แบตเตอรี่ หรือ ไฮโดรเจน : เส้นทางสู่เป้าหมาย Net-Zero Emission - Forbes Thailand

แบตเตอรี่ หรือ ไฮโดรเจน : เส้นทางสู่เป้าหมาย Net-Zero Emission

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Apr 2024 | 12:20 PM
READ 2265

การที่ยักษ์ใหญ่ในวงการยานยนต์มุ่งนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) และเครื่องยนต์สันดาปภายในเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (HICEV) อาจดูเป็นศึกครั้งสำคัญในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่การแข่งขันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในสนามที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก


    การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เรากำลังพูดถึงปัญหาที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิม และรถยนต์ไฟฟ้า BEV และ HICEV อาจเป็นทางออกที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตการคมนาคมที่ยั่งยืน

    ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกได้ให้พันธสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 90% ภายในปี 2593 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซที่ปล่อยในปี 2563 โดยมีเป้าหมายไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emissions) แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้นั้น การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่ช่วยลดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)

    จากรายงานของดีลอยท์เรื่อง “Pathway to net-zero: Mastering the twofold goal of Decarbonization and Profitability” เน้นย้ำถึงประเด็นข้างต้นเช่นกัน โดยกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตยานยนต์ที่มีเทคโนโลยีที่สะอาดยิ่งขึ้น จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนอย่างมากในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการสร้างศักยภาพการผลิตที่แข็งแกร่งสำหรับแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว

    สำหรับทิศทางของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) การสร้างความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด

    สถาบันเฟราน์โฮเฟอร์ ด้านระบบและวิจัยนวัตกรรม (Fraunhofer Institute for Systems and Innovation Research ISI) รายงานว่า ประเทศจีนเกือบจะผูกขาดกำลังการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ฟอสเฟต (LFP) โดยครองส่วนแบ่งตลาดถึง 99% ทั่วโลกในปี 2565 แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนที่จีนครองตลาดจะลดลงเหลือ 69% ในปี 2573 แต่จีนก็ยังคงเป็นผู้นำในตลาดเช่นเดิม

    ประเด็นการผูกขาดตลาดนี้ทำให้เกิดความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแบตเตอรี่ คิดเป็นประมาณ 40% ของต้นทุนรวมรถยนต์ไฟฟ้า BEV

    ทั้งนี้จากการศึกษาของดีลอยท์ พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืนในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตแบตเตอรี่ ตั้งแต่การสกัด การแปรรูป การผลิต การรีไซเคิล จนถึงการกำจัดแบตเตอรี่

    ในทางตรงกันข้าม การส่งเสริมรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (HICEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถานีเติมไฮโดรเจน แต่ประเด็นนี้กลับเต็มไปด้วยความท้าทาย เนื่องจากการสร้างสถานีไฮโดรเจนแต่ละแห่งล้วนมีต้นทุนที่สูงกว่าสถานีบริการน้ำมันแบบดั้งเดิมอย่างมาก

    นอกจากนี้ กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) จะต้องอาศัยไฟฟ้าในกระบวนการผลิตที่เรียกว่า กระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCV) ยังมีความท้าทายในการเข้าถึงเครือข่ายการจำหน่ายและสถานีบริการสำหรับเติมก๊าซไฮโดรเจนที่ไม่สามารถให้บริการได้อย่างแพร่หลาย

    นอกเหนือจากเทคโนโลยีเฉพาะทางแล้ว อีกปัจจัยหลักที่สำคัญคือ การบูรณาการแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนในทุกด้านของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งการลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต ส่งเสริมการรีไซเคิลวัสดุอย่างมีความรับผิดชอบ และการใช้วิธีการแยกชิ้นส่วนรถยนต์เมื่อหมดอายุการใช้งานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    การเปิดรับเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนมีความท้าทาย เช่น ข้อกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรระยะสั้นจากการลงทุนล่วงหน้าในเทคโนโลยีที่สะอาดและโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์ในระยะยาวมีความสำคัญมกว่าอุปสรรคในช่วงเริ่มต้น เมื่อองค์กรในอุตสาหกรรมกำหนดความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ก็จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดขึ้น คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น และรวมไปถึงการประหยัดต้นทุนผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน

    อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่ความยั่งยืนล้วนมีแนวทางอื่นนอกเหนือจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การลงทุนเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานก็มีความสำคัญเช่นกัน การยกระดับและเสริมทักษะให้กับพนักงานเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพนักงานมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง การส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในกลุ่มพนักงานจะนำมาซึ่งมุมมองและประสบการณ์ที่กว้างขึ้น และเปิดทางไปสู่นวัตกรรมที่ยั่งยืนมากขึ้นในที่สุด

    สำหรับประเทศไทย มีการออกมาตรการอุดหนุนผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ที่ให้การสนับสนุนด้านราคาเพื่อเร่งให้นำรถไฟฟ้ามาใช้งาน และดึงดูดการลงุทนจากต่างชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับภูมิภาค ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังทำการศึกษาการใช้ไฮโดรเจนเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการคมนาคม

    ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ไฮโดรเจนถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เชื้อเพลิงทางเลือก” โดยมีเป้าหมายในการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานเทียบเท่ากับน้ำมัน (KTOE) 10 กิโลตัน ภายในปี 2579

    เป้าหมายดังกล่าวได้รับการส่งเสริมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากการโครงการนำร่อง ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแห่งแรกของประเทศไทยด้วย โครงการต่างๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีแนวทางที่หลากหลายเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการคมนาคมในอนาคต

    การเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ การสร้างความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนผ่านจะราบรื่นสำหรับทุกภาคส่วน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินการตามเป้าหมายสู่อนาคตที่ยั่งยืนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

    ท้ายที่สุด อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมดต้องปรับเปลี่ยนกุลยุทธ์นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะ และดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางแบบองค์รวม โดยบูรณาการส่งเสริมจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในกิจการทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน

    การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แม้จะเผชิญกับความท้าทาย แต่จะสร้างคุณค่ามหาศาลในอนาคต ทั้งสภาพแวดล้อมที่สะอาดขึ้น คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น และการประหยัดต้นทุนในระยะยาว ด้วยเลือกแนวทางปฏิบัติที่ส่งเสริมความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน อุตสาหกรรมสามารถมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับพวกเราทุกคน


    หมายเหตุ: บทความข้างต้นเขียนขึ้นโดย มงคล สมผล Automotive Sector Leader และ ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการ Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย



อ้างอิง

    - Thailand’s Energy Transition: Hydrogen in Thailand - In-House Community (inhousecommunity.com)

    - https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/ro/Documents/deloitte-pathway-to-net-zero-automotive-study-v2.pdf?nc=42



Image by frimufilms on Freepik



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ปลายปีนี้ได้เห็นแน่! รถ EV เชิงพาณิชย์พลังงานไฮโดรเจน หลัง ‘โตโยต้า ทูโช-เดนโซ่’ ผนึก ‘เน็กซ์ พอยท์’ ร่วมพัฒนา

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine