แกะรอยที่มาของเงินบาทแข็งค่าและมุมมองในระยะต่อไป - Forbes Thailand

แกะรอยที่มาของเงินบาทแข็งค่าและมุมมองในระยะต่อไป

ในปีนี้ เราเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่างจากมุมมองในช่วงต้นปีที่เราคาดจะเห็นเงินบาทค่อยๆ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในตอนนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากต้นปีกว่า 7.5% ซึ่งถือเป็นระดับที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น เราจึงจะแกะรอยที่มาของเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งวิเคราะห์ทิศทางค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะต่อไป

อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลอื่นๆ เทียบกับต้นปี ที่มา Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, และธนาคารกสิกรไทย การเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่มา Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, และธนาคารกสิกรไทย
  เมื่อค่าเงินบาทนั้นแลกเปลี่ยนกับดอลลาร์ การติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เราจึงจำเป็นต้องติดตามการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ควบคู่กันไปด้วย เช่นในปีนี้ ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงนั้นมีอิทธิพลต่อเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมาก โดยดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวลงถึง 9.6% เมื่อเทียบกับต้นปี ซึ่งต่างจากภาพในช่วงที่ปลายปีที่แล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนายโดนัล ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เพราะนายทรัมป์ได้ให้สัญญาในช่วงหาเสียงว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ จำนวนมาก ทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้จะเฟื่องฟูอย่างมาก แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนเกือบจะถึงไตรมาสสุดท้ายของปี นายทรัมป์กลับยังไม่สามารถออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นชิ้นเป็นมันให้กับชาวอเมริกันได้เลย ทำให้นักลงทุนต่างผิดหวังต่อสหรัฐฯ ประกอบกับความไม่มั่นคงของรัฐบาลทรัมป์ที่เริ่มชัดเจนขึ้น นับตั้งแต่คณะทำงานระดับสูงในรัฐบาลพากันลาออก และสภาสูงสหรัฐฯ ยังตรวจสอบความสัมพันธ์ของนายทรัมป์กับรัสเซีย สถานการณ์การเมืองที่ไม่มั่นคงนี่เองยังส่งผลกระทบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลง และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากปัจจัยของสหรัฐฯ แล้ว ปัจจัยในประเทศก็มีส่วนสำคัญที่กดดันเงินบาทด้วย นับตั้งแต่ต้นปี อัตราเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเพียง 0.6%YoY เท่านั้น และถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค ซึ่งทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนหักลบกับค่าของเงินที่ลดลงหรือเงินเฟ้อแล้วของไทยนั้นอยู่ในระดับสูง จูงใจให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนในไทย โดยเราจะเห็นปริมาณเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรไทยมากถึง 1.96 แสนล้านบาท ความต้องการเงินบาทที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้จึงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เราคงได้ยินว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างดี นำโดยการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ปัจจัยนี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้นก็เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทด้วยเช่นกัน เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโต 8.2% และ 4.4% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี ทำให้ไทยมีรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเราเกินดุลมากขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีเงินตราต่างประเทศที่ต้องการแลกกลับมาเป็นเงินบาทมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2017 ที่มา Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, และธนาคารกสิกรไทย มูลค่าการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างขาติในตลาดพันธบัตรไทย
ที่มา Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, และธนาคารกสิกรไทย
การส่งออกสนับสนุนการเกินดุลของดุลบัญชีเดินสะพัด
ที่มา Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, และธนาคารกสิกรไทย
ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลเพิ่มขึ้นกดดันเงินบาท ถึงแม้ว่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาจะอยู่ในทิศทางแข็งค่า แต่เรามองว่าในช่วงปลายปีนี้ เงินบาทมีโอกาสเปลี่ยนทิศทางกลับมาอ่อนค่าลงได้ โดยปัจจัยหลักมาจากปัจจัยของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้อีกครั้ง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มลดขนาดสินทรัพย์ของตนเองลง โดยเริ่มจากลดขนาดสินทรัพย์เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และจะค่อยปรับลดมากขึ้นเรื่อยๆ มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้สภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจลดลง และหนุนให้เงินดอลลารสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ทำให้เงินบาทในทางกลับกันอ่อนค่าลง โดยเราตั้งเป้าหมายว่าจะเห็นเงินบาทอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปีนี้