ชุดเครื่องแบบนักเรียนท่ามกลางเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ - Forbes Thailand

ชุดเครื่องแบบนักเรียนท่ามกลางเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่

เมื่อกล่าวถึงฤดูกาลแห่งการเปิดภาคการศึกษาใหม่ ภาพหนึ่งในความทรงจำของคนส่วนใหญ่คงไม่พ้นชุดเครื่องแบบนักเรียน อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความเสมอภาค


    แม้กระนั้นชุดนักเรียนก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นต่างๆ ด้วยเช่นกัน ในยุคหนึ่งชุดนักเรียนถูกสวมใส่โดยนักเรียนในสถาบันสำหรับชนชั้นสูง ปัจจุบันธุรกิจชุดและรองเท้านักเรียนมีมูลค่ามหาศาล แต่ผู้ปกครองจำนวนมากกลับเผยว่าชุดนักเรียนสร้างภาระค่าใช้จ่ายไม่น้อยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจผันผวนทั่วโลก

    โรงเรียนในแต่ละประเทศทั่วโลกมีรูปแบบชุดนักเรียนที่แตกต่างกันออกไป และโรงเรียนบางแห่งก็ไม่ได้บังคับการแต่งเครื่องแบบนักเรียน ทั้งหมดสืบเนื่องมาจากการพิจารณาปัจจัยความเหมาะสมต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม


- กำเนิดชุดนักเรียน -


   การสวมใส่ชุดเครื่องแบบสำหรับการศึกษาปรากฏครั้งแรกบนบันทึกย้อนไปในปีคริสต์ศักราชที่ 1222 โดยเป็นชุดคลุมเรียกว่า “Cappa Clausa” สวมใส่โดยนักบวชในศาสนาคริสต์ตามคำสั่งของ Stephen Langton ผู้ดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury) ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของคริสตจักรโรมันคาทอลิก


    สำหรับจุดเริ่มต้นชุดนักเรียนสมัยใหม่ ก็ยังคงเป็นประเทศอังกฤษ แต่ล่วงเลยมาในปีค.ศ. 1552 ณ โรงเรียนประจำ Christ s Hospital อันเป็นโรงเรียนการกุศล (Charity School) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อมอบการศึกษาแก่เด็กที่ “กำพร้าบิดาและยากจน (fatherless and poor)”

    ชุดเครื่องแบบของโรงเรียนดังกล่าวประกอบไปด้วยเสื้อคลุมชั้นนอกสีน้ำเงินและถุงเท้าสีเหลืองโดดเด่น สันนิษฐานว่าเพราะสีย้อมสองสีนี้มีราคาถูก สามารถแยกนักเรียน Christ s Hospital ออกจากโรงเรียนอื่นได้ง่าย และเพื่อให้ผู้สวมใส่สำนึกในหน้าที่แห่งการศึกษา ซึ่งต้องขอบคุณความกรุณาจากชาวเมืองลอนดอนในการสนับสนุนเสื้อผ้าดีๆ แก่เด็กๆ

    อย่างไรก็ตาม โรงเรียนส่วนใหญ่ยังคงไม่มีชุดนักเรียน จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 บรรดาโรงเรียนรัฐบาลสำหรับชนชั้นสูงเริ่มเข้มงวดกับเครื่องแต่งกาย ชุดเครื่องแบบนักเรียนจึงถือกำเนิดขึ้นโดยอ้างอิงจากชุดที่เด็กๆ ชนชั้นสูงมักสวมใส่กัน ตัวอย่างโรงเรียนมีชื่อเสียงเก่าแก่ในแวดวงชนชั้นสูงที่มีชุดเครื่องแบบคือวิทยาลัยอีตัน (Eton College) ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมชายล้วน


    นอกจากประเทศอังกฤษแล้ว ยังมีประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่ใช้ชุดเครื่องแบบนักเรียนเช่นกัน แม้จะไม่เข้มข้นเท่า มักเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาและชนชั้น ส่วนสาเหตุสำคัญที่ชุดเครื่องแบบนักเรียนถูกเผยแพร่ไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งตะวันตกและตะวันออกคือการขยับขยายอิทธิพลของชาติมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม


- จากตะวันตกสู่สยาม -


   แน่นอนว่าอิทธิพลจากการล่าอาณานิคมได้แผ่ขยายมาถึงประเทศไทย นำมาสู่การกำหนดชุดเครื่องแบบนักเรียนครั้งแรก ณ ดินแดนขวานทองแห่งนี้

    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงริเริ่มนำแนวคิดและค่านิยมแบบตะวันตกเข้าสู่สยาม เพื่อให้ประเทศพัฒนาทัดเทียมชาติตะวันตก มีความเป็นสากลมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการศึกษา เมื่อปีพุทธศักราช 2428 ทรงก่อตั้งโรงเรียนหลวงและโรงเรียนสำหรับสามัญชนขึ้น และทรงมีพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียนออกมาบังคับใช้


    ชุดเครื่องแบบนักเรียนชายไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 จะมีหมวกฟาง เสื้อราชปะแตนสีขาว ดุมทอง กางเกงรูเซียสีดำ ถุงเท้าสีขาวหรือดำ และรองเท้าสีดำ อย่างไรก็ตามในสมัยนั้นถุงเท้าเป็นสินค้าราคาแพง นักเรียนจึงไม่ได้สวมถุงเท้ากันทุกคน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการให้นักเรียนตามหัวเมืองเปลี่ยนเป็นเสื้อราชปะแตนสีเทาแทนเพราะทำความสะอาดง่ายกว่า หลังจากนั้นชุดนักเรียนไทยก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา รวมถึงการก่อตั้งโรงเรียนสตรีและกำหนดเครื่องแบบสำหรับนักเรียนหญิง

    ชุดนักเรียนไทยมีหลากหลายรูปแบบตามประเภทของโรงเรียน ระดับชั้น และพื้นที่ กระทั่งปี 2492 จึงมีการยกเลิกการแบ่งแยกเครื่องแบบตามประเภทโรงเรียน ก่อนจะมีระเบียบที่เข้มข้นขึ้นตามมาเรื่อยๆ สำหรับชุดนักเรียนไทยในปัจจุบันยึดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551



- ธุรกิจชุดเครื่องแบบนักเรียนไทย -


   เมื่อมีสิ่งของที่ต้องใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ย่อมหมายถึงโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ค้าขาย จากข้อมูลปี 2563 ตลาดเครื่องแบบนักเรียนไทยมีมูลค่านับหมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นตลาดชุดนักเรียนกว่า 7 พันล้านบาท และตลาดรองเท้านักเรียน 5 พันล้านบาท มีผู้เล่นในตลาดราว 190 ราย

    สำหรับชุดนักเรียนไทยมีอยู่ 3 แบรนด์เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองตลาดมายาวนาน และมีข้อมูลด้านการเงินประจำปีล่าสุดคือปี 2565 อ้างอิงจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดังนี้

    แบรนด์แรกคือ "สมใจนึกเทเวศร์" ที่อยู่คู่นักเรียนไทยมากว่า 60 ปี ก่อตั้งขึ้นจากธุรกิจครอบครัวตระกูลอมรวัฒนาในปี 2498 และได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. สมใจนึกเทเวศร์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2516 รายได้รวมปีล่าสุดอยู่ที่ 4.86 ล้านบาท กำไรสุทธิ 345,896.15 บาท

    แบรนด์ถัดมาเป็นเจ้าของสโลแกนติดหู “ใส่เลย ไม่ต้องคิด ชุดน้อมจิตต์ ฮิตได้เลย” หรือ "ชุดนักเรียนน้อมจิตต์" ซึ่งก่อตั้งในปี 2505 โดย สุมิตรและน้อมจิตต์ จิตรมีศิลป์ เริ่มจากร้านขายเสื้อผ้าทั่วไป แต่ด้วยเหตุชุดนักเรียนไม่เพียงพอต่อตลาดในสมัยนั้น น้อมจิตต์จึงเริ่มต้นผลิตชุดนักเรียน ปีล่าสุดบริษัท น้อมจิตต์ แมนนูแฟกเจอร์ริ่ง จำกัดมีรายได้รวม 83.06 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.72 ล้านบาท

    แบรนด์ที่สามคือ "ตราสมอ" เจ้าของสโลแกนสั้นกระชับ “ใส่สมอ เท่เสมอ” กับโลโก้รูปสมอเรือสื่อถึงความมั่นคงแข็งแรงดังเช่นที่สมอทอดลงทะเลคอยยึดเรือไม่ให้สั่นคลอน ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2500 โดย กิตติ และลักษมณ์สุนีย์ ศิริปทุมมาศ ปัจจุบันบริษัท สมอทอง การ์เมนท์ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดนักเรียนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยสินทรัพย์รวม 353.99 ล้านบาท รายได้รวม 437.15 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 10.23 ล้านบาท

    ฝั่งรองเท้านักเรียนเองก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน รายหนึ่งคือ บริษัท เอส.ซี.เอส. ฟุตแวร์ จำกัด ผู้ดูแลแบรนด์รองเท้านักเรียนหญิงชั้นนำอย่าง POPTEEN และ CATCHA ที่มีการออกแบบรองเท้านักเรียนให้มีลูกเล่นน่ารักเอาใจสาวๆ ทั้งวัยเด็กและวัยรุ่น รวมถึงแบรนด์รองเท้านักเรียนชายและรองเท้าผ้าใบ Breaker ที่นำเสนอความเท่และทนทาน ทั้งยังมีการสกรีนชื่อบนรองเท้าแก้ปัญหารองเท้าหายอย่างมีสไตล์อีกด้วย ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัท เอส.ซี.เอส. ฟุตแวร์ จำกัด สร้างรายได้รวม 298.18 ล้านบาท

    อีกหนึ่งผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้านักเรียนและรองเท้าผ้าใบสุดคลาสสิกคือ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของแบรนด์นันยางที่เน้นด้านคุณภาพกับราคาที่เข้าถึงง่าย ล่าสุดยังมีแคมเปญ BULLY NO MORE กับคำขวัญ “ย่ำให้เต็มที่ แต่ไม่ย่ำยีใคร” เพื่อแสดงจุดยืนและสนับสนุนการต่อต้านปัญหากลั่นแกล้งในโรงเรียน ซึ่งในปีล่าสุดก็สร้างรายได้รวม 1,304 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 37.18 ล้านบาท


- เมื่อการศึกษาคือการลงทุน -


    ธุรกิจชุดเครื่องแบบนักเรียนไทยใหญ่โตหลักหมื่นล้านก็จริง ทว่าผู้ปกครองจำนวนมากกลับกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจสืบเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับชุดนักเรียนกลายเป็นภาระสำหรับหลายครอบครัว

    อ้างอิงรายงานจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ค่าใช้จ่ายครัวเรือนประจำเดือนพฤษภาคม 2566 ของไทยอยู่ที่ 18,203 บาทต่อเดือน ซึ่งแม้จะลดลงจากเดือนเมษายน ก็ยังถือว่าสูงอยู่ โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นเรื่องของที่พักอาศัย ค่าเดินทาง พลังงาน และอาหาร

   จากข้อมูลการลงพื้นที่สำรวจของทีมข่าวคมชัดลึกเกี่ยวกับราคาชุดนักเรียนในปี 2566 พบว่าราคาชุดนักเรียนมัธยมไทยอยู่ที่ราว 527-2,131 บาทสำหรับนักเรียนหญิง และ 498-2,016 บาทสำหรับนักเรียนชาย แปรผันตามคุณภาพของวัสดุที่ใช้และแบรนด์ชุด นอกจากชุดนักเรียนแล้ว บรรดาผู้ปกครองยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อรองเท้า กระเป๋า และอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ อีกไม่น้อย

    เรียกได้ว่าการศึกษาคือการลงทุนราคาแพง และเรื่องของค่าใช้จ่ายนี้เองเป็นหนึ่งในประเด็นของคำถามอันเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับความจำเป็นของชุดเครื่องแบบนักเรียน ไม่เพียงแค่ไทยเท่านั้น ราคาชุดนักเรียนยังเป็นปัญหาในอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในโรงเรียนรัฐบาลที่ครอบครัวนักเรียนมาจากชนชั้นทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

    ยกตัวอย่างเช่น 78% ของครอบครัวในประเทศอินเดียมองว่าชุดนักเรียนมีราคาแพง ประเทศออสเตรเลียมีรายงานผลสำรวจว่าผู้ปกครอง 68% ต้องดิ้นรนเพื่อค่าชุดนักเรียนซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 303 เหรียญออสเตรเลีย ยังไม่รวมค่ารองเท้าและหมวก ประเทศที่ได้ชื่อว่าการศึกษาดีติดหนึ่งในสิบของโลกอย่างเนเธอร์แลนด์ผู้ปกครองถึง 75% เชื่อว่าชุดนักเรียนมีราคาสูงเกินไป

    กระทั่งประเทศต้นกำเนิดชุดนักเรียนอย่างอังกฤษ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ข้าวของต่างๆ ราคาแพงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดนักเรียนก็กลับกลายเป็นภาระให้กับหลายครอบครัว โดยในสหราชอาณาจักรราคาชุดนักเรียนและชุดพละรวมกันอยู่ที่ราว 101.19 ปอนด์ต่อคน ส่วนประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ราคาชุดนักเรียนมาตรฐานอยู่ในช่วง 25-250 เหรียญสหรัฐฯ ขึ้นกับคุณภาพวัสดุและร้านที่ขาย หากเป็นโรงเรียนที่มีชุดเครื่องแบบเฉพาะตัวราคาจะเพิ่มมาเป็น 100-500 เหรียญเลยทีเดียว

    ประเทศที่ให้ความสำคัญกับเครื่องแบบอย่างประเทศญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายสำหรับชุดนักเรียนก็เป็นภาระไม่น้อย ด้วยนักเรียนญี่ปุ่นมีเครื่องแบบฤดูร้อน ฤดูหนาว และชุดพละ ทั้งหมดรวมกันมีราคาสูงถึง 100,000 เยน

- ชุดนักเรียน ไปต่อหรือพอแค่นี้ -


    ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ กอปรกับความเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และบริบทของสังคมในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป นำมาสู่กระแสให้มีการยกเลิกชุดเครื่องแบบนักเรียน ตัวอย่างเช่น การที่สังคมตระหนักถึงการมีตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เครื่องแบบนักเรียนที่บังคับให้แต่งตามเพศกำเนิดเท่านั้นจึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของคนกลุ่มนี้ ไหนจะยังอาชญากรรมทางเพศที่มีเหยื่อเป็นนักเรียน เด็กสาวในสหราชอาณาจักร 35% เผยว่าพวกเธอเคยโดนคุกคามทางเพศในที่สาธารณะโดยตอนนั้นพวกเธออยู่ในชุดนักเรียน

    ส่วนประเทศฝรั่งเศสยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบโรงเรียนรัฐบาลไปตั้งแต่ปีค.ศ.1968 แม้จะมีการทบทวนเรื่องนำชุดเครื่องแบบนักเรียนกลับมาหลายครั้งก็ยังถูกปฏิเสธมาตลอด ล่าสุดคือการประชุมสมัชชาแห่งชาติเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการเสนอให้นำชุดนักเรียนกลับมาโดยชี้ถึงการแข่งขันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาแพงและแรงกดดันจากกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ตามเสียงส่วนใหญ่ปฏิเสธข้อเสนอนี้

    Alexis Corbiere ส.ส.จากพรรคฝ่ายซ้าย LFI กล่าวว่าปัญหาแท้จริงคือการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และชี้ว่าครอบครัวอภิสิทธิ์ชนหลายครอบครัวเลือกส่งลูกๆ เข้าโรงเรียนเอกชน “การใส่เสื้อและกระโปรงเหมือนๆ กันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด”

    อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกระแสยกเลิก ย่อมต้องมีกระแสปกป้อง ฝั่งผู้สนับสนุนให้มีชุดเครื่องแบบนักเรียนก็พยายามชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของชุดนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมด้านชนชั้น เพราะนักเรียนจากบ้านที่มีฐานะทางการเงินร่ำรวยหรือยากจนก็ต้องสวมชุดเครื่องแบบเดียวกัน ชุดนักเรียนช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมโรงเรียน ทั้งยังเน้นย้ำให้ผู้สวมใส่ตระหนักถึงหน้าที่นักเรียน และเหตุผลอื่นๆ ซึ่งยังคงเป็นที่โต้แย้งกันอยู่

    ตัวอย่างการคงไว้ซึ่งชุดนักเรียนที่น่าสนใจคือประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ชุดนักเรียนมีความผูกพันกับวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งแห่งนี้ค่อยๆ เปิดกว้างเรื่องเครื่องแบบนักเรียนมากขึ้น มีการอนุญาตให้นักเรียนหญิงสามารถสวมกางเกงเพื่อความคล่องตัว เช่นเดียวกับนักเรียน LGBTQ+ ที่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพของตนได้ โรงเรียนในจังหวัดโออิตะมีตัวเลือกชุดนักเรียนทั้งเบลเซอร์ กางเกงสแล็ก กางเกงขาสั้น และกระโปรง

    Tombo ผู้ผลิตชุดนักเรียนในประเทศญี่ปุ่นเผยว่า ลูกค้าโรงเรียนของพวกเขาที่อนุญาตให้นักเรียนสวมใส่ชุดเครื่องแบบไม่จำกัดเพศสภาพนั้นเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 360 แห่งในปี 2018 เป็น 1,000 แห่งในปี 2021 บริษัทคู่แข่งอย่าง Kanko ก็รายงานตัวเลขชุดเดียวกัน และมีบันทึกว่าลูกค้าโรงเรียนที่อนุญาติให้นักเรียนหญิงสวมกางเกงสแล็กได้พุ่งทะยานจากเพียง 49 แห่งในปี 2018 สู่ 832 แห่งในปี 2023



    จังหวัดโออิตะยังมีแนวทางบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายชุดนักเรียนสำหรับผู้ปกครอง คือชุดเครื่องแบบใหม่ที่สามารถสวมใส่ได้ทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว ทำให้ไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อเครื่องแบบหลายชุด

    นอกจากนี้เมืองฮิตะในจังหวัดเดียวกันนั้นยังให้ทางเลือกแก่ผู้ปกครองที่มีเด็กๆ เรียนชั้นอนุบาลในการเช่าชุดนักเรียนแทนการซื้อ ราคาอยู่ที่ 500 เยนต่อเดือน เมื่อเด็กตัวโตขึ้นก็สามารถเปลี่ยนไซซ์ที่สวมใส่ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม การเช่าชุดนั้นสามารถช่วยประหยัดเงินได้จริง ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าวว่า การใช้บริการเช่าชุดนักเรียนรายเดือน ผู้ปกครองจะเสียเงินราว 18,000 เยนต่อนักเรียนหนึ่งคนตลอดสามปี ตรงกันข้ามหากซื้อชุดนักเรียนเองเลยอาจเสียเงินราว 30,600 เยน

    นับเป็นกรณีศึกษาที่คู่ควรนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยหากยังคงยืนกรานจะมีชุดเครื่องแบบนักเรียนต่อไป เพราะตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สภาพสังคมและเศรษฐกิจไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงควรปรับเปลี่ยนข้อกำหนดต่างๆ หรือรูปแบบของชุดนักเรียนให้สอดรับกับยุคสมัยและสภาพสังคมที่ผันแปรไปตามกาลเวลา หรือหากเลือกจะยกเลิกชุดนักเรียน ก็ควรมีกติกาด้านการแต่งกายที่เหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาด้วยเช่นกัน


อ้างอิงข้อมูลจาก burgon.org.uk, school-uniforms.procon.org, christs-hospital.org.uk, christs-hospital.org.uk, simplyschooluniform.co.uk, www.thepeople.co, mahachon.net,
facebook.com/museumsiamfan, www.rfi.fr, pptvhd36.com, longtunman.com, france24.com, yougov.co.uk, theconversation.com, unseenjapan.com, komchadluek.net, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, bangkokbiznews.com



อ่านเพิ่มเติม : จุดนัดฝัน รวิวร-กิตติพงษ์ MEB เปิดโลกหนังสือออนไลน์


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine