรียมการด้านจิตใจ การเตรียมใจให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงตามวัยของชีวิต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม • การเตรียมการด้านสังคมและสภาพแวดล้อม การเตรียมการให้พร้อมว่าจะอยู่กับใครหรือจะให้ใครเป็นผู้ดูแลเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมในบ้านที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างสะดวกและปลอดภัยในยามสูงอายุ การสร้างบ้านหรือซื้อบ้านจึงควรมองให้ไกลไปถึงยามสูงอายุด้วย ทั้งเรื่องโครงสร้าง แบบบ้านพื้นที่ใช้สอย แสงสว่าง วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ • การเตรียมการด้านการปกป้องพิทักษ์สิทธิ์ แม้ในปัจจุบันจะเริ่มมีการให้โอกาสผู้สูงอายุเลือกรูปแบบการรับการบำบัดรักษาในขั้นสุดท้ายของชีวิตโดยการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ในกรณีเจ็บป่วยและตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และไม่มีบุตรหลาน ผู้สูงอายุควรเตรียมตัวล่วงหน้า เช่น ผู้ดูแลความเป็นอยู่ การตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลหรือการจัดการเรื่องการเงินและทรัพย์สิน  

โอกาสในการสร้างกำไรทางธุรกิจ

หลายคนเริ่มวิตกว่า สังคมสูงวัยจะทำให้เศรษฐกิจถดถอย ขาดชีวิตชีวา ที่จริงแล้วหากเปลี่ยนมุมมองและวางแผนการจัดการใหม่ สังคมสูงวัยนอกจากจะเป็นกำไรชีวิตของแต่ละคนได้แล้ว เรายังสามารถสร้างกำไรทางธุรกิจได้เช่นกัน • ธุรกิจในสังคมสูงวัยคงต้องมีแนวคิดใหม่ โดยคำนึงถึงทั้งกำไรเชิงธุรกิจและสังคมควบคู่กัน ด้วยการทำธุรกิจมองประโยชน์โดยรวมของสังคมตั้งแต่ต้น เช่น กำไรที่จะได้คืนไม่ใช่แค่รายได้ แต่เป็นกำไรที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะเป็นกำไรที่สร้างความมั่นคงให้สังคมและกิจการของผู้ประกอบการไปพร้อมกัน • จากกำลังคนที่จะมีจำกัดลงเรื่อยๆ ผู้ประกอบการหรือนายจ้างสามารถรับมือกับสังคมสูงวัย ด้วยความพยายามรักษาบุคลากรที่มีไว้ให้นานที่สุด ซึ่งการจ้างงานต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนแรงงานได้ แทนที่จะเลิกจ้างตั้งแต่อายุ 40-50 ปี เพราะมองว่าผลิตภาพเริ่มลดลงแล้วนั้น ผู้ประกอบการควรมองหาวิธีการปรับเปลี่ยนงานหรือพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับวัย หรือช่วยหาช่องทางให้พนักงานสามารถหางานใหม่ที่เหมาะสมได้ การสร้างขวัญกำลังใจ การสร้างความภักดีกับองค์กรจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ • การหวังพึ่งแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทนทำได้แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะภายใน 20 ปีข้างหน้าอาเซียนทั้งหมดก็จะกลายเป็นสังคมสูงวัย ทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ คือ การใช้คลื่นมนุษย์ลูกใหญ่หรือประชากรสูงอายุมาจ้างงานใหม่ จ้างงานบางเวลา หรือแม้แต่ส่งงานไปถึงบ้านหรือผ่านวิสาหกิจชุมชน การจ้างงานเป็นชิ้นงานให้แก่ผู้สูงอายุจะเป็นอีกทางเลือกในการจะลดปัญหาจากการที่จำนวนแรงงานกำลังลดลง • การเปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัยยังเพิ่มโอกาสธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เช่น นวัตกรรมและบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อการบำบัดรักษา เพื่อฟื้นฟู และเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หากเริ่มคิดเริ่มทำกันตั้งแต่วันนี้ ตลาดจะไม่ได้มีแค่ประเทศไทย เพราะทั้งอาเซียนที่กำลังจะเป็นสังคมสูงวัยก็จะเป็นตลาดรองรับขนาดใหญ่เช่นกัน แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นทางออกที่สำคัญ ทั้งในการดำเนินชีวิตและในการดำเนินธุรกิจ สามารถต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมั่นคง ผลตอบแทนที่เป็นกำไรและผลตอบแทนจากการเกื้อกูลสังคมจะทำให้กิจการก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ธุรกิจใดๆ ก็มิอาจคงอยู่ได้หากสังคมล่มสลาย   รศ. ดร. วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กุมภาพันธ์ 2560