ภาวะสงครามใน "ตะวันออกกลาง" จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันสูงเหมือนอดีต - Forbes Thailand

ภาวะสงครามใน "ตะวันออกกลาง" จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันสูงเหมือนอดีต

นับจากเปิดปี 2020 ก็ได้สร้างความกังวลในภาวะสงครามของ ตะวันออกกลาง หลังจากสหรัฐฯ ได้สังหารผู้นำทางทหารของอิหร่าน แต่เบื้องต้นเหตุการณ์ผ่านไปได้ด้วยการที่สหรัฐฯ เลือกใช้การคว่ำบาตร ไม่ใช่การก่อสงคราม

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความไม่สงบใน ตะวันออกกลาง ยังเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการลงทุนในปี 2020 แต่สำหรับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบที่จะทรงตัวในระดับสูงและยาวนาน เรามองว่าเป็นไปได้จำกัดจาก 5 ปัจจัย ดังนี้

-สหรัฐฯ เลือกตัดสินใจใช้การคว่ำบาตร ไม่ทำสงคราม ด้วยศักยภาพทางการทหารของสหรัฐฯ ย่อมมีความได้เปรียบ อย่างไรก็ดี ปี 2020 ถือเป็นการครบรอบ 4 ปีที่จะต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังนั้น การส่งกองกำลังทหารเพิ่มเข้าไปในตะวันออกกลาง อาจไม่เป็นผลดีต่อฐานคะแนนเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์

-กลุ่ม OPEC และพันธมิตร สามารถเพิ่มอุปทานน้ำมันได้ ในช่วงปี 2018 - ปัจจุบัน กลุ่ม OPEC และพันธมิตรต้องการให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีมติเอกฉันท์ร่วมกันปรับลดปริมาณการผลิตล่าสุด  ซึ่งมีมติร่วมกันปรับลดปริมาณการผลิตให้ได้ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยซาอุดีอาระเบียที่ปรับลดปริมาณการผลิตสูงถึง 1.67 แสนบาร์เรลต่อวัน จากทั้งหมด 3.72 แสนบาร์เรลต่อวันของทั้งกลุ่ม OPEC ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นมากเกินไป กลุ่ม OPEC และพันธมิตรอาจมีมติปรับเพิ่มอุปทานน้ำมันดิบเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาได้

-ราคาน้ำมันดิบที่ระดับสูงจะยิ่งจูงใจให้ผู้ผลิตสหรัฐฯ (Shale Oil) ปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นไปอีก บริษัทในสหรัฐฯ มีความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบจากเทคโนโลยี Shale Oil ส่งผลให้สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ดี การที่เร่งการผลิตน้ำมันดิบย่อมตามมาด้วยการลงทุนในระดับสูง แต่กลับทำให้บริษัท Shale Oil หลายแห่งประสบปัญหาหนี้สินที่ไต่ระดับสูงขึ้น (โดยปัจจุบันบริษัท Shale Oil มีหนี้สินต่อทุนระดับ 1.1 เท่า ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์) ดังนั้นในช่วงราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูง บริษัท Shale Oil จะยิ่งสบโอกาสในการเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตสูงกว่าความต้องการมากขึ้นไปอีก และตามมาด้วยการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบจำกัด -บริษัทขนส่งน้ำมันดิบในตะวันออกกลางใช้ความระมัดระวัง ในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์สังหารผู้นำทางทหารอิหร่าน จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่อาจสร้างความผันผวนให้กับราคาน้ำมันดิบคือช่องทางการขนส่งน้ำมันสำคัญผ่านช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz)  ซึ่งอยู่ระหว่างประเทศ อิหร่าน โอมาน โดยจุดแคบที่สุดกว้างเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งจุดดังกล่าวมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันดิบที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ช่องแคบดังกล่าวมีการขนส่งน้ำมันดิบปริมาณ 21 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 20% ของความต้องการน้ำมันดิบโลก ทว่าในช่วงหลังการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทขนส่งน้ำมันดิบหลายบริษัทได้ใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น และชะลอการขนส่งออกไปก่อน -ปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง การผลิตน้ำมันยังคงสูงกว่าความต้องการ หากอิงจากรายงาน OPEC เดือน ธ.ค. 62 พบว่าการเติบโตของปริมาณการผลิตของกลุ่ม Non-OPEC อยู่ที่ระดับ 2.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน (หลักๆ มาจากปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ เติบโต 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ในขณะที่คาดการณ์เติบโตของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพียง 1.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นเพียง 50% เท่านั้น   อ่านเพิ่มเติม  

กันติพัฒน์ วงศ์สุคนธ์

Head of  Wealth  Advisory บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้