ซื้อ "กิจการต่างแดน" เพิ่มความแกร่งให้ธุรกิจ - Forbes Thailand

ซื้อ "กิจการต่างแดน" เพิ่มความแกร่งให้ธุรกิจ

ภาพรวมธุรกิจขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ด้วยการออกไปซื้อกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะเข้ามามีบทบาทและเป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโต เพิ่มขนาดให้กิจการมีขนาดใหญ่เพียงพอกับการแข่งขัน และยกระดับเป็นบริษัทระดับโลก

ทั้งนี้ เนื่องมาจากขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เล็ก ทำให้บริษัทเติบโตได้จำกัด แต่ละปีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่ำกว่า 3 % มายาวนานกว่า 10 ปี โดยปีก่อนหน้าเพิ่งขยายตัวทะลุ 4% และกำลังจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงในปีนี้ จากผลกระทบของสงครามการค้าที่ทำให้การส่งออกหดตัวลง

ทริสเรตติ้ง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสัญชาติไทย ระบุว่า การที่เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการเติบโตที่จำกัด ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาธุรกิจขนาดใหญ่ได้ออกไปแสวงหาการลงทุนในต่างประเทศ และชัดเจนในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยธุรกิจด้านพลังงานทดแทนเริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในประเทศและความไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐบาล

บริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ใน SET50 ที่มีนโยบายการออกไปซื้อ "กิจการต่างแดน" และลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังคงดำเนินนโยบายนี้ เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) ที่จัดทำงบลงทุนไว้ชัดเจนว่าจะมีเงินลงทุนส่วนหนึ่งใช้ในการออกไปซื้อกิจการแหล่งปิโตรเลียมเพื่อเพิ่มปริมาณสำรอง ซึ่ง พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTEP กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะขยายการลงทุนในอินโดนีเซีย เวียดนาม และบรูไน เพิ่มขึ้น ทั้งในรูปของการซื้อกิจการและสำรวจ เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในระยะยาว โดยเฉพาะการสำรวจที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เข้ามาเติมเต็มการเติบโตธุรกิจในระยะยาว

ผลสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอบริษัทจดทะเบียน (บมจ.) ไทย โดย ตลท. เปิดเผยรายงานเมื่อกลางปี 2561 พบว่า ปี 2560 บจ.จำนวน 119 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) 41% ของมาร์เก็ตแคปทั้งหมด ซีอีโอ 61% วางแผนควบรวมกิจการหรือร่วมลงทุนเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 50% และ บจ.ในหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ ธนาคารพาณิชย์ ยานยนต์ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง เหมืองแร่ วัสดุและเครื่องจักร และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ จะมีการใช้กลยุทธ์นี้สูงกว่าหมวดธุรกิจอื่น

ขณะที่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่เติบโตด้วยการซื้อกิจการคือ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ที่ใช้บริษัท MHG Continental Holding (Singapore) บริษัทย่อยซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท NH Hotel Group SA. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Madrid จาก Oceanwood Capital Management ด้วยเงินทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท และในงวดปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถรับรู้เงินปันผลและกำไรจากการลงทุนในงบการเงินรวมแล้ว รวมถึงบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ที่ผลดำเนินงานเติบโตอย่างมากจากการออกไปซื้อกิจการนอกประเทศ

 

คาดซื้อกิจการพุ่งแตะ 3.33 แสนล้าน

จุฬาภรณ์ นำชัยศิริ กรรมการ ผู้จัดการวาณิชธนกิจ บริษัท แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย กล่าวว่า ใน 1-2 ปีนี้การออกไปซื้อกิจการของนักธุรกิจไทยในต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3.33 แสนล้านบาท เพราะสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้ธุรกิจเกิดการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

สำหรับกลยุทธ์การออกไปลงทุนต่างแดนเพื่อสร้างความใหญ่และสร้างการเติบโตให้กิจการ ยังคงเป็นทิศทางที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ชัดเจนตามสัดส่วนรายได้ต่างประเทศของ บมจ. จากการวิจัยของ ตลท.ที่ผ่านมาก็จะเห็นว่ารายได้ต่างประเทศจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น

  อ่านเพิ่มเติม       เรื่อง : ยินดี ฤตวิรุฬห์
คลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Wealth Management & Investing 2019 ในรูป e-Magazine