จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ประเทศดาวเด่น รับมือ "ดอกเบี้ยสหรัฐฯ" พุ่ง - Forbes Thailand

จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ประเทศดาวเด่น รับมือ "ดอกเบี้ยสหรัฐฯ" พุ่ง

จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 สู่ปัญหาราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนสินค้า ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ 8.5% YoY สูงที่สุดในรอบ 40 ปี สร้างแรงกดดันให้ Fed ต้องตัดสินใจถอนคันเร่งเศรษฐกิจลง โดยเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคม ที่ 0.25% สู่ระดับ 0.25 - 0.50% ในปัจจุบัน และคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึง 2.8% ในปีหน้า ในขณะที่ตลาดมองว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่านั้น โดยตลาด Fed Fund Futures ประเมินว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สู่ระดับ 2.5% ภายในสิ้นปีนี้ ก่อนจะทำจุดสูงสุดที่ 3.2% ในช่วงกลางปีหน้า

แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว นับเป็นการปรับขึ้นที่เร็วมาก คิดเป็นการปรับขึ้นในช่วง 1 ปีแรกถึง 225 bps เร็วกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 1999 ที่ 175 bps และปี 2004 ที่ 225 bps ในขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2015 - 2018 มีการเว้นช่วงราว 1 ปี หลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปลายปี 2015 ด้วยความเร็วในการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ต่างกัน อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นต่างกัน โดยจากการศึกษาการเคลื่อนไหวของดัชนี S&P 500 พบว่า รอบที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ได้แก่ ปี 1966, 1973, 1980 และ 1984 ตลาดหุ้นมักจะเคลื่อนไหวทรงตัวในช่วง 1 ปีแรก และจะปรับตัวลงแรงถึง -15% ในปีที่ 2 ของการขึ้นดอกเบี้ย เปรียบเทียบกับรอบที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยช้า ตลาดหุ้นมักจะค่อยๆ ปรับขึ้นได้ราว +5% ในช่วงปีแรก ก่อนจะปรับตัวขึ้นมากกว่า 15% ในปีที่ 2 ซึ่งรอบนี้เป็นรอบที่ Fed ปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ร้อนแรง กลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่สภาวะถดถอยในช่วงถัดไป และด้วย Valuation ปัจจุบันของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P 500 มี Fwd P/E ที่ 19.3 เท่า ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 17 เท่า ซึ่งในภาวะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน การลงทุนในตลาดหุ้นที่ Valuation ไม่แพงเกินกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ประกอบกับการได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาจช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากกว่า โดยในปัจจุบันตลาดหุ้นที่น่าสนใจจะอยู่ในฝั่งเอเชีย 3 ประเทศที่ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมี Valuation ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม สำหรับประเทศญี่ปุ่น รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณแผ่นดินสำหรับปีงบประมาณ 2022 ด้วยวงเงินสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9 แสนล้านเหรียญฯ เปิดโอกาสให้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เพื่อลดผลกระทบจากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำและใช้มาตรการ Yield Curve Control ควบคุมการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่ง BoJ มีนโยบายจะเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มอย่างไม่จำกัดหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นเร็วเกินไป โดยกำหนดกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ไม่เกิน 0.25% ในขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 0.24% นอกจากนั้น ค่าเงินเยนที่อ่อนค่ากว่า 126 เยนต่อเหรียญสหรัฐฯ เป็นตัวเลขมากที่สุดในรอบกว่า  20 ปี ก็เป็นอีกปัจจัยบวกจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีแหล่งรายได้จากนอกประเทศ ทำให้เมื่อรับรู้รายได้เป็นเงินเยนก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดย Fwd P/E ของดัชนี NIKKEI 225 อยู่ที่ 15.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ 16.6 เท่า ส่วนประเทศจีนก็ถือเป็นตลาดที่น่าจับตามองในปีนี้ แม้ว่าจีนกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาด โควิด-19 โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP ปี 2022 ไว้ที่ระดับประมาณ 5.5% ซึ่งสูงกว่าที่ IMF คาดไว้เพียง 4.8% จึงมีแนวโน้มที่จีนจะดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ล่าสุด ธนาคารกลางจีนปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงทุกธนาคารโดยเฉลี่ย 0.30% ซึ่งธนาคารกลางจีนคาดว่า จะเพิ่มสภาพคล่องในระบบได้ราว 5.3 แสนล้านหยวน  ทั้งนี้ Valuation ของตลาดหุ้นจีน ดัชนี CSI 300 มี Fwd PE เทรดในระดับเพียง 11.9 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ระดับ 11.8 เท่า ประเทศสุดท้าย คือ เวียดนาม แม้ว่าตลาดหุ้นเวียดนามยังถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Frontier Market แต่นักวิเคราะห์ได้มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงกลางปี 2022 ตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสที่จะถูกเพิ่มชื่อเข้าไปอยู่ใน Watchlist ของ MSCI และคาดว่าจะมีการประกาศย้ายสถานะเวียดนามขึ้นไปเป็นตลาดหุ้นกลุ่ม Emerging Market ในปี 2023 ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีแนวโน้มที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากกองทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่รัฐบาลก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 15.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เป็นแรงหนุนเศรษฐกิจของเวียดนามให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นเวียดนาม ดัชนี Vietnam Ho Chi Minh มี Fwd P/E เทรดอยู่ที่ระดับ 13.3 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 13.2 เท่า   บทความโดย ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ CFP® Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine