โอกาสของไทยในการเป็นผู้นำ Medical Tourism ยุคหลังโควิด - Forbes Thailand

โอกาสของไทยในการเป็นผู้นำ Medical Tourism ยุคหลังโควิด

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Nov 2023 | 05:40 PM
READ 5801

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2565) ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือ medical tourism ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาชาติที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดอย่างเต็มที่ แต่กลับต้องมาหยุดชะงักลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในต้นปี 2566 เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดค่อยๆ ดีขึ้น ธุรกิจนี้จึงค่อยๆ กลับเข้าสู่ขาขึ้นอีกครั้ง


    จากข้อมูลของ Allied Market Research ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2570 medical tourism ทั่วโลกจะมีขนาดตลาดประมาณ 2.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 18 เท่าของ GDP ของประเทศไทย มากไปกว่านั้นในครั้งนี้เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ของผู้บริโภคอยู่หลายเรื่องดังนี้

    ผู้บริโภคมีความตื่นตัวในเรื่องของการมีสุขภาพดีแบบองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจ (wellness) กันมากขึ้น จึงเริ่มปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเป็นแบบ healthy lifestyle ที่ดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในประเทศไทยก็มีคอร์สทางเลือกมากมายรองรับ เช่น แพ็กเกจเที่ยวสถานที่ทางธรรมชาติไปพร้อมกับการเล่นโยคะและการนวดแผนไทย ซึ่งเหมาะกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพที่สามารถพักผ่อนและดูแลสุขภาพทั้งภายในและภายนอกให้ดีไปพร้อมกันได้

    รวมทั้งยังเหมาะกับผู้บริโภคบางกลุ่มที่ต้องการบรรยากาศหรือธรรมชาติช่วยส่งเสริมในการบำบัด เช่น การเข้าแคมป์ลดน้ำหนักที่เกาะสมุย และการฟื้นฟูสุขภาพเพื่อเลิกการเสพติดบุหรี่บนภูเขาในเชียงใหม่ เป็นต้น

    การมาถึงอย่างรวดเร็วและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นของ telemedicine หรือการปรึกษาแพทย์ทางไกล ซึ่งมีข้อดีคือ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคในเรื่องของการเดินทาง ลดชั่วโมงการรอคิว ลดภาระที่ผู้ป่วยต้องลำบากเดินทางออกจากบ้าน และลดความแออัดภายในโรงพยาบาล ซึ่งเทคโนโลยีด้าน telemedicine จะเข้ามาปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการหาหมอของคนไทยในอนาคต

    ผู้บริโภคสนใจเรื่องการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลมากขึ้นทั้ง JCI และ AACI ซึ่งการที่ได้รับรองมาตรฐานหรือเป็นที่ยอมรับโดยองค์กรต่างๆ นั้นทำให้สถานพยาบาลในไทยเริ่มปรับมุมมองการให้บริการทางการแพทย์ที่จะต้องให้บริการในราคาถูกอย่างเดียว เป็นการแพทย์ที่ได้มาตรฐานโลกแทน แต่ยังคงไว้ซึ่งราคาที่ยุติธรรมที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้

    ทั้งนี้ตลาด medical tourism ดูมีแนวโน้มจะเติบโตไวและสูงขึ้นมากในประเทศไทย จากการวิจัยโดย Johns Hopkins University ได้ให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 ของโลก หรือที่ 1 ของเอเชีย จาก 195 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในเรื่องดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพซึ่งติดอันดับที่ 2 ของโลกจากการโหวตให้เป็นประเทศเป้าหมายที่คนอยากมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากการจัดอันดับของ Wellness Tourism Initiative 2020

    อย่างไรก็ตามเราอาจจะต้องทำการบ้านมากขึ้น เพราะจากการจัดอันดับ Medical Tourism Index ในปี 2565 พบว่า นอกจากประเทศไทยจะไม่ติดท็อป 10 อย่างที่คิดแล้วยังหล่นลงไปอยู่ที่อันดับ 17 อีกด้วย โดยคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกคือ แคนาดา สิงคโปร์ และญี่ปุ่น (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประเทศจุดหมายปลายทางจริงๆ ที่คนเลือกไป)



โอกาสพัฒนาของประเทศไทย

    สำหรับประเทศไทยเรายังมีโอกาสปรับปรุงหรือพัฒนาได้อีกหลายเรื่องเพื่อยกระดับการเป็นผู้นำในด้านนี้อย่างจริงจัง เพราะบริการ medical service ที่เน้นราคาถูกอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ซึ่งจริงๆ แล้วตลาด medical tourism ยังมีศักยภาพที่จะขยายออกไปได้อีกมากในการเข้าสู่ตลาดที่แอดวานซ์กว่านี้ เช่น การรักษามะเร็งระดับยีน การผ่าตัดสมอง และการรักษาโรคซับซ้อนบางอย่างที่ราคาสูง ซึ่งจากที่ได้กล่าวมาพบว่า ยังมีสิ่งที่เราต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายของตลาดเพิ่มขึ้นด้วย

    ตัวอย่างเช่น กฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัตินำเข้าอุปกรณ์การแพทย์และยา เพราะการจะเป็นผู้นำในด้านนี้เราต้องสามารถทำได้จริงๆ และไม่จำกัดแค่เพียงโรคพื้นฐาน เราต้องสามารถเข้าถึงการรักษาโรคที่ซับซ้อนหรือขั้นกว่าได้อีกด้วย แต่ในความเป็นจริงยังมียาอีกหลายรายการและอุปกรณ์การแพทย์ชั้นนำหลายชนิดที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์มีใช้แล้ว แต่ไทยเรายังไม่มี เนื่องจากการขึ้นทะเบียนยาหรือเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยนั้นมีความซับซ้อนและมีขั้นตอนหลายกระบวนการ

    ภาครัฐควรมีส่วนร่วมในการปรับปรุงระบบรับรองมาตรฐานสถานพยาบาล ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทำไปได้มากแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่ง เช่น คลินิกเสริมความงามต่างๆ ยังเป็นส่วนที่ควรมีการปรับปรุงอีกมาก ทั้งคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน และการใช้ยาเถื่อน เพราะส่วนนี้เองมักทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง ซึ่งบางครั้งถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ สำนักข่าวต่างชาติมักจะนำไปแปลข่าวอย่างต่อเนื่องเป็นทอดๆ จนภาพลักษณ์สถานพยาบาลทั้งประเทศมีความเสียหาย

    การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่บุคลากรเราใช้ภาษาอังกฤษได้แบบพื้นฐานเกินไป สื่อสารได้ระดับแค่ซื้อขายสินค้าและต้อนรับแบบง่ายๆ จะยังไม่เพียงพอสำหรับการสื่อสารที่ซับซ้อนในการรักษาพยาบาล เช่น การอธิบายการใช้ยา การปลอบใจคนไข้ และการอธิบายให้ญาติคนไข้ทางโทรศัพท์ฟังถึงอาการของญาติของเขา เป็นต้น

    ดังนั้น ในฐานะประเทศที่ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักแบบนี้ การพูดภาษาอังกฤษได้รวมถึงภาษาที่ 3 ที่สำคัญอีกหลายภาษา เช่น จีน สเปน เยอรมัน รัสเซีย ก็สามารถเป็นส่วนสำคัญในการสร้างจุดแข็งให้ประเทศไทยในระยะยาว



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นพดล เจียรวนนท์ CP FOTON ปักธง Top 3 รถบรรทุก

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine