ยุทธศาสตร์การลงทุนส่งเสริมสิ่งแวดล้อม คัดหุ้นไทยที่ได้ประโยชน์จากมาตรการ IMO2020 - Forbes Thailand

ยุทธศาสตร์การลงทุนส่งเสริมสิ่งแวดล้อม คัดหุ้นไทยที่ได้ประโยชน์จากมาตรการ IMO2020

องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization/IMO) หน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติ จะบังคับใช้กฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับมาตรฐานการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการเดินเรือทางทะเล โดยกำหนดให้เรือขนส่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์หรือกำมะถันเหลือ 0.5% จากปัจจุบัน 3.5% เพื่อลดมลพิษ เนื่องจากภาคการขนส่งทางเรือมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ระบบนิเวศค่อนข้างมาก โดยกฎเกณฑ์ใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งเรียกกฎเกณฑ์นี้สั้นๆ ว่า มาตรการ IMO2020 หรือ กฎระเบียบเชื้อเพลิงกำมะถัน IMO2020

Breakwave Advisors ที่ปรึกษาการลงทุนด้านการขนส่งใน New York ได้ประมาณการเกี่ยวกับเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเดินเรือว่ามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx และ SO2) มากถึง 90% จากการใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ทั่วโลก

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย เล็งเห็นโอกาสในการลงทุนจากมาตรการ IMO2020 นี้ และทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน พบว่ากลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มโรงกลั่น โดยหุ้น Thai Oil (TOP) จะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะ IMO2020 จะเพิ่มความต้องการน้ำมันชนิด Middle Distillates (น้ำมันสำเร็จรูปกึ่งหนักกึ่งเบา) ซึ่ง TOP มีสัดส่วนสูงที่สุดในกลุ่มโรงกลั่น

นอกจากนั้น ยังมีกลุ่ม Prima Marine (PRM) ด้วยกฎข้อบังคับนี้จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์สำหรับเรือจัดเก็บน้ำมันแบบลอยน้ำ (Floating Storage Unit หรือ FSU) ในด้านการเก็บน้ำมันและผสมเพื่อการผลิตน้ำมันกำมะถันต่ำ (Very low Sulphur fuel oil หรือ VLSFO) ซึ่งธุรกิจ FSU นั้นคิดเป็นสัดส่วน 50% ของกำไรทั้งหมดของ PRM รวมทั้งกลุ่ม Bangkok Glass (BGC) เพราะสัดส่วนต้นทุนขายกว่า 30% ของ BGC นั้นมาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีราคาสัมพันธ์กับน้ำมันเตากำมะถันชนิดหนัก (High sulfur fuel oil หรือ HSFO) ทั้งนี้เราคาดว่าราคา HSFO จะปรับลดลงเนื่องจากมีระดับกำมะถันระดับสูง

IMO2020-กำจัดปริมาณกำมะถันน้ำมันเตา  

การปรับตัวของภาคเดินเรือกับมาตรการ IMO2020

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดว่าการบังคับใช้มาตรฐานเชื้อเพลิงใหม่ IMO2020 จะเป็นไปตามกำหนดการคือวันที่ 1 มกราคม 2563 และเชื่อว่าท่าเรือหลักๆ ของโลกจะบังคับใช้มาตรฐานนี้อย่างเข้มงวด ดังนั้น ภาคการเดินเรือจึงต้องปรับตัวขนานใหญ่ให้เข้ากับมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นโดยมี  2 ทางเลือก

1) ติดตั้งตัวดักจับกำมะถัน (Scrubber): บริษัทเดินเรือจำนวนหนึ่งเลือกที่จะติดตั้งตัวดักจับกำมะถัน แต่นั่นก็เป็นวิธีที่เหมาะกับเรือขนาดใหญ่เท่านั้น เนื่องจากระยะเวลาคุ้มทุนหรือ payback period จะอยู่ที่ 1-2 ปี ในขณะที่เรือขนาดเล็กจะมีระยะเวลาคุ้มทุนสูงถึง 5 ปี จึงคาดว่าจะมีเพียง 1% ของกองเรือขนส่งทั่วโลกเลือกที่จะใช้วิธีติดตั้ง scrubber นี้

โดยคาดว่าบริษัทส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีอื่นไปก่อน และติดตามประสิทธิภาพของเครื่อง scrubber รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ที่มาตรการควบคุมเครื่อง scrubber อาจเพิ่มความเข้มงวดในอนาคต เนื่องจากท่าเรือหลักๆ ในหลายประเทศไม่อนุญาตให้ใช้เครื่อง scrubber แบบ open-loop ซึ่งมีราคาถูกแต่จะต้องทิ้งของเสียคือกำมะถันที่เครื่องนี้ดักจับไว้ได้ลงทะเล

2) เปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น: อีกทางเลือกหนึ่งคือการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงในการเดินเรือที่สะอาดขึ้นโดยมีสัดส่วนการปล่อยกำมะถันตามเกณฑ์ของ IMO2020 ที่ไม่เกิน 0.5% เชื้อเพลิงกลุ่มนี้คือ Marine Gas Oil หรือ MGO และ Very Low Sulfur Fuel Oil หรือ VLSFO ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในกลุ่มที่เรียกว่า Middle Distillates

ทาง บล.กสิกรไทยเชื่อว่า บริษัทเดินเรือส่วนใหญ่จะเลือกเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้ โดยคาดวาอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของเชื้อเพลิงเหล่านี้จะสูงถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 6% ของอุปสงค์น้ำมันดีเซลทั้งโลก

IMO2020-แนวโน้มดีมานด์น้ำมันเรือเดินสมุทร

ราคาน้ำมันในกลุ่ม Middle Distillates มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ราคาก๊าซในประเทศมีแนวโน้มลดลง

ผลกระทบจากการที่บริษัทเรือเดินสมุทรส่วนใหญ่จะเลือกเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงกลุ่ม Middle Distillates มากขึ้น ทางบล.กสิกรไทยเชื่อว่า จะช่วยผลักดันส่วนต่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มนี้ให้เพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนต่างราคาระหว่างราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดฟิวเจอร์ส (ส่งมอบเดือนมกราคม 2563) ของเชื้อเพลิงประเภท Marine Gas Oil หรือ MGO กับ High Sulfur Fuel Oil หรือ HSFO อยู่ที่ 250-300 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จากปัจจุบันที่ 140 เหรียญต่อตัน

นอกจากนี้ มาตรการ IMO2020 จะมีส่วนในการเพิ่มอุปสงค์ของเรือประเภท Floating Storage Unit หรือ FSU ซึ่งเป็นเรือที่ใช้ในการเก็บน้ำมันและผสมน้ำมันเพื่อผลิต Very Low Sulfur Fuel Oil หรือ VLSFO สาเหตุที่อุปสงค์ของเรือประเภทนี้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากน้ำมัน VLSFO มีราคาถูกกว่า MGO

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ราคา HSFO มีแนวโน้มลดลง เพราะเรือหันไปใช้ LSFO แทน ทำให้ผู้ประกอบการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มนี้ด้วย เพราะราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยได้กำหนดให้ผูกติดกับราคา HSFO

 

หุ้นไทยที่ได้ประโยชน์จากมาตราการ IMO 2020

ไทยออยล์ หรือ TOP เนื่องจากบล.กสิกรไทยเชื่อว่า กลุ่มโรงกลั่นจะได้ประโยชน์มากที่สุด สืบเนื่องจากค่าการกลั่นที่สูงขึ้นในปี 2563 โดยกลุ่มโรงกลั่นจะสามารถเลือกที่จะยกระดับโรงกลั่นจากการปรับสัดส่วนของผลผลิตที่ได้จากการกลั่นน้ำมัน โดยลดสัดส่วน HSFO และเพิ่มสัดส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่ม Middle distillates โดยในกลุ่มนี้ TOP จะได้ประโยชน์มากที่สุดเพราะจะสามารถผลิตน้ำมันชนิด Middle Distillates ได้สูงที่สุด ตามด้วย สตาร์ ปิโตรเลียม หรือ SPRC ที่มีสถานะเป็นโรงกลั่นโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ TOP มีการผลิตน้ำมันชนิด Middle Distillates คิดเป็นสัดส่วน 60% และจะเพิ่มเป็น 75% หลังจากโครงการ Clean Fuel Project/CFP แล้วเสร็จในปี 2566 ทั้งนี้ มาตรการ IMO 2020 จะเป็นผลบวกอยู่บ้างกับ PTTGC IRPC และ BCP เพราะมีสัดส่วนธุรกิจโรงกลั่นที่เพียง 10% 20% และ 50% ต่อกำไรสุทธิของบริษัท ตามลำดับ หากส่วนต่างค่าการกลั่น (Gross refinery margin/GRM) เพิ่มขึ้น 1-2 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2563 ซึ่งเราคาดว่า ผลกำไรของ TOP จะปรับเพิ่มขึ้น 23-46%

พริมา มารีน หรือ PRM จากการคาดการณ์ของบล.กสิกรไทยว่า มาตรการ IMO2020 จะกระตุ้นอุปสงค์ต่อเรือ FSU สำหรับการเก็บน้ำมันและผสมเพื่อผลิต VLSFO โดย PRM คือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเพียงบริษัทเดียวที่มีธุรกิจ FSU ซึ่งธุรกิจนี้คิดเป็น 50% ต่อกำไรทั้งหมดของ PRM ในปี 2562 PRM ได้ขยายกองเรือ FSU เป็น 7 ลำจาก 5 ลำตั้งแต่ไตรมาส 2/2562 ด้วยอัตราการดำเนินงานที่ 100% คาดว่าผลการดำเนินงานของ PRM ในครึ่งหลังของปี 2562 จะได้ประโยชน์จากการขยายกองเรือ ค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

บางกอกกล๊าส หรือ BGC ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศนั้นอิงการคำนวณจากราคา HSFO หากราคา HSFO ลดลงในปี 2563 จะเป็นบวกต่อกลุ่มผู้ผลิตขวดแก้ว เพราะต้นทุนก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วน 30% ของค่าใช้จ่ายในการขาย (Cost of Goods Sold หรือ COGS) โดย BGC จะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะเป็นผู้ผลิตขวดแก้วโดยเฉพาะและมีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในแง่ของกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดแก้ว (39% ในปี 2562)

ดังนั้น บล.กสิกรไทยแนะนำให้นักลงทุนหาจังหวะเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวก่อนถึงเวลาที่มาตราการ IMO2020 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563

  ภาสกร-ลินมณีโชติ-บล-กสิกรไทย

ภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)


คลิกเพื่อติดตามบทความทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกันยายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine