เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้นเหตุของหายนะในประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่กลับไม่เคยมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงการใช้อำนาจของ IMF เลย
และทุกวันนี้ประเด็นนี้ยิ่งอันตรายมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขาดแคลนอาหารทำให้หลายต่อหลายประเทศใกล้จะล่มจมแล้ว โดยมี 2-3 ประเทศที่อยู่ในสภาพโกลาหลอลหม่าน ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือศรีลังกา
หลายต่อหลายประเทศต่างก็อ่อนไหวเป็นพิเศษ เพราะประเทศเหล่านั้นต่างพอกพูนภาระหนี้เอาไว้ในช่วงหลายปีที่เม็ดเงินสะพัดหลังวิกฤตการเงินปี 2008-2009 ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน แต่พอถึงตอนนี้ต้นทุนของเงินแพงขึ้นแล้ว และธนาคารกลางต่างก็หยุดอัดฉีดเงินใหม่เข้ามาในระบบ รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงถูกกดดันให้ต้องหาเงินมาชำระหนี้
ซึ่งสำหรับประเทศยากจนจำนวนมากประเด็นนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้รายได้อันน้อยนิดของประชาชนที่ยากจนอยู่แล้วต้องหดลงไปเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้เกิดภาวะความอดอยากหรืออาจถึงขั้นเกิดทุพภิกขภัยได้ ซึ่งสถานการณ์ในแง่นี้ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีกจากการที่ประธานาธิบดี Vladimir Putin นำอาหารมาใช้เล่นเกมกับการส่งออกธัญพืชที่สำคัญของยูเครน
ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วประเทศต่างๆ เป็นหนี้อยู่เท่าไรกันแน่ เพราะจีนปล่อยเงินกู้ก้อนมหาศาลให้กับหลายๆ ประเทศ แต่การปล่อยกู้ดังกล่าวก็ไม่ค่อยจะโปร่งใสเอาเสียเลย
ตามหลักแล้ว IMF ควรจะทำหน้าที่เป็นหมอรักษาเศรษฐกิจให้กับประเทศที่ประสบปัญหา โดยทีมงานของ IMF จะเดินทางไปยังประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและ “ต่อรอง” (ในนัยเดียวกันกับ Tony Soprano เจ้าพ่อมาเฟียในซีรี่ส์ดัง The Sopranos) เงื่อนไขในการที่รัฐบาลจะได้รับเงินกู้เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ปัญหาคือ IMF เป็นเหมือนหมอเถื่อนที่รักษาเศรษฐกิจระดับโลกแบบมั่วซั่ว เพราะสิ่งที่ IMF ต้องการมากที่สุดคือ ให้ประเทศที่ประสบปัญหาลดค่าเงิน ซึ่งการทำให้ค่าเงินอ่อนลงก็คือการทำให้เกิดเงินเฟ้อ ถ้าจะเปรียบไปแล้วมันก็เหมือนกับการบอกให้คนที่เป็นปอดบวมออกไปนั่งตากหิมะนั่นแหละ
IMF คิดว่าวิธีที่จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้คือ การทำให้คนจนลง ดังนั้น จึงบีบให้ประเทศที่ประสบปัญหาต้องขึ้นภาษี นอกจากนี้ IMF ยังสั่งให้มีการยกเลิกเงินอุดหนุนในลักษณะประชานิยม ซึ่งมักจะมีการใช้กับอาหารและเชื้อเพลิงบางประเภทด้วย โดยหลักการแล้ววิธีการนี้ก็พอใช้ได้ แต่จังหวะเวลาของ IMF มันเลวร้ายมาก เพราะปัจจัยที่ช่วยประคองชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำถูกยกเลิกไป ซึ่งนำมาสู่ภาวะจลาจลในที่สุด
สิ่งที่ IMF ควรจะทำมากกว่าคือ การจ่ายยาแบบที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Nathan Lewis เรียกว่า “สูตรวิเศษ” นั่นคือการกดภาษีให้ต่ำและคุมค่าเงินให้นิ่ง ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ใช้ได้ผลแทบทุกครั้ง คือแทนที่จะลดค่าเงิน ประเทศต่างๆ ควรหันมาใช้ระบบคณะกรรมการเงินตรา (Currency Board) โดยผูกค่าเงินไว้กับสกุลเงินที่เชื่อถือได้ อย่างเช่นฟรังก์สวิส ซึ่งการใช้ระบบคณะกรรมการเงินตราสามารถหยุดเงินเฟ้อได้อย่างชะงัด
แนวทางการแก้ปัญหาที่ใช้ไม่ได้และไม่สร้างสรรค์ของ IMF สมควรที่จะได้รับการตั้งคำถามอย่างจริงจังจากบรรดาผู้บริจาคเงินสมทบกองทุนรายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ
เนื่องจากหลายประเทศกำลังประสบภาวะที่ยากลำบาก การแก้ปัญหาผิดพลาดอย่างเรื้อรังของ IMF จะทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายอย่างหนักตามมาและจะนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น ถึงแม้ว่าประเทศที่ IMF เข้าไปช่วยจะมีการใช้จ่ายแบบไม่ระวัง และรัฐบาลเข้ามาควบคุมเศรษฐกิจมากเกินไปจริง แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเหตุอันควรให้ IMF สามารถจ่ายยาที่เป็นผลเสียกับประเทศเหล่านั้นได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศปากีสถานที่บริหารจัดการผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเพิ่งเจรจาขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ซึ่งก็เป็นไปตามฟอร์มเดิมคือ IMF สั่งให้ขึ้นภาษีและเลิกให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิง จนในที่สุดก็เกิดการจราจลขึ้นในประเทศ
อ่านเพิ่มเติม:
>> 10 นักกอล์ฟรายได้สูงสุดของโลก ประจำปี 2022
>> กร เธียรนุกุล สร้างสรรค์ MyWaWa แม่พิมพ์ธุรกิจค้าส่งแห่งโลกดิจิทัล