Digital Transformation vs อุตสาหกรรมการผลิต - Forbes Thailand

Digital Transformation vs อุตสาหกรรมการผลิต

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Dec 2016 | 12:01 PM
READ 5635

Digital Transformation ถือเป็นแนวโน้มที่โดดเด่นและมีผลกระทบต่อบรรดาผู้ผลิตทั่วโลกในปัจจุบัน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับสังคมในวงกว้าง

แต่สำหรับผู้ผลิตแล้ว digital transformation เป็นมากกว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด เพราะเป็นการผสานรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเชิงกลยุทธ์เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการแข่งขันทางธุรกิจ นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เร็วขึ้นและสร้างแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาและการขนส่ง รวมถึงการสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดที่บริษัทต่างๆ ใช้เมื่อตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่ตลาด มาลองพิจารณากันว่ากำลังมี digital transformation ในรูปแบบใดบ้างในภาคการผลิต: • ผู้ผลิต 76% จะเพิ่มปริมาณการใช้อุปกรณ์อัจฉริยะหรือผนวกรวมระบบอัจฉริยะในกระบวนการผลิตในอีกสองปีนับจากนี้ • ผู้ผลิต 63% ได้ปรับใช้หรือกำลังวางแผนที่จะผสานรวมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) เข้ากับผลิตภัณฑ์ของตน • 58% ของผู้ผลิตกล่าวว่าการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดที่ทำให้ต้องนำอุปกรณ์อัจฉริยะมาใช้งานหรือผนวกรวมระบบอัจฉริยะไว้ในระบบ ตัวเลขเหล่านี้สามารถชี้วัดความก้าวหน้าของ digital transformation ซึ่งกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าโลกแห่งการผลิต โดยกระบวนการที่กำลังดำเนินการอยู่นี้มีชื่อว่า smart manufacturing (ในประเทศสหรัฐอเมริกา) หรือ Industry 4.0 (ในยุโรป) และเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ที่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตครั้งใหญ่สำหรับผู้ผลิต การนำ IoT เข้ามาปรับใช้ในองค์กรและการให้ความสำคัญกับ digital transformation ได้รับการผลักดันจากมูลค่าที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสามด้าน ได้แก่
  • ลูกค้า บริษัทจะได้รับชัยชนะทางธุรกิจและสามารถสร้างความแตกต่างได้นั้น เป็นผลมาจากความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีขึ้นของลูกค้า
  • การดำเนินงาน เปิดโอกาสสู่ความมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานรูปแบบใหม่ๆ ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และได้รับประโยชน์จากการลงทุนหากบริษัทสามารถดำเนินการแปรรูปได้สำเร็จ
  • การนำเสนอ สนับสนุนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการเชิงนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างเห็นผล
ผู้ผลิตที่เดินหน้าเข้าสู่การแปรรูปกระบวนการทำงานเป็นดิจิทัลจะต้องมีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริหารและผู้จัดการสามารถตรวจสอบและจัดระเบียบกระบวนการต่างๆ ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจได้ เพื่อให้แน่ใจว่าการนำกระบวนการดังกล่าวไปใช้ตามกลยุทธ์ที่วางไว้จะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม สิ่งนี้หมายถึงการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเดสก์ท็อปในรูปแบบที่มองเห็นได้ เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจมีความเข้าใจอย่างครอบคลุมว่าควรเลือกฟังก์ชั่นการทำงานแบบใดที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าได้จริง สิ่งไหนที่มีประสิทธิภาพน้อยและสิ่งไหนที่เสียทั้งเวลาและทรัพยากรกว่าจะบรรลุเป้าหมายขององค์กร และที่สำคัญกว่านั้นก็คือช่วยให้องค์กรธุรกิจผลักดันกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เป็นจริงได้เร็วขึ้น ในกรณีนี้คือการสร้างองค์กรธุรกิจที่ได้รับการแปรรูปเป็นระบบดิจิทัลด้วยการตัดสินใจที่ดีขึ้นและรวดเร็วกว่าเดิม สิ่งนี้เป็นจริงได้ด้วยการประเมินประสิทธิภาพของธุรกิจแบบเรียลไทม์ในบริบทที่ว่าจะส่งผลต่อกระบวนการและเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญในลักษณะใด การให้ข้อมูลการดำเนินงานที่ชาญฉลาดแบบเรียลไทม์กับผู้จัดการ และการควบคุมที่ได้ผลเพื่อแก้ไขสิ่งต่างๆ ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นจริง  

SMART MANUFACTURING & INDUSTRY 4.0

การรับเอาแนวคิด Smart Manufacturing และ Industry 4.0 เข้ามาปรับใช้ในองค์กรสะท้อนว่าบรรดาผู้ผลิตกำลังเดินหน้าเข้าสู่ระบบการผลิตอัจฉริยะรูปแบบใหม่ที่มีการเชื่อมโยงถึงกัน กล่าวคือเป็นการผสานรวมความก้าวหน้าล่าสุดของเซ็นเซอร์ วิทยาการด้านหุ่นยนต์ ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้ทุกแง่มุมของโรงงานเข้าถึง ตรวจสอบ ควบคุม ออกแบบ และปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาในรูปแบบเรียลไทม์ ทั้งยังเป็นการก่อให้เกิดการเชื่อมโยงถึงกันในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นระหว่างส่วนต่างๆ ของห่วงโซ่การผลิตและการจัดหาเพื่อการผลิต รวมทั้งเพิ่มความไว้วางใจที่มีต่อระบบอัตโนมัติภายใน “โรงงานอัจฉริยะ” (smart factory) ที่พร้อมยกระดับความมีประสิทธิภาพ ความทันสมัย และความสามารถในการผลิต ทั้งนี้ รูปแบบการผลิตของโรงงานในแบบเดิมไม่สามารถใช้การได้แล้วในโลกปัจจุบัน ทั้งนี้ พนักงานในโลกการผลิตปัจจุบันจึงต้องมีทักษะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการแก้ไขปัญหาที่ดีเยี่ยม ทักษะด้านคณิตศาสตร์สามารถเปลี่ยนมาเป็นขีดความสามารถที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการวัดและการใช้เหตุผลเชิงพื้นที่ทักษะด้านเทคนิคที่มีการประยุกต์ใช้งานหลากหลายแบบ การทำความเข้าใจในอัลกอริธึมและการประมวลผลขั้นสูงที่เปลี่ยนเป็นความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น โมเดล 3D และวิทยาการด้านหุ่นยนต์ขั้นสูง โดยรวมแล้วเมื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และระบบการผลิตเกิดการผสมผสานกันมากขึ้นและมีรอบการผลิตที่สั้นลง พนักงานจำเป็นต้องมีระดับ STEM (science, technology, engineering และ math) ที่สูงขึ้น รวมถึงทักษะด้านการวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางด้านการออกแบบและความมีประสิทธิภาพในการผลิต ยิ่งกว่านั้น บรรดาผู้ผลิตที่ก้าวสู่ระบบดิจิทัลจะเริ่มเปลี่ยนบทบาทจากการขายผลิตภัณฑ์ไปยังการขายความสามารถแทน ตัวอย่างเช่น แทนที่จะขายเครื่องพิมพ์ พวกเขาก็จะขายความสามารถด้านงานพิมพ์ที่ระดับ 5 หมื่นแผ่นต่อวัน ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ใหม่ได้เพิ่มขึ้นและสามารถให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้นด้วยนี่คือเรื่องจริงในปัจจุบันและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อการแปรรูปสู่ดิจิทัลยังคงเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการผลิตที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รัดเข็มขัดให้พร้อมก่อนเดินทาง!  

สิ่งที่จะเกิดขึ้น

ในอนาคตรายงานล่าสุดเกี่ยวกับสถานะของ digital transformation มีผลลัพธ์ที่น่าสนใจบางอย่าง นั่นคือ 88% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขากำลังพยายามดำเนินการ digital transformation แต่มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เข้าใจในเรื่องนี้ การถือกำเนิดของ digital transformation มีความหมายต่อผู้ผลิตทั้งในระยะกลางและระยะยาว คุณจำเป็นต้องระบุและประเมินมูลค่าข้อมูล พร้อมสร้างแพลตฟอร์มไอทีที่จำเป็นเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ซึ่งก็คือ IoT นอกจากนี้ ยังต้องประเมินบรรดาผู้จำหน่ายในบริบทที่ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในตอนนี้ โดยต้องเป็นผู้ที่พร้อมช่วยคุณให้รับรู้และเข้าใจเรื่อง digital transformation และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความหมายของ digital transformation รวมทั้งสามารถผลักดันให้องค์กรการผลิตทั้งหมดบรรลุผลได้จริง พวกเขาจะต้องช่วยคุณดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อมองเห็นโอกาสของ digital transformation แล้วสำหรับองค์กรบางแห่ง การเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้อาจเป็นเรื่องน่ากังวลแต่สำหรับองค์กรอย่าง FANUC, Philips และ Sporveien พวกเขาได้เดินหน้าสู่การแปรรูปองค์กรเพื่อรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและทำให้พวกเขามีความโดดเด่นอย่างมากในฐานะผู้นำตลาด องค์กรเหล่านี้พร้อมแล้วสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการค้นหาสิ่งที่ต้องการและพยายามปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา FANUC และ Philips ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโรงงานของตนและกำจัดขั้นตอนที่ต้องใช้มนุษย์ควบคุมทุกอย่าง ขณะที่ Sporveien ได้นำ IoT มาใช้เพื่อการดำเนินงานที่ราบรื่นและสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อย่างเห็นผล   แอนโทนี่ บอร์น ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมส่วนกลางฝ่ายอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีระดับสูง (ไฮเทค) บริษัท ไอเอฟเอส (IFS)