Beyond The Pain Point นวัตกรรมรักษ์โลก - Forbes Thailand

Beyond The Pain Point นวัตกรรมรักษ์โลก

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Nov 2024 | 08:30 AM
READ 523

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจเมืองไทยและทั่วโลกที่ซบเซาลงในปีนี้วงการก่อสร้างเองก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน โดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 2567 จะเติบโตประมาณ 2% โดยคาดหวังว่าในครึ่งปีหลังภาครัฐจะผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะในช่วงครึ่งปีแรกมีรายงานติดลบเมื่อเทียบปี 2566


    สำหรับระยะปี 2567-2569 ยังเชื่อว่าภาครัฐจะมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ออกมา พร้อมผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง สะท้อนจากตัวเลขของ BOI รวมถึงยังคาดว่าภาครัฐจะออกนโยบายมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างโรงแรม แหล่งช็อปปิ้ง โรงพยาบาล และงานรีโนเวต

    ยิ่งไปกว่านั้นหนึ่งในเทรนด์หลักที่ภาครัฐไทยและทุกประเทศให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องคือเรื่องความยั่งยืน อันจะเห็นได้จากทิศทางที่จะประกาศใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เช่น ภาษีคาร์บอน การซื้อขายพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ การให้สิ่งจูงใจเพื่อขับเคลื่อน ESG และมุ่งสู่ carbon neutrality และ net zero ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องนำไปปรับใช้ให้สมดุลโดยคำนึงถึงผลกระทบอื่นๆ เช่น การปรับขึ้นของพลังงาน ค่าแรง ค่าขนส่ง เป็นต้น

    นอกจากนี้ ในอนาคตยังเชื่อว่าจะมีแนวทางสนับสนุนจากภาครัฐให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างที่ขับเคลื่อนความยั่งยืน เช่น เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (carbon capture) พลังงานไฮโดรเจน หรือการช่วยหนุนแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ให้ภาคอุตสาหกรรมผ่านกลไกภาษี เป็นต้น

    สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านหรือ CLMV ต้องดูสถานการณ์ในแต่ละประเทศ อย่างเมียนมา แน่นอนว่าเกิดความไม่สงบและปัญหาด้านความมั่นคง แต่ในเมืองหลักๆ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนไปได้ และเนื่องจากประเทศจีนยื่นมือเข้ามาช่วยก็เชื่อว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ต่อมาคือ สปป.ลาว ยังคงเผชิญปัญหาเศรษฐกิจแต่ก็มีแนวโน้มการเติบโตคงที่และยังคงเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างต่อเนื่อง

    ส่วนประเทศกัมพูชาเติบโตโดยภาครัฐมีนโยบายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะที่กรุง Phnom Penh และพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของโครงการเชิงพาณิชย์และการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ประเทศเวียดนามมองว่ามีโอกาสที่ชัดเจนจากโครงสร้างประชากรและนโยบายภาครัฐซึ่งผลักดันนโยบายเพื่อสร้างการเติบโต

    อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักผ่านการลงทุนของภาครัฐ โดยจากประสบการณ์ของแบรนด์จระเข้ในการจัดจำหน่ายสินค้าใน CLMV มานานกว่า 10 ปีพบว่า การเจาะตลาดให้สามารถสู้กับโลคอลแบรนด์ในประเทศนั้นๆ ได้ต้องอาศัยคุณภาพและนวัตกรรมที่โดดเด่น เพราะเมื่อกลุ่มช่างและผู้ใช้งานจริงเห็นประสิทธิภาพที่เหนือกว่าจากผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะยอมจ่ายมากกว่าเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า


ธุรกิจยุคใหม่เจาะตลาดโลก

    ในยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ แน่นอนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคย่อมเปลี่ยนไป แต่หนึ่งสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือการเลือกซื้อสินค้าโดยคำนึงถึง value for money หรือความ “คุ้มค่า-คุ้มราคา” ซึ่ง perceived benefits ต้องสูงกว่า perceived costs เมื่อก่อน benefit อาจจะอยู่เพียงคุณภาพ การใช้งาน หรือนวัตกรรม เป็นต้น

    ขณะเดียวกันในปัจจุบันสิ่งที่ขาดไม่ได้คือสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ดังนั้น ธุรกิจต้องเสนอสิ่งที่ beyond pain point เพราะลูกค้ามองไปไกลกว่าการใช้งานคุณภาพของสินค้า และบริการนั้นแล้ว ลูกค้าต้องการแน่ใจว่าสินค้านั้นๆ ปลอดภัยต่อสุขภาพและผลิตโดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

    งานวิจัย ASEAN Consumer Sentiment Study ของกลุ่มธนาคาร UOB พบว่า 6 ใน 10 ของผู้บริโภคชาวไทยสนับสนุนแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และกว่าครึ่งของผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ซึ่งข้อมูลตรงนี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าความยั่งยืนได้กลายมาเป็นหนึ่งในคุณค่าหลักของการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในยุคนี้แล้ว

    นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือการทำธุรกิจด้วยความจริงใจ ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถตรวจสอบและเช็กข้อมูลของคุณสมบัติที่แต่ละแบรนด์เคลมได้ โดยเจน Z เป็นเจเนอเรชั่นที่เก่งในการหาข้อมูล การ overclaim จะทำได้ระยะสั้นแต่จะเติบโตได้ไม่ยั่งยืน ส่วนการสร้าง partnership ตลอด value chain ก็เป็นเรื่องสำคัญ ในยุค VUCA และ BANI การจะลงมือเองทุกอย่างอาจจะไม่ทันและไม่คุ้มเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

    ดังนั้น กลยุทธ์ที่ดีคือการจับมือกับผู้เล่นที่มีความสามารถในแต่ละด้านด้วยการนำจุดแข็งมารวมกันและเติบโตไปด้วยกัน เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีเส้นแบ่งเขตทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และอุตสาหกรรม ตั้งแต่ globalization การทำธุรกิจไม่มีพรมแดนและสินค้าออนไลน์ยิ่งตอกย้ำข้อนี้ ซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีทำให้เส้นแบ่งขอบเขตอุตสาหกรรมหายไป

    เช่นเมื่อ 10 ปีก่อนที่ไม่มีใครคาดคิดว่า DNA จะถูกนำมาใช้เก็บข้อมูลได้ เพราะ genetics กับระบบคอมพิวเตอร์ไม่น่าจะเกี่ยวกัน หรือการพัฒนาเทคโนโลยีสีทาบ้านที่สามารถเรืองแสงได้ในเวลากลางคืน ทำให้แสงไฟตามรั้วบ้านอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป หรือปัจจุบันโลกก้าวหน้าถึงขั้นที่มีสตาร์ทอัพนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ผลิตเนยเพื่อบริโภคได้แล้ว

    ขณะเดียวกันการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม นอกจากการสร้าง unique selling point แล้ว ปัจจุบันแบรนด์ต้องกล้าที่จะแตกต่างและกล้าที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจระเข้ คอร์ปอเรชั่น เป็นแบรนด์สัญชาติไทยที่เจาะตลาดโลกด้วยนวัตกรรมมาโดยตลอด และมุ่งเน้น green products ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงความยั่งยืนตลอดทั้งกระบวนการ โดยเป็นอาวุธสำคัญที่สามารถสร้างการเติบโตในตลาดโลกได้

    ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยี Dustless Technology ลดการฟุ้งกระจาย ลดผลกระทบต่อ PM2.5 รวมถึงกลุ่มสินค้าที่ใช้ในงานสเกลใหญ่อย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีก่อสร้าง หรือ construction chemicals และกลุ่มผลิตภัณฑ์สีจระเข้ซึ่งให้ความสำคัญกับสีธรรมชาติที่มีความปลอดภัยและเน้น zero VOCs รวมถึงการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น สี lime base และ cement case

    โดยยังคงมุ่งนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานของช่าง ความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยและสัตว์เลี้ยง และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่สามารถลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกินกว่า 90% เมื่อเทียบกับการทำงานแบบเดิม

    ยิ่งไปกว่านั้นทุกธุรกิจต้องเข้าใจว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน และไม่ใช่ปัญหาของวันพรุ่งนี้ แต่เป็นปัญหาของวันนี้ที่จะส่งมอบโลกวันพรุ่งนี้ให้ลูกหลานแบบไหน

    เช่นเดียวกับจระเข้ที่ยึดเป็นปรัชญาหลักในการดำเนินงานตามหลัก Innovation for Your Family Happiness ซึ่งให้ความสำคัญทั้ง people, profit, process และ planet สร้างสมดุลการเติบโตทางธุรกิจ คนในองค์กรมีความสุข และโลกสามารถอยู่รอดต่อไปได



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อุตสาหกรรมซีเมนต์ ในเมกะเทรนด์ Green Economy

คลิกอ่านเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine