กร เธียรนุกุล ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งธุรกิจโรงพิมพ์นิวไวเต็ก กำลังเดินหน้าออกแบบแม่พิมพ์ธุรกิจค้าส่งแห่งโลกยุคใหม่ สร้าง MyWawa แพลตฟอร์มค้าส่งแบบ B2B เชื่อมผู้ผลิตในอุตสาหกรรมไทยสู่อาเซียน
เสียงเครื่องจักรที่เคยดังกระหึ่มตลอดเวลาได้เป็นเพียงอดีต ขณะที่ปัจจุบันงานด้านการพิมพ์ไว้เพื่อหล่อเลี้ยงพนักงานเก่าแก่และงานพิมพ์ที่ยังคงมีคำสั่งพิมพ์เข้ามา การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคทำให้ธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองอย่างธุรกิจการพิมพ์เพื่อการพาณิชย์ต้องปรับตัวอย่างรุนแรง บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด เป็นหนึ่งในกิจการธุรกิจการพิมพ์ที่เก่าแก่ซึ่งเริ่มต้นโดย ไว เธียรนุกุล ชาวจีนที่เดินทางมาปักหลักยังประเทศไทยดำเนินธุรกิจสิ่งพิมพ์
อาคารพาณิชย์หลายคูหาย่านสี่พระยาซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์แห่งนี้ได้เริ่มทะยอยเครื่องจักรซึ่งไม่ได้ใช้การออกและเตรียมปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงานเพื่อเช่าสร้างรายได้ประจำเข้ากงสี
โดยอาคารพาณิชย์แห่งนี้ยังเป็นร่มเงาให้กับคนตระกูลเธียรนุกุลยาวนานถึง 3 รุ่น ตั้งแต่ ไว เธียรนุกุล ผู้ก่อตั้งโรงพิมพ์นิวไวเต็ก, เกรียงไกร เธียรนุกุล ทายาทรุ่นที่ 2 และประธานสภาอุตสาหกรรมคนปัจจุบันที่เริ่มผ่องถ่ายความรับผิดชอบมรดกทางธุรกิจบางส่วนให้กับบุตรชายคนโต กร เธียรนุกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ MyWaWa
นอกจากธุรกิจโรงพิมพ์ ธุรกิจกงสีของตระกูลยังมีธุรกิจหลากหลายรวมไปถึงกลุ่มร้านอาหารอย่าง Santa’s, Cafe de Laos และ Milk plus ภายหลังจากจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (ภาคอินเตอร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2552 บวกกับ “ฝันแห่งวัย” ของเด็กจบใหม่ที่อยากมีร้านอาหารเป็นของตนเอง ราวปี 2558-2559 กรจึงเลือกเข้าไปช่วยกิจการกลุ่มร้านอาหารของกงสี
แต่หลังจากเข้ามาช่วยงานได้ไม่นานนักกลับเกิดข่าวร้ายขึ้น เมื่อน้าซึ่งเป็นฝ่ายขายและดูแลลูกค้าสำคัญของธุรกิจการพิมพ์เสียชีวิตกระทัน ด้วยการบริหารในลักษณะกงสีจะไม่ให้คนนอกตระกูลดูแลลูกค้ารายสำคัญ เกรียงไกร เธียรนุกุล ผู้เป็นพ่อจึงอยากให้เขามาดูแลในส่วนของโรงพิมพ์ แม้จะเป็นคำขอกึ่งบังคับก็ตามที
ธุรกิจโรงพิมพ์นิวไวเต็กเป็นโรงพิมพ์เชิงพาณิชย์ให้บริการงานพิมพ์ ทำนามบัตร โบรชัวร์ สินค้าทดลอง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในการประชาสัมพันธ์ แต่การเข้ามาของการตลาดออนไลน์ สื่อโซเชียลมีเดีย ลูกค้าหลายๆ รายลดงบประมาณด้านมาร์เก็ตติ้งที่เกี่ยวข้องกับงานพิมพ์และเลือกไปลงสื่อออนไลน์ ทำให้ช่วงปี 2560-2561 จึงถือเป็นขาลงของวงการการพิมพ์และเป็นช่วงที่เขาเข้ามาดูแลธุรกิจโรงพิมพ์อย่างเต็มตัว
จากสถานการณ์ขาลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์เขาเลือกจะจับเข่าคุยกับครอบครัวเพื่อทางออก โดยมีทางสามให้เลือกคือหนึ่งเปลี่ยนไปทำงานพิมพ์ด้านแพคเกจจิ้ง เมื่อมี อี-คอมเมิร์ซ จะมาพร้อมกับมาร์เก็ตติ้งเพราะคนมองหาแพคเกจจิ้งเพื่อให้สินค้าเขามีมูลค่ามากขึ้น สอง งานพิมพ์แบบป้องกันการปลอมแปลง หรือ Security อย่างการพิมพ์พาสปอร์ตเพราะเป็นงานพิมพ์ที่มีนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เงื่อนไขสุดท้ายคือออกจากวงจรการพิมพ์
สร้างสตาร์ทอัพสู่ธุรกิจ
เป็นเวลาปีกว่าที่เขาได้ลองศึกษาธุรกิจของบริษัทกับทางเลือก 3 ทางที่ได้เตรียมไว้ โดยคำตอบของเขาคือการออกจากวงจรการพิมพ์และมุ่งหน้าไปทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัพ สร้างแพลตฟอร์มธุรกิจเป็นของตนเอง โดยความท้าทายแรกในการเริ่มต้นสตาร์ทอัพคือทำอย่างไรให้คนในครอบครัวเชื่อว่า สตาร์ทอัพสามารถสร้างเป็นธุรกิจได้
“เราอยากทำแพลตฟอร์มแต่ไม่มีอะไรจับต้องได้ สมมุติว่าเราลงทุนกับเครื่องจักรอย่างน้อยยังได้เห็นเครื่องจักร สุดท้ายเรายังขายออกไปได้ แต่ตอนที่ทำแพลตฟอร์มการลงทุนเป็นศูนย์เลยถ้าไม่สำเร็จ”
แม้ทางครอบครัวยังไม่เห็นภาพในสิ่งที่เขากำลังคิดและทำ เขาจึงโดดงานไปร่วมการแข่งขันประกวดไอเดียธุรกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เมื่อกลางปี 2561 นำเสนอความคิดสร้าง อี-มาร์เก็ตเพลส ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ ในชื่อ Wawa Pack โดยที่เลือกทำด้านบรรจุภัณฑ์เพราะสามารถต่อยอดจากธุรกิจดั้งเดิมและซัพพลายเออร์ที่มีอยู่
ซึ่งผลจากการประกวด Wawa Pack คว้าอันดับสองจากการประกวดกลับบ้านและโน้มน้าวให้ทางบ้านเห็นว่าไอเดียธุรกิจเขามีคนยอมรับและได้รับรางวัลกลับมาซึ่งทำให้เขาได้รับเงินก้อนเล็กๆ และโอนพนักงานเก่าแก่ท่านหนึ่งเข้ามาช่วยในการทำงานโดย กร รับผิดชอบวิ่งหาซัพพลายเออร์ ขณะที่พนักงานอีกคนอัปโหลดข้อมูล ภาพถ่าย ขึ้นเว็บไซต์
หลายเดือนที่พวกเขาทั้งสองลงแรงสะสมแพคเกจจิ้งได้มากถึง 3,000 SKU โดยเทคนิคคือนำประกาศนียบัตรจากการประกวดไปต่อยอดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและหวังว่าจะเปลี่ยนมายเซ็ตคนในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เดิมๆ ที่เชื่อที่ว่าสินค้าเหล่านั้นถ้าจะขายได้ต้องไปตามช่องทางการขายแบบดั่งเดิมไม่ว่าจะเป็น ร้านค้าย่านสำเพ็ง การออกงานแสดงโชว์สินค้าต่างๆ หรือ เดินทางไปยังโรงงานผลิตเพื่อดูของจริง
หลังจากที่เริ่ม Wawa Pack ในที่สุดคำสั่งซื้อแรกก็เดินทางมาถึง กระป๋องเหล็ก ราคา 54 บาท “ดีใจมาก” กร กล่าวอย่างประทับใจซึ่งหลังจากนั้น เขาจึงเริ่มทำการตลาดโปรโมตเว็บไซต์ของเขาและเริ่มมีออเดอร์ทะยอยเข้ามามากขึ้น
การเดินหน้าลุยธุรกิจด้านออนไลน์ นอกจากสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เขาแล้ว ยังเริ่มสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในครอบครัว รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจที่พวกเขาไม่คาดคิด อย่างการเกิดขึ้นของวิกฤตโควิด-19 ซึ่งกระจายไปทั่วโลกราวปลายปี 2563 ต้นปี 2564 ที่เข้ามากระทบกับพาร์ตเนอร์ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมอย่างจัง
เนื่องจากรายได้หลักของกลุ่มโรงงานส่วนใหญ่มาจากการส่งออกซึ่งผลของการปิดประเทศและการงดแสดงงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อแสดงสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ทำให้ยอดขายให้ช่วงโควิดเติบโต
จากการทำงานกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นโรงงานหลายๆ แห่ง ทำให้เขาค้นพบว่าโรงงานแต่ละแห่งมีการผลิตสินค้าที่หลากหลาย บางโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์เป็นรายหลัก ทำแพคเกจจิ้งเป็นรายได้เสริม จึงเป็นไอเดียธุรกิจในการขยายแพลตฟอร์มให้เป็นแหล่งรวมสินค้าอี-มาร์เก็ตเพลส ในรูปแบบ B2B ที่ช่วยให้ผู้ผลิตจากโรงงานและผู้ประกอบการสามารถหาสินค้าต่างๆ ที่ต้องการผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
ยิ่งเมื่อลงลึกและศึกษาความต้องการของตลาดทำให้พบว่ามีความต้องการซ่อนอยู่จริง กรจึงปรึกษากับทีมงานและครอบครัวและได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ด้วยการดิสรัปต์ตัวเองจากแพลตฟอร์ม Wawa Pack เดินหน้าสู่ MyWaWa แพลตฟอร์มที่รองรับชิ้นส่วนหรือสินค้าอุตสาหกรรมการผลิตนานาชนิด
แต่เงื่อนไขการสร้างแพลตฟอร์ม MyWaWa ครั้งนี้ให้ประสบความสำเร็จ แตกต่างจากการสร้าง Wawa Pack เป็นอย่างมาก ประกอบด้วย 2 เงื่อนไขและ 3 เสาหลัก โดยเงื่อนไขแรก ต้องมีเทคโนโลยีที่พัฒนาได้ด้วยทีมของตนเอง เขาจึงเสาะหาผู้ร่วมก่อตั้งที่เป็นสายเทคโนโลยี โดยราวปี 2562-2563 ได้ผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คนซึ่งเป็นสายเทคโนโลยีมาช่วยก่อตั้งบริษัท
เงื่อนไขที่สอง ต้องมีโครงสร้างบริษัทที่ชัดเจนเพื่อรองรับการเป็น Tech Startup ที่ต้องมีเรื่องการระดมทุนเข้ามา จากเดิมเมื่อครั้งทำแพลตฟอร์ม Wawa Pack อยู่ภายใต้ บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด เขาจึงตั้งบริษัทใหม่ WAWA INNOVATION GROUP ซึ่งเป็นรูปแบบโฮลดิ้ง โดยมี บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด เข้ามาถือหุ้น
สำหรับการสร้าง อี-มาร์เก็ตเพลส ประกอบด้วย 3 เสาหลัก อันได้แก่ การซื้อขาย, การเงิน และการขนส่ง ที่จะช่วยส่งให้แพลตฟอร์มได้รับความเชื่อมั่น แต่การพัฒนาแพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส
สำหรับ B2B นั้นจะมีสิ่งที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซแบบ B2C ซึ่งการชำระเงินเป็นระบบตระกร้าสินค้า แต่ B2B มีเงื่อนไขในการสั่งซื้อสินค้าไม่ว่าจะเป็นการมัดจำ การให้เครดิตในการชำระเงิน ด้วยเงื่อนไขการชำระเงินที่หลากหลาย
การสร้างธุรกิจบนโลกออนไลน์ ปัจจัยที่สำคัญยิ่งคือการสร้างระบบไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ ที่เข้มแข็งเพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลและธุรกิจต่างๆ ภายในแพลตฟอร์ม เขาและทีมจึงคิดค้นระบบที่เรียกว่า Trade Secure Order นำมาครอบระบบการทำงานและกระบวนการทำงานในทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ยังสร้างระบบ Smart Contact จะระบุตัวตนและช่วยให้ทั้งซัพพลายเออร์และผู้ซื้อในระบบสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจได้อย่างสะดวกและมั่นใจต่อธุรกรรมการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์แบบอัตโนมัติตั้งแต่การทำใบเสนอราคา, ใบคำสั่งซื้อขายที่สามารถกำหนดเงื่อนไขการชำระเงิน การส่งสินค้า การกันเงินมัดจำ
โดยมีระบบบล็อกเชนเพื่อความปลอดภัยในเรื่องเอกสารที่มีเพียงใบเดียวไม่มีเกิดการทำซ้ำไม่ว่าจะเป็นการวางบิล การให้เครดิตในการจ่ายเงิน ซึ่งรูปแบบการซื้อขายแบบ B2B จะมีคำสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก เพราะฉะนั้นจะมีเรื่องเงื่อนไขการชำระเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ การมัดจำสินค้าซึ่งต้องมีการกันเงินไว้ในระบบ
กรจึงจับมือกับธนาคารออมสินในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ในการกันเงินเพื่อป้องกันผู้ซื้อโดนผู้ขายผิดนัดในการส่งสินค้า โดยแพลตฟอร์มของเขาระบบจะมีการปล่อยเงินให้อัตโนมัติ ภายใน 4 วัน หลังจากลูกค้ารับสินค้าตรงตามต้องการ
ขณะที่เสาหลักสุดท้ายคือเรื่องโลจิสติกส์ ซึ่งการขนส่งสินค้าของธุรกิจแบบ B2B ไม่สามารถขนส่งที่สั่งแบบชิ้นสองชิ้นตามปกติ บางคำสั่งซื้อเป็นคำสั่งซื้อเพื่อผลิตเป็นหลักหมื่นชิ้น การใช้บริษัทขนส่งขนาดใหญ่ยิ่งจะทำให้ต้นทุนสินค้าแพงยิ่งขึ้น
เขาจึงเลือกจับมือกับบริษัทสัญชาติ 3 แห่ง Flash Express, VIA Link และ WeMove ที่ต่างมีจุดแข็งและความชำนาญในการขนส่งในภูมิภาคต่างๆ ไม่เหมือนกัน Flash Express กำลังแข็งแกร่งในภาคกลาง ViaLink มีความชำนาญในภาคเหนือ ขณะที่ WeMove เป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ไฟแรงที่เพิ่งก่อตั้ง
สร้างลายแทงธุรกิจบนออนไลน์
เมื่อย้อนไปเดือนตุลาคม 2564 หลังการเปิดตัวแพลตฟอร์มมียอดการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม 345 ล้านบาท จากข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2565 มีผู้ซื้อได้ลงทะเบียนในระบบจัดเก็บข้อมูลมากกว่า 2,000 ราย ขณะที่มีซัพพลายเออร์ ซึ่งเป็นผู้ขายในระบบกว่า 100 ราย สะสมสินค้ากว่า 3,000 รายการ (SKU) และมียอดการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มกว่า 1,700 ล้านบาท
ปัจจุบันแพลตฟอร์ม MyWaWa เปิดตัวทำการซื้อขาย ภายในเว็บไซต์แบ่งเป็น 7 หมวดหมู่ ได้แก่ แบบเรียนและอุปกรณ์การศึกษา, อาหารและเครื่องดื่ม, ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์, บ้านและวัสดุก่อสร้าง, เคมี-ยางและพลาสติก, สุขภาพและความงาม และ การพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์สำนักงาน โดยซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่เข้ามาร่วมกับแพลตฟอร์ม อาทิ สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ที่ต้องการเปิดตลาดค้าขายเหล็กในภาคเหนือ หรือ ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ที่ซื้อขายแบบ B2G
แม้เขาต้องเพิ่มจำนวนซัพพลายเออร์ในระบบให้มากขึ้น แต่ปัญหาที่เขาพบคือการให้ความสำคัญกับรูปภาพสินค้าของซัพพลายเออร์โดยเฉพาะซัพพลายเออร์ที่เป็นกลุ่มโรงงาน ทำให้เขาต้องหยุดหาซัพพลายเออร์เข้าหาระบบเพื่อมาสร้างระบบการเรียนรู้การขายของผ่านออนไลน์ ภาพต้องชัด สวย คำบรรยายของสินค้าต้องละเอียด
นอกจากรูปภาพแล้วความรู้ในการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ก็สำคัญ Mywawa ได้ร่วมกับพันธมิตรหลายภาคส่วน อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมในการให้ความรู้ด้านอี-มาร์เก็ตเพลส
“หลังจากที่เราเปิดให้บริการ เราจะเห็นได้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแต่ว่าเขาอาจจะยังไม่มี digital footprint มาก่อน สิ่งที่เราทำให้เขาคือสร้างเครื่องมือให้เขาขยายตลาดให้คนรู้จักมากขึ้นผู้ซื้อหลายๆ รายอยากจะซื้อของที่ผลิตในประเทศไทย
แต่ประเด็นคือพวกเขาไม่รู้ว่าหาซื้อได้ที่ไหน เพราะว่าชิ้นส่วนหรือสินค้าบางอย่างไม่มีในกูเกิ้ล ผู้ซื้ออยากจะซื้อแต่หาผู้ขายไม่เจอซึ่งการซื้อขายระหว่างคนในประเทศยังสะดวกสบายมากกว่าการซื้อสินค้าจากต่างประเทศไม่ต้องกังวล ไม่ต้องลุ้นของสินค้าและยิ่งเป็นซัพพลายเออร์ผู้ผลิตจากโรงงานภายในประเทศยังคุยง่าย สื่อสารด้วยภาษาไทย
แม้สัดส่วนรายได้ของซัพพลายเออร์ที่มาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของเราจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบจากช่องการขายหลักของพวกเขา แต่แพลตฟอร์มของเราก็มีสัดส่วนที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จาก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ”
จากเงินก้อนได้รับจากกงสีและเงินรางวัลจากการเดินสายประกวด MyWawa ใช้เงินลงทุนหลักสิบล้านบาทและเงินส่วนใหญ่ถูกกระจายลงไปในการพัฒนาเทคโนโลยีของแพลตฟอร์ม และปัจจุบันเขายังคงเดินสายประกวดงานสตาร์ทอัพต่างๆ อาทิ การประกวด นิลมังกร ที่จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
สตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะยึดมายเซ็ตในการสร้างธุรกิจที่ “Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward” ซึ่งตัวเขาเองยังได้นำมายเซ็ตดังกล่าวมาใช้และได้อธิบายเพิ่มเติมในนิยามของเขาที่ว่า “ล้มแล้วลุกให้เร็ว ล้มแล้วไม่หมดตัว ล้มไปข้างหน้าคือเรียนรู้”
“นี้คือมายเซ็ตเพื่อการระดมทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มันคงไม่มีทางที่สร้างนวัตกรรมแล้วเปรี้ยง มันต้องล้มเป็น 10 รอบ แต่ในฐานะของเรา เรารู้ว่าล้มอย่างไรให้เจ็บตัวน้อยก็คือการทำ Minimum Viable Product (MVP) หรือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า, การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง, การสร้างโปรเจ็กต์ทดสอบ
เพราะสิ่งที่เราทำคือซอฟต์แวร์ซึ่งดัดแปลงได้เสมอไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ที่ไปซื้อเครื่องจักรพอหยุดใช้งานกลายเป็นเศษเหล็ก อันนี้คือสิ่งที่ผมเรียนรู้ แต่จากมายเซ็ตของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ขาดทุนน้อยที่สุด”
ด้านภาพรวมการแข่งขันของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซแบบ B2B ปัจจุบันมีคู่แข่งที่รายใหญ่ 2 ราย คือ แพลตฟอร์ม Bigthailand จากกลุ่ม SCG และแพลตฟอร์ม Magnet จากแมคโคร กรเสริมว่าการแข่งกับเจ้าใหญ่ที่มีเงินทุนหนาความเร็วในการพัฒนาแพลตฟอร์มเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแข่งขัน
แพลตฟอร์ม MyWaWa เพิ่งเริ่มต้นยังมีหลายสิ่งที่ต้องพัฒนาอีกหลายขั้นตอน กร ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่เขาได้ค้นพบซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของเขาและทีมงานไว้ว่า “ความสำเร็จและฝันของเราคือทำให้ซัพพลายเออร์หรือผู้ประกอบการในประเทศไทยสามารถไปแข่งขันในนานาชาติได้ โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นเป้าหมายและช่องทางจำหน่ายของซัพพลายเออร์คนไทยต่อไป”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์, MyWaWa
อ่านเพิ่มเติม: พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี “Anitech” เชื่อมมิติดิจิทัลไลฟ์สไตล์
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine