จุดนัดฝัน รวิวร-กิตติพงษ์ MEB เปิดโลกหนังสือออนไลน์ - Forbes Thailand

จุดนัดฝัน รวิวร-กิตติพงษ์ MEB เปิดโลกหนังสือออนไลน์

ความรักในตัวอักษรของคู่ซี้นักอ่านที่ต่อยอดธุรกิจจากความสนใจเริ่มต้นกิจการสำนัก พิมพ์และซอฟต์แวร์เติมเต็มดีมานด์สู่สตาร์ทอัพร้านหนังสือออนไลน์ เพิ่มพื้นที่ให้นักเขียนได้ ปล่อยของบนแพลตฟอร์ม meb และ readAwrite พร้อมปลดล็อกขีดจำกัดบริษัทมหาชนระดมทุนขยายฐานพันล้านข้ามพรมแดน


    การจับมือก่อตั้งธุรกิจของเพื่อนสนิทในรั้วจามจุรีที่เคยทำงานร่วมกันในกิจกรรมชมรมและกิจกรรมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์และความสนใจอ่านหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์เป็นจุดเชื่อมเส้นทางการทำงานสู่คู่คิดทางธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รับทำโฆษณา คอมพิวเตอร์กราฟิก และสำนักพิมพ์ พร้อมบุกเบิกร้านหนังสือออนไลน์ร่วมกันระหว่าง รวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการบริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MEB  

    “ตั้งแต่สมัยเรียนมหาลัยได้ทำกิจกรรมมาด้วยกันซึ่งเป็นการทำเพราะใจรัก ไม่มีผลประโยชน์เรื่องเงินทอง ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องฝืนใจทำให้ได้รู้จักนิสัยใจคอจริง โดยหลังจากแยกย้ายกันคุณโก๋ (กิตติพงษ์) ทำงานบริษัท ส่วนผมเรียนปริญญาโท เมื่อมีจังหวะก็มาเปิดบริษัทร่วมกันจึงเป็นเรื่องง่าย ซึ่งผมเป็นลูกคนที่ 5 และลูกชายคนที่ 2 สำหรับธุรกิจคนจีนขายผ้าแถวสำเพ็งจึงไม่ต้องรับความหวังเท่ากับลูกชายคนแรกทำให้เราสามารถเปิดบริษัทของตัวเองได้อิสระ โดยขณะนั้นเราไม่ได้แค่คิดว่าจะทำอะไรแต่คิดด้วยว่าจะทำกับใครและถ้าเรือรั่วกลางทะเลใครจะช่วยเราวิดน้ำ” 

    รวิวรเล่าถึงช่วงเวลาที่ศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุนการศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระหว่างทางยังติดต่อพูดคุยและทำงานร่วมกับกิตติพงษ์อย่างต่อเนื่อง เช่น การรับทำวีดีโอพรีเซนเทชันและสื่อบันเทิงต่างๆ จนกระทั่งมั่นใจในการผนึกกำลังก่อตั้งธุรกิจด้วยกันเต็มตัว  



    ขณะที่กิตติพงษ์ได้ใช้ความสามารถและทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์กอบกู้ธุรกิจร้านถ่ายรูปของครอบครัวที่เผชิญวิกฤตการเงินปี 2540 และภาระหนี้สินจำนวนมากทำให้ตัดสินใจออกจากการพนักงานประจำที่เริ่มต้นได้เพียง 3 เดือน เพื่อก่อตั้งบริษัทจำหน่ายซอฟต์แวร์แต่งภาพให้ร้านถ่ายรูปในประเทศและได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลกจนกระทั่งช่วยให้ครอบครัวก้าวผ่านปัญหาหนี้สินธุรกิจได้สำเร็จ   

    “สมัยเรียนเราอยู่ชมรมทำเกี่ยวกับ entertainment หลังจบออกมายังทำแนวนี้อยู่ร่วมกับไช้ (รวิวร) แต่ยังไม่ได้เปิดบริษัท ซึ่งผมทำงานประจำได้แค่ 3 เดือนก็ต้องลาออกมาช่วยครอบครัวปลดหนี้กิจการร้านถ่ายรูปจากวิกฤตปี 2540 และธุรกิจ sunset เพราะเป็นลูกคนจีนจึงมองเป็นความรับผิดชอบของเราที่ต้องพาครอบครัวให้รอดด้วย ถ้าเรายังทำงานรับเงินเดือนอยู่คงไม่สามารถใช้หนี้ได้หมด โดยเราคุยกับคุณพ่อเกี่ยวกับ pain point ของร้านถ่ายรูปและลงทุนแบบหมดหน้าตักเปิดบริษัทซอฟต์แวร์แต่งรูปขายได้ทั่วโลก ซึ่งช่วงที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนจากต้นทุนติดลบและทำงานรับเงินเดือนไม่พอทำให้รู้ว่าเราไม่เคยมี safe zone เราต้องล่องเรือหา one piece เท่านั้น” 




กลับมุมคิดพลิกวิกฤตสิ่งพิมพ์ 

    แม้ซอฟต์แวร์แต่งรูปของกิตติพงษ์จะได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดของกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้งานเฉพาะร้านถ่ายรูปหรือใช้ในธุรกิจเป็นหลักส่งผลให้ยอดขายของบริษัทเริ่มชะลอตัวลงในจังหวะที่รวิวรสำเร็จการศึกษาปริญญาโทจึงชักชวนกันเปิดสำนักพิมพ์ควบคู่กับการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์สำหรับสนับสนุนธุรกิจสำนักพิมพ์ เช่น โปรแกรมตรวจคำผิดโปรแกรมจัดเรียงหน้าภายใต้ชื่อ บริษัท เอเอสเค มีเดีย จำกัด ในเดือนพฤษภาคม ปี 2546  

    “การเปิดบริษัทรับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์อาจจะไม่แปลกในยุคนั้น แต่เพราะผู้บริหารรักการอ่านหนังสืออย่างคุณโก๋เป็นหนอนหนังสือตัวเป้ง เราจึงเปิดสำนักพิมพ์เพราะต้องการทำในสิ่งที่รัก โดยเน้นการตีพิมพ์นิยายวิทยาศาสตร์หนังสือแปลแนว Sci-fi ซึ่งไม่ค่อยมีการแปลเป็นภาษาไทยทั้งที่เป็นหนังสือที่ดีมากจนถึงจุดหนึ่งธุรกิจของเราเริ่มชะลอตัวเราจึงต้องกลับมาทบทวนว่าจะไปต่อหรือพลิกหาทางอื่น โดยในที่สุดเราก็เลือกหยุดธุรกิจดั้งเดิมทั้งหมดและเริ่มต้นใหม่” รวิวรกล่าว  

    ทันทีที่ตัดสินใจปิดตัวสำนักพิมพ์ รวิวรและกิตติพงษ์ได้ทุ่มเทพัฒนาแพลตฟอร์มจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เป็นเวลาปีกว่าจนสามารถเปิดตัว meb ในปี 2554 โดยเจาะกลุ่มนักเขียนอิสระหรือกลุ่มหนังสือทำมือที่มีข้อจำกัดจำนวนการพิมพ์ ซึ่งยังมีกลุ่มนักอ่านที่ต้องการซื้อแต่ไม่มีหนังสือจำหน่ายหรือกลุ่มนักอ่านในต่างประเทศที่ไม่สามารถซื้อหนังสือในประเทศไทยได้   

    “ยุคนั้น E-Book ในเมืองไทยเป็นตลาดที่ถูกมองข้าม ซึ่งสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ยังเป็นหนังสือกระดาษที่มีการเติบโตสูงในปี 2554 ที่เปิดตัวแต่เราก็ทุ่มสุดแรงเพื่อเป็นพื้นที่ให้สำนักพิมพ์หรือนักเขียนตัวเล็กๆ ได้มีทางเลือกสำหรับปล่อยผลงานและได้ส่วนแบ่งรายได้ที่เหมาะสม โดย ชื่อ meb มาจากภาษาวัยรุ่นสมัยนั้นว่า เมพขิงๆ ผสมกับ Mobile E-Book ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของเราที่อยากได้คำสั้นๆ ให้จดจำได้ง่าย”  

    รวิวรกล่าวถึงวันแรกในการเปิดตัว meb ที่สามารถจำหน่ายหนังสือได้ราว 11-14 เล่ม จากทั้งหมด 70 เล่ม โดยใช้วิธีการแนะนำบอกต่อระหว่างกลุ่มนักเขียนและนักอ่านจนกระทั่งธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และได้รับความสนใจจาก บริษัท บีทูเอส จำกัด เข้าร่วมลงทุนพร้อมก่อตั้ง บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในวันที่ 28 กุมกาพันธ์ ปี 2557 ซึ่งภายหลังได้เข้าไปเป็นบริษัทในเครือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC  

    ขณะที่การเติบโตของบริษัทยังได้รับปัจจัยบวกจากความนิยมการใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตหน้าจอขนาดใหญ่ที่ราคาสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นช่วยให้การอ่าน E-Book สะดวก ง่ายดายมากขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ทำให้หนังสือชำรุดเสียหายจำนวนมาก โดยนักอ่านจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบและเริ่มให้ความสนใจการเก็บหนังสือในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น พร้อมกับการพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ช่วยให้การดาวน์โหลดข้อมูลอินเทอร์เน็ตรวดเร็วขึ้น 

    “พัฒนาการของเราแบ่งออกเป็นช่วงเปิดตัวที่ยังไม่มีใครรู้จัก โดยเราเริ่มจากชวนนักเขียนอิสระและติดต่อสำนักพิมพ์ที่มีขนาดไม่ต่างจากเรามากนักเพื่อให้เขาเปิดใจให้โอกาสเรา เมื่อมีลูกค้ามากขึ้นเสียงเราก็ดังถึงสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ขึ้นในจังหวะที่เซ็นทรัลหรือ B2S เข้ามาลงทุน เพราะเขาต้องการหา long term partner และช่วยเราผลักดันให้สำนักพิมพ์นำผลงานมาขายกับเราเพิ่มขึ้น” รวิวรกล่าว  

    ปัจจุบันบริษัทสามารถก้าวเป็นผู้นำการประกอบธุรกิจจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Book ในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 จากราย ได้รวมมากกว่า 1.7 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 331 ล้านบาทในปี 2565 โดยธุรกิจจำหน่ายหนังสือ E-Book ของบริษัทดำเนินการผ่านช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้แก่ แพลตฟอร์ม meb จำหน่ายวรรณกรรมออนไลน์ และแพลตฟอร์ม readAWrite ซึ่งผู้ใช้งานสามารถโพสต์เนื้อหาได้เอง (User Generated Content หรือ UGC)   

    ”readAwrite เกิดขึ้นช่วงที่ meb เป็นแพลตฟอร์ม E-Book แถวหน้าของเมืองไทยแล้วและเรากลับมาทบทวนถึงจิ๊กซอว์ธุรกิจที่ควรจะมี โดยเราระลึกได้ว่า meb เปรียบได้กับปลายน้ำของสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ถ้าอนาคตทางน้ำเปลี่ยนทิศอาจจะทำให้ธุรกิจหลักของเราได้รับผลกระทบ ดังนั้นเราจึงพัฒนา readAwrite ขึ้นมาจนกลายเป็นแพลตฟอร์มการเขียนการอ่านออนไลน์แถวหน้าของไทยควบคู่กับ meb” รวิวรกล่าว  

    นอกจากนั้น บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดจำหน่ายอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Reader) ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงการให้บริการระบบห้องสมุด หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Library) สําหรับองค์กร หรือ Hibrary โดยดำเนินงานผ่านบริษัท ไฮ เท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โดยผู้ใช้บริการสามารถสร้างห้องสมุดดิจิทัลของตัวเองและเผยแพร่วรรณกรรมให้บุคลากรในองค์กร ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน และโรงพยาบาล เป็นต้น   

    “รายได้ส่วนใหญ่มาจาก meb มากกว่า 70% ถัดมาเป็น readAwrite ซึ่งเป็น rising star เพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนที่เหลือเป็น E-Library หรือขาย device ซึ่งธุรกิจส่วนนี้เรามองว่าเราขาดจิ๊กซอว์ device อ่าน E-Book และให้เขาทำ E-Library ด้วย ส่วนอนาคตรายได้จะปรับเปลี่ยนอย่างไรเรามองภาพที่ควรจะเป็นมากกว่าตัวเลข และเน้นการทำให้ดีที่สุด 

    ซึ่งท้ายสุดผลลัพธ์จะออกมาดีเอง อย่าง readAwrite ช่วงแรกเราเปิดเพราะต้องการให้เป็นสังคมของนักอ่าน นักเขียน โดยเริ่มจากระบบ donate ให้ค่าขนมนักเขียนก่อนค่อยเพิ่มการขายรายตอน แต่ก็ไม่ใช่ตัวหลัก ซึ่งเราต้องการเสริมสร้างนักเขียนหน้าใหม่ให้มีพื้นที่โดยสุดท้ายรายได้ก็ตามมาเอง” กิตติพงษ์ย้ำในจุดยืนการทำธุรกิจ 


เล็งโอกาสนักอ่านทั่วโลก 

    บนความมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจสร้างโอกาสให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ได้มีทางเลือกนำเสนอผลงานในฐานะนักอ่านตัวยงยังเข้าใจผู้ใช้งานที่ต้องการความเชื่อมั่นในการซื้อหนังสือออนไลน์ทั้งแพลตฟอร์มที่มีความเสถียรภาพความปลอดภัยในการชำระเงินและความมั่นคงของระบบ โดยเฉพาะการเก็บรักษาหนังสือที่อาจสูญหายหากบริษัทปิดตัวลงหรือไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้  

    ดังนั้น บริษัทจึงเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการมากขึ้นด้วยการแปรสภาพเป็นมหาชน จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) พร้อมนำเงินระดมทุนขยายธุรกิจเพิ่มเนื้อหาวรรณกรรมไลน์ในแพลตฟอร์มรวมทั้งขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องและธุรกิจในต่างประเทศ พร้อม ปรับปรุงพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้นและเงินทุนหมุนเวียนกิจการ  

    นอกจากนั้น บริษัทยังเล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์การเพิ่มวรรณกรรมที่หลากหลาย ทั้งวรรณกรรมออนไลน์ที่ยอดขายเติบโตสูง การร่วมธุรกิจกับ exclusive partner แปลเป็นไทยและจัดจำหน่ายในประเทศแต่เพียงผู้เดียว การซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมต่างประเทศที่ได้รับความนิยมรวมถึงใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อคัดเลือกหนังสือที่สอดคล้องกับแต่ละบุคคลพร้อมพิจารณาโอกาสการต่อยอดธุรกิจผ่านการร่วมทุนหรือเข้าซื้อกิจการสร้างการเติบโตในระยะยาว  

    ขณะเดียวกันบริษัทยังให้ความสำคัญกับเจ้าของผลงานที่เป็นพันธมิตรทางการค้าของบริษัท โดยเน้นความน่าเชื่อถือยุติธรรมและมีเหตุผล ทำให้ได้รับความไว้วางใจในการวางจำหน่ายวรรณกรรมบนแพลตฟอร์มของบริษัท พร้อมลดขั้นตอนการสมัครเป็นนักเขียน ขั้นตอนการนำวรรณกรรมจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม การสร้างระบบที่เจ้าของผลงานสามารถตรวจสอบ ยอดขายและสถิติได้ด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์ม 

    “เรามุ่งมั่นเพิ่มคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์นักอ่านเก่าที่ใช้บริการของเราและนักอ่านใหม่ให้มาลองเป็นลูกค้า E-Book ในอนาคต โดยคาดหวังการเติบโตระดับ 2 หลัก ด้วยความเชื่อมั่นใน meb ว่าเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานดี เราเติบโตด้วยรากฐานของธุรกิจ ไม่มีการกู้ยืมเงิน ไม่มีหนี้และมีกระแสเงินสดที่ดี เป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัลที่สลักหลังความมั่นคงตั้งแต่ตัวเอง ผู้ถือหุ้น และพาร์ตเนอร์ของเรา 

    ด้วยจิตวิญญาณของผมและคุณโก๋มีความเป็นผู้ก่อตั้งทั้งคู่เหมือนมังกร 2 หัวช่วยกันคิดและหารือกันกับผู้บริหารหรือทีมงานของเราด้วย เพราะระดับขั้นไม่มากทำให้สามารถตอบสนองสถานการณ์หรือปัญหาต่างๆ ได้ดี ซึ่งบางครั้งเราอาจจะเห็นต่างกันแต่เราคุยกันแบบสร้างสรรค์ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการทำให้บริษัทเติบโต” รวิวรกล่าว  

    สองผู้ก่อตั้งวัย 42 ปี ยังแสดงความเห็นสอดคล้องกันเกี่ยวกับการทำธุรกิจร่วมกับเพื่อน โดยระหว่างทางอาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันหรือใช้วิธีการแตกต่างกันแต่หากมองเป้าหมายเดียวกันในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจมากกว่าความต้องการเอาชนะหรือความชอบส่วนตัวในที่สุดจะสามารถหาบทสรุปที่ลงตัวหรือผสมผสานวิธีการพัฒนาธุรกิจร่วมกันได้  

    “แม้เราจะเป็นมหาชนแล้ว แต่เรายังทำธุรกิจด้วยหัวใจสตาร์ทอัพไม่ได้ติดอยู่กับความสำเร็จ เรายังเข้มข้นกับการบริหารและทำงานอยู่ตลอดซึ่งในอนาคตถ้าเราจะทำอะไรใหม่ก็คงจะอยู่ภายใต้ meb โดยพวกเรายังมีพลังอย่างเต็มเปี่ยมที่จะพา meb ขยายกิ่งก้านออกไปได้อีกมาก ด้วยเป้าหมายเดียวกันในการทำให้ meb เป็นบริษัทที่เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง 

    ถ้าผมไม่อยู่บริษัทนี้ก็ยังอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและเป็นหลักยึดของธุรกิจแพลตฟอร์มหรือวงการหนังสือในเมืองไทยซึ่งการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมคิดว่าเราผ่าน milestone แรกไปแล้ว และตอกย้ำว่าคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีต้นทุน นามสกุลไม่ใหญ่ สามารถเริ่มจากศูนย์และมาถึงจุดนี้ได้ ดังนั้น meb อาจจะเป็นความหวังเล็กๆ ให้กับคนที่กำลังสิ้นหวังว่า พวกคุณสามารถสร้างความสำเร็จขึ้นได้” รวิวรกล่าวปิดท้าย 


ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง 



อ่านเพิ่มเติม: “Destination” by Gary Murray สีสันสดใหม่ Hospitality & Food


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine